เข็มขัดนิรภัย (Seat Belt) คือ อุปกรณ์ความปลอดภัยที่สำคัญที่สุด และเป็นอ็อพชั่นพื้นๆ ที่รถทุกรุ่น ทุกค่ายต้องมี เช่นเดียวกับถุงลมนิรภัยคู่หน้าหรือเบรค ABS โดยเข็มขัดนิรภัยนั้น อย่างที่ทราบกันก็คือ จะช่วยรั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารไม่ให้พุ่งไปชนแผงคอนโซล หรือกระจกบังลมหน้าเมื่อเกิดการชน พร้อมกับช่วยลดการกระแทกระหว่างคอกับหมอนรองคอเมื่อถูกชนจากด้านท้าย แถมช่วยลดการบาดเจ็บจากการกระแทกกับถุงลมนิรภัย รวมถึงในรถบางรุ่นยังมีเข็มขัดนิรภัยบริเวณเบาะหลัง ที่ป้องกันการพุ่งชนกับผู้โดยสารตอนหน้าด้วย ภายในรถยนต์สมัยใหม่ จะมีเข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับเป็นหลัก ซึ่งมีด้วยกันหลายแบบ แต่ในเวลานี้ ระบบดึงกลับที่ได้รับความนิยมจะมีด้วยกันทั้ง 2 แบบ ได้แก่ แบบ ELR และแบบ ALR โดยทั้ง 2 แบบ จะมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
*** การทำงานของเข็มขัดนิรภัย ELR
แบบ ELR หรือมีชื่อย่อว่า Emergency Locking Retractor เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบรั้งตัวและดึงกลับอัตโนมัติ เมื่อเกิดการชนด้วยกลไกภายในที่เก็บสายเข็มขัด โดยจะมีชุดเฟืองที่ถูกออกแบบมาให้สามารถล็อกเฟืองได้ทันที เมื่อตัวล็อกสายเกิดการเปลี่ยนแปลงองศาจากการถูกดึงอย่างรุนแรง (สังเกตได้ว่าเวลากระชากสายแรงๆ มันจะถูกล็อกทันที) และจะค่อยๆ คลายเฟืองและสายให้อยู่ในสภาพปกติ โดยส่วนมากจะพบได้ในเข็มขัดนิรภัยแบบล็อก 3 จุด ที่เบาะนั่งคู่หน้า, เบาะนั่งริมหน้าต่าง รวมไปถึงเบาะนั่งตรงกลางด้านหลังของรถรุ่นใหม่ จะใช้เข็มขัดแบบล็อก 3 จุด ด้วยเช่นกัน
ข้อดีของระบบ ELR คือ จะมีอิสระในการเคลื่อนที่ได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะบริเวณที่นั่งคนขับที่ต้องอาศัยกล้ามเนื้อ และการเคลื่อนไหวเพื่อควบคุมรถ ช่วยลดอาการบาดเจ็บจากการถูกสายรัดได้ดีกว่า รวมไปถึงเข็มขัดนิรภัยแบบนี้ สามารถรองรับการทำงานร่วมกับถุงลมนิรภัยได้อีกด้วย ซึ่งรถรุ่นใหม่จะนิยมใช้กันเป็นจำนวนมาก แต่มีข้อด้อยตรงที่ชุดเข็มขัดจะใหญ่มากและไม่เหมาะสำหรับการใช้ล็อกเบาะนั่งสำหรับเด็ก เพราะคลายตัวได้ง่าย หากต้องการเพิ่มความแน่นหนาก็จะต้องใช้ตัวล็อกสาย (Locking Clip) ร่วมด้วย
*** การทำงานของเข็มขัดนิรภัย ALR
เข็มขัดนิรภัยแบบ ALR หรือมีชื่อย่อว่า Automatic Locking Retractor เป็นเข็มขัดนิรภัยแบบชุดดึงกลับที่สามารถล็อกได้โดยอัตโนมัติ ณ ตำแหน่งความยาวที่ต้องการ โดยจะทำการล็อกทันที เมื่อดึงสายอย่างรวดเร็ว หรือดึงยาวในระดับหนึ่ง คล้ายกับระบบ ELR แต่กลไกไม่ซับซ้อน ซึ่งจะทำให้ได้ความยาวของสายเข็มขัดที่ต้องการรัดอย่างเหมาะสม อยู่ทรงได้ดีกว่า ซึ่งส่วนมากจะพบได้ในแบบล็อก 2 จุด บริเวณแถวนั่งด้านหลังทั้งแบบพาดบ่ากับแบบพาดตัก
ข้อดีของระบบ ALR จะมีความรวดเร็วในการใช้งาน, ประหยัดพื้นที่เนื่องจากเป็นชุดเข็มขัดที่มีขนาดเล็ก รัดตัวได้อย่างแน่นหนาโดยไม่ต้องใช้ตัวล็อกสาย (Locking Clip) ซึ่งมีประโยชน์สำหรับการล็อกเบาะนั่งสำหรับเด็กโดยเฉพาะ เข็มขัดนิรภัยแบบนี้ สามารถที่จะประยุกต์การติดตั้งแบบ 3 จุด ได้เช่นกัน แต่ข้อเสียก็คือ ด้วยความที่ล็อกแน่น อยู่ทรง จึงทำให้รู้สึกอึดอัดอยู่บ้างเมื่อคาดนานๆ
ทิ้งท้ายด้วยเข็มขัดนิรภัยกับกฎหมายจาก พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.2538 ได้ระบุในส่วนของผู้ใช้งานว่า ผู้ขับรถและผู้นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับผู้ที่ขับรถ หากไม่คาดเข็มขัดนิรภัย จะถือว่ามีความผิด ต้องถูกปรับปรับรายละไม่เกิน 500 บาท ส่วนในต่างประเทศนั้น ครอบคลุมถึงผู้โดยสารที่นั่งด้านหลัง จะต้องล็อกเข็มขัดนิรภัยด้วยเช่นกัน