ห้องโดยสารมีความกว้างขวางอย่างเหมาะสม ไม่เสียพื้นที่จากการติดตั้งชุดแบทเตอรีที่อยู่บริเวณใต้พื้นห้องโดยสาร การตแต่งโดยรวมยังใกล้เคียงกับ Soul รุ่นปกติ ปุ่มใช้งานต่างๆ รวมถึงคอนโซลหน้าเรียบง่าย การตกแต่งเน้นโทนสีนุ่มนวล อุปกรณ์ต่างๆ ให้มาตามมาตรฐานของ Soul รุ่นปกติ อย่างไรก็ตามหน้าจอแสดงผลมีความล้ำสมัยเล็กน้อย เครื่องเสียงเล่น MP3 และ USB ลำโพง 6 ตัว หน้าจอขนาด 5 นิ้ว เบาะนั่งคู่หน้ามีระบบปรับอุณหภูมิ ระบบปรับน้ำหนักของพวงมาลัย ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ ไม่หวือหวา แต่ถือว่าพอเพียงสำหรับรถยนต์ยุคปัจจุบัน
ขุมพลัง คือ มอเตอร์ไฟฟ้า กำลังสูงสุด 110 แรงม้า ที่ 2,730-8,000 รตน. (รอบการหมุนของมอเตอร์จะสูงเป็นปกติอยู่แล้ว) แรงบิดสูงสุด 29.1 กก.-ม. ที่ 0-2,730 รตน. (แรงบิดของมอเตอร์ไฟฟ้าจะเริ่มทำงานทันทีที่กดคันเร่ง ตั้งแต่รอบเครื่องยนต์เท่ากับ 0 ก็ตาม) แรงดันไฟฟ้า 375 โวล์ท ความจุของกระแสไฟฟ้า 80 แอมพ์/ชม. ขนาดแบทเตอรี 30 กิโลวัตต์/ชม. กำลังไฟฟ้า 30 กิโลวัตต์ พละกำลังโดยรวมถือว่าเพียงพอกับการใช้งานได้สบาย โดดเด่นที่แรงบิดที่มากมาย และมาฉับไว ตามแบบฉบับมอเตอร์ไฟฟ้าขับเคลื่อน
ความน่าสนใจของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า คือ การชาร์จที่ใช้เวลาแตกต่างกันตามกระแสไฟฟ้า โดยการชาร์จปกติ แบบ 6.6 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 5.4 ชม. หากเป็นแบบ 2.2 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 20 ชั่วโมง แบบ 50 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 33 นาที และ 100 กิโลวัตต์ ใช้เวลา 23 นาที (หากมีจุดชาร์จไฟฟ้ารองรับ) ความเร็วสูงสุด 145 กม./ชม. อัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงไฟฟ้า คือ 142 วัตต์ ชม./กม. หากชาร์จแบทเตอรีเต็มจะมีระยะทำการที่ 250 กม.
ค่าตัว Kia คันนี้ตั้งเอาไว้ที่ ราคา 2,297,000 บาท ถือว่าเทียบเท่ารถซีดานสัญชาติยุโรปขนาดเล็ก แม้จะเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงสำหรับขนาดตัวของ Soul EV แต่หากมองในแง่ความล้ำสมัย และความเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าล้วน ถือว่าคุ้มค่าพอสมควร