รามักจะได้ยินคำสอนของผู้ใหญ่มาเนิ่นนานแล้วว่า ถ้ากำลังขับรถด้วยความเร็วสูง แล้วมีสุนัขวิ่งตัดหน้า ต้องจับพวงมาลัยให้มั่น และห้ามเหยียบเบรกเด็ดขาด เพราะจะทำให้รถคว่ำได้... จริงหรือ?
จริงครับ.. ถ้าคุณกำลังขับรถยนต์ที่ผลิตขึ้นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งคนใช้รถญี่ปุ่นในสมัยนั้น ยังมองว่าระบบเบรก ABS ถือเป็นสุดยอดระบบความปลอดภัยที่มีอยู่ในรถหรูราคาแพงจากฝั่งยุโรปอยู่เลย แทบไม่ต้องนึกถึงระบบล้ำๆ ที่กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในปัจจุบัน อย่างระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (หรือ ESP, VSC,... ที่เราได้ยินบ่อยๆนั่นแหละ) เพราะมันยังไม่ถือกำเนิดในรถขายจริงเลยด้วยซ้ำไป
ในเมื่อรถยนต์ไม่ได้ติดตั้งระบบเบรกเอบีเอสที่คอยจับปล่อยจานเบรกด้วยความเร็วถี่ยิบชนิดที่เท้ามนุษย์ทั่วไปไม่สามารถทำได้แล้วล่ะก็ แน่นอนว่าการเบรกแบบเต็มแรง จะทำให้เกิดอาการล้อล็อคในทันที ผลที่ได้คือ พวงมาลัยจะไม่สามารถควบคุมทิศทางได้อีกต่อไป แต่ถ้าโชคร้ายว่าล้อทั้งสี่เกิดล็อคไม่พร้อมกัน หรือแรงดันน้ำมันเบรกในล้อข้างใดข้างหนึ่งไม่มากพอจนทำให้ล้อยังหมุนอยู่ สิ่งที่ตามมาก็คือรถจะหมุนเสียหลักในทันที รถจะไถลจะลงร่องท้องนา หรือจะชนกับแบริเออร์ข้างทาง ก็สุดแล้วแต่โชคชะตาฟ้าลิขิต
แต่ปัจจุบันอ็อพชั่นเหล่านี้ ถูกพัฒนาให้มีต้นทุนการผลิตต่ำลงกว่าเมื่อก่อนมาก ดังนั้น เราจึงเห็นรถอีโคคาร์คันเล็กๆ ราคาไม่กี่แสนบาท ก็ติดตั้งระบบเบรก ABS มาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานแล้ว ประกอบกับมาตรฐานการพัฒนาระบบความปลอดภัยในรถยนต์ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก ดังนั้น ปัจจุบันจึงแทบไม่มีรถรุ่นไหนที่เบรกสุดแรงแล้วมีอาการเป๋หรือแฉลบให้เห็นเลย ถ้าเกิดมีขึ้นมาจริงๆ ก็คงโดนโซเชียลประนามกันจนเละเทะพับเสื่อกลับบ้านแน่นอน
ดังนั้น หากคุณขับรถมาทางตรงตามปกติ แล้วถูกสุนัขตัดหน้าอย่างกระชั้นชิด ถ้ารถของคุณมีระบบเบรกเอบีเอส และมั่นใจว่าระบบเบรกยังคงสมบูรณ์พร้อม ก็อย่าใจร้ายใจดำถึงขั้นไม่เหยียบเบรกกันเลยครับ อย่างน้อยก็เพื่อลดความแรงในการปะทะลง รถยนต์ก็จะเสียหายน้อยลง เพราะหากขับมาด้วยความเร็วสูงจริงๆ การชนสุนัขที่มีขนาดใหญ่ ก็อาจรุนแรงพอที่จะทำให้รถแฉลบเสียหลักได้เหมือนกัน ถ้าคนขับจับพวงมาลัยไม่แน่นพอ
แต่ที่สำคัญอย่าลืมว่าผู้ขับขี่จะต้องจับพวงมาลัยให้แน่น เพื่อลดโอกาสเสียหลัก รวมถึงคอยเช็คกระจกหลังเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีรถหลังจี้ท้ายมา ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซ้อนได้ครับ