|
พฤติกรรมเสี่ยงอันตรายในขณะขับรถ
ผู้ขับขี่รถทุกคนควรเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย โดยไม่รับประทานอาหาร ดูโทรทัศน์ แต่งหน้า อุ้มเด็กไว้บนตัก นำสัตว์เลี้ยงโดยสารรถ เพราะจะทำให้ขาดสมาธิ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า นอกจากการขับรถเร็ว เมาแล้วขับ หลับใน และคุยโทรศัพท์ขณะขับรถจะเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนแล้ว ในบางครั้งพฤติกรรมบางอย่างที่ประพฤติปฏิบัติจนเป็นความเคยชิน ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายในขณะขับรถ ดังนี้ การขับไปกินไป ทำให้เหลือมือจับพวงมาลัยเพียงข้างเดียว ถ้าเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถหักหลบหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ทัน เพราะปฏิกิริยาตอบสนองในการขับขี่ช้ากว่าปกติ ๒ เท่า หากขับรถด้วยความเร็วสูงจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น ผู้ขับขี่ควรรับประทานอาหารให้เรียบร้อยก่อนออกเดินทาง หากมีอาการหิวในระหว่างขับรถ ควรแวะพักรับประทานอาหารในบริเวณที่ปลอดภัยให้เรียบร้อยแล้วค่อยเดินทางต่อ การดูโทรทัศน์ขณะขับรถ การติดตั้งจอทีวีหรือดีวีดีในรถยนต์เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากความสว่างของจอภาพ เสียง รวมถึงเนื้อหาของภาพที่เคลื่อนไหว ทำให้สมาธิในการควบคุมรถและความสนใจต่อเหตุการณ์รอบตัวลดลง แม้ว่าคนขับจะไม่ได้ดูโทรทัศน์ แต่เสียงที่ได้ยินก็รบกวนสมาธิในการขับรถและยังกระตุ้นให้ขับรถเร็วกว่าปกติ จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
การแต่งหน้าขณะขับรถ สุภาพสตรีส่วนใหญ่มักแต่งหน้าทาปากระหว่างที่รถจอดติดสัญญาณไฟจราจร การจราจรติดขัดหรือขณะรถเคลื่อนตัวช้าๆ ทำให้สมาธิไม่ได้อยู่กับการขับรถ แต่กลับจดจ่ออยู่กับการแต่งหน้า จนลืมไปว่ากำลังขับรถอยู่บนถนน จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพื่อความปลอดภัย ควรแต่งหน้าให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้านหรือหลังจากลงรถ การอุ้มเด็กนั่งตักขับรถ ทำให้ประสิทธิภาพในการขับรถลดลง เนื่องจากเด็กอาจแย่งบังคับพวงมาลัย จนสมาธิของคนขับไม่อยู่ที่การขับรถ แต่กลับไปสนใจเด็กแทน ส่งผลให้ปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉินช้ากว่าปกติ จึงมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หากมีเด็กนั่งโดยสารรถไปด้วย ควรมีคนอุ้มเด็กไว้บนตัก แต่หากต้องขับรถเพียงลำพัง ควรจัดให้มีที่นั่งสำหรับเด็ก(Car Seat) ทางด้านเบาะหลังรถ หากเป็นเด็กโตควรให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้ง การนำสัตว์เลี้ยงโดยสารรถ สัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่มักไม่นั่งนิ่งอยู่กับที่และมีพฤติกรรมตื่นตกใจง่าย หากพบเห็นสิ่งผิดปกติรอบตัวอาจกระโจนใส่คนขับรถก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ หากต้องนำสัตว์เลี้ยงขึ้นรถ ควรให้มีคนนั่งไปด้วย เพื่อควบคุมพฤติกรรมสัตว์เลี้ยง หากเป็นรถกระบะ ควรให้สัตว์เลี้ยงอยู่ท้ายกระบะรถโดยผูกเชือกหรือล่ามโซ่ยึดไว้กับรถ สุดท้ายเพื่อความปลอดภัย ผู้ขับขี่ควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ต้องละสายตาจากการมองเห็นเส้นทาง เพราะจะส่งผลต่อการบังคับพวงมาลัยรถ การใช้ความเร็ว การมองเห็นป้ายจราจร ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉิน จะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
ผู้แต่ง / แหล่งที่มา :
นิตยสาร รถ Weekly
ผู้บันทึก :
กองบรรณาธิการ
date : [ 05 เม.ย. 2556 ]
|
|
|