น้ำมันเครื่องชนิดใดเหมาะสำหรับรถของคุณ? เครื่องยนต์แต่ละชนิดมีเทคโนโลยี และการดีไซน์ของเครื่องยนต์ที่ต่างกัน ดังนั้น คุณสมบัติของน้ำมันเครื่องที่ใช้จึงต่างกัน อันดับแรกควรเลือกชนิดน้ำมันเครื่องให้เหมาะสมกับชนิดของเครื่องยนต์ท่าน อาทิ เครื่องยนต์รถยนต์เบนซินควรเลือกใช้น้ำมันที่ออกแบบสำหรับเครื่องยนต์รถยนต์เบนซินโดยเฉพาะ ได้แก่ น้ำมันเครื่องในตระกูล PERFROMA หากเป็นเครื่องยนต์ดีเซล ก็ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ออกแบบสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลโดยเฉพาะ ได้แก่น้ำมันเครื่องในตระกูล DYNAMIC หรือหากเป็นรถจักรยานยนต์ ก็ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่ออกแบบสำหรับรถจักรยานยนต์โดยเฉพาะ เป็นต้น
ความหนืดคืออะไร ดูได้อย่างไร? ความหนืด คือ ความข้น–ใส ของน้ำมันหล่อลื่นนั้นๆ ซึ่งกำหนดโดยองค์กรวิศวกรรมยานยนต์(SAE) จากอเมริกา โดยความหนืดจะระบุเป็นตัวเลขตามหลังตัวอักษร SAE เช่น SAE 10W-30 หรือ SAE 5W-40 เป็นต้น นอกจากนี้ ควรพิจารณาเลือกใช้ความหนืดที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ โดยท่านสามารถดูได้จากหนังสือคู่มือรถยนต์ ของท่านเพื่อประกอบการตัดสินใจ เราจะทราบได้อย่างไรว่าน้ำมันเครื่องตัวไหนดีกว่ากัน? สามารถดูได้จากมาตรฐานคุณภาพ โดยที่นิยมใช้กันทั่วโลก คือ มาตรฐาน API (American Petroleum Institute Standard) จากอเมริกา โดยมาตรฐานสำหรับเครื่องยนต์เบนซินจะกำกับด้วย “S” เช่น API SM หรือ API SL เป็นต้น ส่วนมาตรฐานสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลจะกำกับด้วย “C” เช่น API CF-4 หรือ API CI-4 เป็นต้น ทั้งนี้ ระดับมาตรฐานที่แตกต่างกันจะบ่งบอกถึงประสิทธิภาพของน้ำมันเครื่องในแต่ละหัวข้อคุณสมบัติที่ทำการทดสอบ และมาตรฐานที่สูงกว่าสามารถใช้ทดแทนมาตรฐานที่ต่ำกว่าได้ โดยปัจจุบันน้ำมันเครื่องของ ปตท. ได้ถูกพัฒนามาให้ครอบคลุมมาตรฐานคุณภาพระดับสูง ตัวอย่าง เช่น น้ำมันเครื่องที่ผ่านมาตรฐาน API SM เปรียบเทียบกับ API SL จะให้คุณสมบัติที่ดีขึ้นในด้านต่างๆ ดังนี้ - ป้องกันการสึกหรอสูงขึ้น (Wear protection) - รักษาความสะอาดเครื่องยนต์ดีขึ้น (oxidation control and piston deposit control) - ลดการระเหย (Evaporative loss) - ช่วยยืดอายุการเปลี่ยนถ่าย (Draining period) - ช่วยยืดอายุกรองไอเสีย (Catalytic converter)
จำเป็นหรือไม่ที่ต้องเติมหัวเชื้อ เพิ่มลงน้ำมันเครื่อง ?
ไม่จำเป็น หากท่านเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐานเทียบเท่า หรือสูงกว่า มาตรฐานที่ระบุให้ใช้ในคู่มือรถยนต์ของท่าน เนื่องจากน้ำมันเครื่องที่ได้รับมาตรฐานเทียบเท่า หรือสูงกว่านั้น ได้ผ่านการทดลอง ทดสอบจากองค์กรมาตรฐาน โดยใช้เครื่องมือทดสอบต่าง ๆ อย่างเข้มงวด และหนักหน่วง จึงสามารถใช้งานตามระยะเปลี่ยนถ่ายที่ระบุไว้ในคู่มือรถยนต์ได้โดยไม่ต้องการเติมหัวเชื้อ อีกทั้งการเติมหัวเชื้อน้ำมันเครื่องเพิ่มเข้าไปในระบบจะไปรบกวนการทำงานของ additive บางชนิดที่ถูกรวมอยู่ใน additive packages ที่ผสมในน้ำมันเครื่อง ที่มีการคำนวณสัดส่วนไว้อย่างดีและทำการทดสอบแล้ว อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของน้ำมันเครื่องลดลง ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้เติมหัวเชื้อชนิดใด ๆ เพิ่มเข้าไปในน้ำมันเครื่องครับ
ระยะเปลี่ยนถ่ายเท่าใดจึงจะเหมาะสมกับรถยนต์ของท่าน ?
ในคู่มือของรถยนต์แต่ละรุ่น จะระบุความหนืด มาตรฐานคุณภาพขั้นต่ำ รวมถึงระยะเปลี่ยนถ่ายมาตรฐานไว้ แต่เนื่องจากน้ำมันเครื่องมีหลายชนิด และหลายระดับคุณภาพ เช่น น้ำมันสังเคราะห์ กึ่งสังเคราะห์ น้ำมันธรรมดา เป็นต้น รวมถึงระดับปริมาณสารเพิ่มคุณภาพที่ใช้ก็แตกต่างกัน จึงมีความสามารถในการคงคุณสมบัติที่ดีของน้ำมันเครื่องเอาไว้ได้ในระยะเวลาที่ต่างกัน เมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด สารเพิ่มคุณภาพก็จะเสื่อมคุณภาพจนหมด ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะใช้งานเกินระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายที่กำหนด โดยน้ำมันเกรดสังเคราะห์จะเปลี่ยนถ่ายที่ 15,000 กม. กึ่งสังเคราะห์เปลี่ยนถ่ายที่ 10,000 กม. และน้ำมันธรรมดาเปลี่ยนถ่ายที่ 7,000 กม. ครับ
สามารถนำน้ำมันเครื่องต่างชนิดกัน มาใช้แทนกันได้หรือไม่ ?
ในกรณีปกติไม่แนะนำครับ เนื่องจากน้ำมันเครื่องแต่ละชนิดมีวัตถุประสงค์ในการใช้กับเครื่องยนต์ / เครื่องจักรที่แตกค่างกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากเทคโนโลยี และการดีไซน์ของเครื่องยนต์ ที่ต่างกัน เช่น น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติค่าความเป็นด่างรวม (TBN) สูงกว่า น้ำมันเครื่องสำหรับเครื่องยนต์เบนซิน หรือนำเอาน้ำมันเครื่องรถยนต์เบนซิน ไปใช้ในรถจักรยานยนต์ก็ไม่เหมาะสม เป็นต้น ดังนั้น ควรเลือกใช้น้ำมันเครื่องให้เหมาะกับชนิดของเครื่องจักรนั้น ๆ ครับ แต่หากเป็นกรณีฉุกเฉิน หรือเร่งด่วน อาจอนุโลมให้ใช้ทดแทนได้ในช่วงเวลานั้น ๆ จากนั้นต้องรีบเปลี่ยนถ่ายเป็นน้ำมันที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ดังเดิมครับ
น้ำมันเกียร์ยานยนต์กับน้ำมันเกียร์อุตสาหกรรมใช้ปนกันได้หรือไม่ ?
ไม่สามารถใช้ปนกันได้ เนื่องจาก additive ที่เป็นองค์ประกอบนั้นอาจมีลักษณะที่ไม่เข้ากัน ถ้าจะใช้ผสมกันจะทำให้น้ำมันหล่อลื่นนั้นเสื่อมคุณภาพ ทำให้เกิดผลเสียหายต่อชุดเกียร์นั้นๆ ได้ ดังนั้น ควรเลือกน้ำมันหล่อลื่นมาใช้งานให้ถูกชนิด และประเภทของเครื่องจักร / เครื่องยนต์ครับ
น้ำมันเครื่องที่ซื้อไป สามารถเก็บได้กี่ปี ?
โดยปกติแล้ว น้ำมันเครื่องที่ซื้อกันในท้องตลาด จะมีระบุวันที่ผลิตไว้ที่แกลลอนน้ำมันเครื่องทุกแกลลอน ซึ่งโดยทั่ว ๆ ไป หากยังไม่ได้ใช้งาน ไม่ได้เปิดฝา และเก็บไว้ในที่ร่ม สามารถเก็บได้ประมาณ 3 ปี นับจากวันที่ผลิตครับ แต่หากมีการเปิดฝาใช้งานแล้ว ควรปิดฝาให้สนิท และเก็บในที่ร่ม ไม่อับชื้น ไม่โดนน้ำ สามารถเก็บได้ 1 ปี นับจากวันใช้งานครับ แต่ทั้งนี้ ก่อนใช้งานครั้งต่อไป ควรสังเกตลักษณะทั่วไปของน้ำมันเครื่องด้วยว่า ยังมีลักษณะใส และไม่มีฝุ่นละออง หรือน้ำปนเปื้อนนะครับ
รถเก่าแล้ว ใช้งานเกิน 7-10 ปี แล้ว ควรใช้น้ำมันหล่อลื่นชนิดไหน ความหนืดเท่าไร?
ไม่ว่าจะเป็นรถเก่า หรือรถใหม่ สามารถใช้น้ำมันเครื่องได้ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันสังเคราะห์ กึ่งสังเคราะห์ หรือน้ำมันธรรมดา โดยหากเลือกใช้น้ำมันเครื่องชนิดสังเคราะห์ ก็จะช่วยในเรื่องการปกป้องเครื่องยนต์ ยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานกว่า เป็นต้น และหากสภาพเครื่องยนต์ยังดีอยู่ คือ ไม่มีอาการกินน้ำมันเครื่อง ก็สามารถเลือกเบอร์ความหนืดที่ใสขึ้นได้ เช่น SAE 5W-40 หรือ SAE 10W-30 เป็นต้น เพื่อช่วยในการประหยัดเชื้อเพลิง แต่หากสภาพของเครื่องยนต์ไม่ดี และมีอาการกินน้ำมันเครื่อง แนะให้ให้เลือกเบอร์ความหนืดที่ข้นขึ้น เช่น SAE 15W-40 หรือ SAE 20W-50 เป็นต้น เพื่อช่วยลดปัญหาดังกล่าว
รถยนต์ใช้งานน้อย วิ่งปีหนึ่งๆ ยังไม่ถึง 5,000 กม. จำเป็นต้องเปลี่ยนถ่ายหรือไม่?
จำเป็นครับ การที่รถยนต์ใช้งานน้อย ไม่ว่าจะเป็นการจอดทิ้งไว้เป็นเดือน หรือขับใช้งานในเมือง ที่มีการจราจรหนาแน่น ทำให้ระยะที่ขับขี่น้อย ถือว่าน้ำมันหล่อลื่นทำงานหนักครับ เพราะการจอดรถทิ้งไว้นาน ๆ จะเกิดการปนเปื้อนของน้ำในอากาศ ทำให้สารเพิ่มคุณภาพเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ส่งผลให้น้ำมันเครื่องเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้น อีกทั้งการขับขี่ในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่น น้ำมันเครื่องก็ยังคงทำงานตลอดเวลาทั้งขณะรถติด และรถวิ่ง ดังนั้น จึงเป็นการควรที่จะพิจารณาระยะทางที่ขับขี่ ควบคู่ไปกับระยะเวลาที่เปลี่ยนถ่ายด้วย โดยเราควรจะเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งครับ
รถยนต์เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่นพิเศษหรือไม่?
สภาวะการทำงานของเครื่องยนต์ของรถที่ใช้เชื้อเพลิงแก๊สโซฮอล์ กับรถยนต์ที่ใช้เบนซินเป็นเชื้อเพลิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความดัน หรืออุณหภูมิการทำงานไม่ได้มีความแตกต่างกัน ทำให้สภาวะการทำงานของน้ำมันหล่อลื่นจึงเหมือนเดิมตามไปด้วย ดังนั้น เราจึงสามารถใช้น้ำมันหล่อลื่นทั่วๆ ไป ที่ออกแบบมาสำหรับรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน มาใช้หล่อลื่นในรถยนต์ที่ใช้แก๊สโซฮอล์เป็นเชื้อเพลิงได้ตามปกติ โดยมีระยะเวลาการเปลี่ยนถ่ายตามปกติทุกประการ อย่างไรก็ตามบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้คิดค้นและพัฒนาน้ำมันหล่อลื่นสูตรพิเศษ ที่ออกแบบพิเศษเพื่อรองรับผู้ขับขี่ที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 โดยเฉพาะ ชื่อว่า “เพอร์ฟอร์มา แก๊สโซฮอล์” มาตรฐานสูงสุด API SM จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นน้ำมันหล่อลื่นเครื่องยนต์เบนซินประเภทกึ่งสังเคราะห์ โดยมีเบอร์ความหนืด SAE 10W–30 และ SAE 10W–40 ให้เลือกใช้ตามความเหมาะสมกับสภาพการใช้งาน และสภาพของเครื่องยนต์ ช่วยให้รถคุณสตาร์ทเครื่องง่ายและลดการสึกหรอจากการสตาร์ท ช่วยให้ออกตัวและเร่งแซงดีเยี่ยม อีกทั้งเพิ่มสารคุณภาพพิเศษที่ทำให้เครื่องยนต์สะอาดกว่า และป้องกันปัญหาคราบโคลนได้อย่างดีเยี่ยม อีกทั้งยังช่วยประหยัดเชื้อเพลิงอีกด้วย