|
เรื่องไม่เบาของ“เบาหวาน”
สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติได้เปิดเผยสถิติผู้ป่วยโรคเบาหวาน พบว่าปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวาน 415 ล้านคน ทุก ๆ 6 วินาที มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 1 ราย และคาดการณ์ว่าในปี 2588 จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 642 ล้านคน แม้จำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่ผู้เป็นโรคนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวานให้น้อยลงได้ นายแพทย์จิระพงศ์ อุกะโชค แพทย์อายุรศาสตร์ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (เบาหวาน-ไทรอยด์) โรงพยาบาลนนทเวช ได้นำความรู้เรื่องโรคเบาหวาน พร้อมวิธีหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะเป็นโรคดังกล่าว มาบอกเล่าให้ฟัง นายแพทย์จิระพงศ์อธิบายว่า โรคเบาหวานคือโรคที่ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่ตลอดเวลา สำหรับโรคเบาหวานแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ประเภทที่ 1 พบในเด็กและวัยรุ่น พบมากในชาวตะวันตก กลุ่มนี้ร่างกายขาดอินซูลินถาวร ต้องพึ่งการฉีดอินซูลินตลอดชีวิต ร่างกายค่อนข้างผอม ประเภทที่ 2 พบในผู้ใหญ่ เป็นเบาหวานที่พบได้ทั่วไป ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานของไทยส่วนใหญ่อยู่ในประเภทนี้ เกิดจากร่างกายดื้อต่ออินซูลิน คนไข้มักจะอ้วน ประเภทที่ 3 เบาหวานที่พบระหว่างการตั้งครรภ์ เป็นผลจากฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ ภาวะของโรคจะดีขึ้นหลังคลอด แต่คุณแม่จะมีความเสี่ยงเป็นเบาหวานได้อีกประเภทที่ 4 เกิดจากโรคต่อมไร้ท่อ ร่างกายสร้างสเตียรอยด์มากไป หรือการใช้ยาบางอย่างที่มีสเตียรอยด์ อาการจะดีขึ้นเมื่อรักษาหรือหยุดยา แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ร่างกายกำลังส่งสัญญาณอันตรายว่าอาจจะเป็นเบาหวาน นายแพทย์นพ.จิระพงศ์ ให้คำแนะนำในการสังเกตอาการว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีอาการกระหายน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะปริมาณมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่งผลให้อ่อนเพลียและน้ำหนักลดลง บางรายถึงขั้นไตวายและเสียชีวิต ผู้ป่วยบางรายจะมีผื่นอับชื้นที่เกิดจากเชื้อราตามซอกพับ มีตกขาว ตาพร่ามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า โรคแทรกซ้อนน่ากังวล สิ่งที่น่าวิตกและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานคือ โรคแทรกซ้อนเรื้อรัง ที่พบได้บ่อยคือ โรคแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวานในจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาเสื่อม มีเลือดออกในดวงตา ส่งผลให้ตาบอด ซึ่งหากมีการตรวจคัดกรองพบภาวะเบาหวาน จะช่วยป้องกันภาวะตาบอดได้ โรคแทรกซ้อนเรื้อรังของเบาหวานที่ไต พบโปรตีนปะปนออกมากับปัสสาวะ หากปล่อยไว้ไม่รักษา ไตจะทำงานได้น้อยลงและเกิดภาวะไตวายในที่สุด ซึ่งสามารถตรวจคัดกรองได้จากการตรวจปัสสาวะ โรคเส้นประสาทชา คนไข้จะไม่มีความรู้สึก เมื่อเกิดการกระทบกระแทกทางร่างกายจึงไม่รู้สึกเจ็บ ทำให้เกิดบาดแผลได้ง่าย และบาดแผลรักษาได้ยาก เนื่องจากการหมุนเวียนของโลหิตไม่ดี ในบางรายแม้ไม่มีบาดแผลก็พบอาการเลือดไม่ไหลเวียน จึงมีคนไข้ที่ต้องสูญเสียอวัยวะไปจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบอาการอัมพาตและโรคหัวใจได้บ่อยในคนไข้เบาหวาน ซึ่งคนไข้เบาหวานที่เป็นโรคหัวใจจะไม่มีอาการเจ็บเตือน ทำให้เกิดอาการหัวใจวายฉับพลัน รวมถึงมีความเสี่ยงจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองอีกด้วย ส่วนผู้ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เป็นโรคเบาหวานคือ ผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีภาวะอ้วนลงพุง (ผู้ชายรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร และผู้หญิงเกิน 80 เซนติเมตร) ผู้ที่ไม่ออกกำลังกายหรือมีกิจกรรมเคลื่อนไหวน้อย ซึ่งพนักงานออฟฟิศก็ถือว่ามีภาวะเสี่ยงเช่นกัน รวมถึงผู้ป่วยที่ใช้ยาเสตียรอยด์ และผู้ที่เคยมีประวัติเป็นโรคเบาหวาน หรือคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงหลักของเบาหวานคือพันธุกรรม ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องควรตรวจคัดกรองเบาหวาน ปรับพฤติกรรมเลี่ยงเบาหวาน หากไม่อยากเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน ทุกคนสามารถปรับพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะเบาหวานได้โดย ออกกำลังกายแบบแอโรบิก ให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวต่อเนื่องจนมีเหงื่อซึม หัวใจเต้นแรง อย่างน้อย 30 นาทีขึ้นไป สัปดาห์ละ 5 วัน ซึ่งการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงการเป็นเบาหวาน หรือชะลอการเป็นเบาหวานออกไปได้ ระมัดระวังการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะประเภทแป้งและน้ำตาลเพื่อไม่ให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง และสำหรับผู้ป่วยจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของโภชนากรเพื่อการรักษาที่ได้ผล สุดท้ายคุณหมอแนะนำผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถทำได้ 3 วิธี คือ การตรวจน้ำตาลก่อนรับประทานอาหารเช้า โดยงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการตรวจเลือด การตรวจเลือด ณ เวลาใด ๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องงดอาหาร และการตรวจน้ำตาลสะสมในเม็ดเลือดแดง เพราะพบภาวะโรคเบาหวานแต่เนิ่น ๆ จะสามารถทำการรักษาและป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ทันท่วงที
ผู้แต่ง / แหล่งที่มา :
www.rodweekly.com
ผู้บันทึก :
รถweekly
date : [ 17 ก.ย. 2560 ]
|
|
|