เมื่อเทรนด์ออกกำลักายกำลังเป็นที่นิยมสุดๆ เราก็เริ่มเห็นทั้งผู้หญิงผู้ชาย เด็กวัยรุ่นไปจนถึงคนชรา หันมาสนใจออกกำลังกายกันมากขึ้น ทั้งเข้าฟิตเนส หรือวิ่งมาราธอน แต่หลายคนอาจมีโรคประจำตัวที่ไม่สามารถออกกำลังกายได้เต็มที่เหมือนคนปกติทั่วไป หากเลือกวิธีออกกำลังกายที่ไม่เหมาะกับร่างกายของตัวเอง อาจเสี่ยงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ดังนั้น Sanook! Health จึงนำวิธีออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ จาก กรมการแพทย์ มาฝากกันค่ะ
1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ
ควรออกกำลังหรือเล่นกีฬาภายใต้คําแนะนําของแพทย์อยางเคร่งครัด ในช่วงแรกควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ค่อยเป็นค่อยไป และหยุดพักเมื่อเริ่มเหนื่อยหรือแน่นหน้าอก หลังจากที่เริ่มเคยชินให้เพิ่มระยะเวลาการออกกำลังกาย จนสามารถทําได้อย่างต่อเนื่องนาน 15 นาทีขึ้นไปและทําเป็นประจําทุกวัน ที่สําคัญควรมีการอบอุ่นร่างกาย ก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง
ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงกีฬาที่ใช้กำลังมาก และมีการแข่งขัน เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล ยกนํ้าหนัก เพราะจะเพิ่มภาระต่อระบบหัวใจและปอดมาก ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ต่างๆ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหรือหัวใจวายเฉียบพลัน อาจทําให้เสียชีวิตได้
2. ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอนเด็ดขาด เพราะอาจเกิดภาวะนํ้าตาลในโลหิตตํ่าขณะนอนจากไกลโคเจนที่สะสมในกล้ามเนื้อ และตับถูกใช้ในการออกกำลังกายจนหมด หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายโดยใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดอินซูลินอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังฉีด เพราะอินซูลินจะถูกดูดซึมสู่กระแสโลหิตเร็วเกินไป อย่าออกกำลังในช่วงที่อินซูลินออกฤทธิ์สูงสุด ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวานควรงดการแข่งขันกีฬาหรือการเกร็งกล้ามเนื้อโดยไม่เคลื่อนไหว
การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ การเดิน การแกว่งแขน รํามวยจีน วิ่งเหยาะๆ เดินเร็ว ขี่จักรยานช้าๆ ว่ายน้ำช้าๆ
3. ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
การออกกำลังที่เหมาะสมจะช่วยให้อาการจากโรคความดันโลหิตสูงดีขึ้นได้มาก การออกกำลังแบบเคลื่อนที่ จะทําให้ร่างกาย ได้ใช้ออกซิเจน เพิ่มความสามารถการทํางานของหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงขึ้น ควรเป็นการออกกำลังชนิดแอโรบิค ทําต่อเนื่องอย่างน้อย 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ถีบจักรยาน ว่ายน้ำแอโรบิค
4. ผู้ป่วยโรคหอบหืด
ต้องควบคุมอาการหอบให้ได้ก่อนออกกำลังกาย ควรพกยาพ่นขยายหลอดลมติดตัวตลอดเวลาและพ่นก่อนออกกำลังกาย 15 นาที มีการอบอุ่นร่างกายก่อนและหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย เมื่ออากาศแห้งและเย็น ควรออกกำลังกายในระยะเวลาที่เหมาะสมโดยประมาณ 15-30 นาที เมื่อมีอาการหอบให้หยุดทันที นั่งพัก พ่นยาขยายหลอดลมถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์
กีฬาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยนั้น ได้แก่ กีฬาที่ออกกำลังกายเป็นระยะสั้นๆ สามารถพักเป็นช่วงๆ ได้ เช่น การเดินที่ไม่ช้าหรือเร็วเกินไป การวิ่งระยะสั้นๆ ว่ายนํ้า จะช่วยให้ปอดทำงานดีขึ้น โยคะ และแอโรบิคจะช่วยสร้างความยืดหยุ่นให้กับร่างกายผู้ป่วย
นอกจากนี้อธิบดีกรมการแพทย์ยังกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัว จำเป็นต้องออกกำลังกายควบคู่กันไปด้วย แต่ลักษณะของการใช้แรง ระยะเวลา และวิธีการออกกำลังกายนั้นจะแตกต่างตามความเหมาะสมกับโรคที่ตนเองเป็น การตรวจสุขภาพเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากมีโรคประจำตัว แพทย์จะให้คำแนะนำในการออกกำลังกายที่ถูกต้องแก่ตัวผู้ป่วยเอง และหากมีความผิดปกติขณะออกกำลังกายควรหยุดทำกิจกรรมดังกล่าว และรีบปรึกษาแพทย์ทันทีค่ะ
ภาพประกอบจาก istockphoto