|
กรมสุขภาพจิต ย้ำ หยุดเหล้า อย่าหักดิบ ค่อยๆ ลดปริมาณ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การดื่มสุราสร้างปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย โดยเฉพาะความรุนแรงเนื่องจากฤทธิ์ของสุราไปควบคุมสมองส่วน ของความคิด การตัดสินใจ และการใช้เหตุผล ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ขาดการยับยั้งชั่งใจ ไม่รับรู้ว่าสิ่งใดผิดหรือถูก ประกอบกับ ทำให้เกิดความรู้สึกคึกคะนองและก้าวร้าว จึงทำให้เกิดปัญหา สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นได้ง่าย ในที่สุดก็เกิดปัญหาอาชญากรรมตามมา สำหรับผู้ที่ดื่มสุราที่อยู่ใกล้ชิดท่าน เริ่มติดสุราหรือไม่ โดย สังเกตว่ามีอาการ 3 ใน 7 อย่าง ต่อไปนี้ หรือไม่ ได้แก่ 1.ต้องเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นจึงจะได้ฤทธิ์เท่าเดิม 2. มีอาการทางร่างกายเมื่อไม่ได้ดื่ม 3. ควบคุมการดื่มไม่ได้ 4. มีความต้องการอยู่เสมอที่จะเลิกดื่มหรือพยายามหลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ 5. หมกมุ่นกับการดื่มหรือการหาสุรามาดื่ม 6. มีความบกพร่องในหน้าที่การงานหรือการพักผ่อนหย่อนใจ และ 7. ยังคงดื่มอยู่ทั้ง ๆ ที่มีผลเสียเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งหากพบอาการ 3 ใน 7 อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง สำหรับแนวทางการช่วยคนใกล้ชิดในครอบครัวให้เลิกสุรานั้น แนะว่า ไม่ควรชักจูงด้วยวิธีการขู่ ดุด่า หรือยื่นคำขาดโดยเอาความสัมพันธ์มาเป็นเดิมพัน เพราะอาจทำให้สถานการณ์แย่ลงไปอีก อาจใช้เทคนิคชักจูง ดังนี้ 1.พูดในเวลาที่เหมาะสม ไม่พูดในช่วงที่เขาเมาอยู่ ที่สำคัญไม่ควรด่าว่า หรือมองด้วยแววตาดุร้าย 2.ไม่เซ้าซี้ แต่แสดงความเป็นห่วงสุขภาพแทน 3.หากผู้ดื่มตั้งใจอยากเลิกหรือบ่นว่าอยากเลิกดื่มสุรา ควรชื่นชมพร้อมกับให้กำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นว่าเขาสามารถทำได้ อยู่เคียงข้าง ให้คำแนะนำวิธีการช่วยเหลือต่าง ๆ และพาพบแพทย์ 4. หากผู้ดื่มไม่ยอมพบแพทย์ แต่จะขอหยุดดื่มด้วยตัวเอง ควรให้ความมั่นใจกับเขาว่าการไปพบหมอเป็นวิธีการที่ปลอดภัย ไม่ทรมาน และมีโอกาสเลิกได้สูง แต่หากเขายังยืนยันที่จะหยุดดื่มด้วยตัวเอง ก็ไม่ควรเซ้าซี้ต่อ ให้เขาลองหยุดดื่มด้วยตัวเองไปก่อน พร้อมกับหาวิธีการหยุดดื่มด้วยตัวเองเพื่อช่วยเหลือเขาต่อไป การลด ละ เลิก หรือไม่ดื่มเลย จึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ต้องขอย้ำว่า ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย ค่อยๆ ลด ปริมาณการดื่มลง ให้ต่ำกว่าปริมาณการดื่มที่เคยดื่ม เช่น กำหนด และจำกัดปริมาณที่จะดื่ม ดื่มช้าๆ เพื่อจะได้มีสติในการยั้งคิด ดื่มน้ำเปล่าสลับบ้างในระหว่างที่ดื่มสุรา เพื่อทิ้งช่วงในการดื่มให้ห่างขึ้น ทำกิจกรรมอย่างอื่นทดแทน เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา ทำงานศิลปะ งานอดิเรกต่างๆ ปฏิบัติธรรม หลีกเลี่ยงกลุ่มเพื่อนที่เคยดื่มด้วยกัน พบปะหรือเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนที่ไม่ดื่มแทน หากถูกชักชวนให้ดื่ม ให้ปฏิเสธโดยตรงว่ามีปัญหาสุขภาพ หรือหมอสั่ง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุรา และไม่ควรดื่มสุราเมื่อมีการทานยาทุกชนิด ทั้งนี้ เพราะ การหักดิบ หรือ หยุดดื่มในทันที ย่อมทำให้เกิดอาการถอนพิษสุรา หรือ อาการลงแดงได้ เช่น ตัวสั่น เครียด ชัก ประสาทหลอน สับสนวุ่นวาย ดังนั้น หากพบว่า มีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง หงุดหงิดกระสับกระส่าย ใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก หลังจากหยุดดื่ม ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน ที่สำคัญ แจ้งให้ชัดว่า หยุดดื่มสุรา ทั้งนี้ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
ผู้แต่ง / แหล่งที่มา :
นิตยสารรถ WEEKLY
ผู้บันทึก :
กองบรรณาธิการ
date : [ 18 ส.ค. 2559 ]
|
|
|