วิวัฒนาการของเบรกในรถยนต์ เริ่มมาจากระบบดรัมเบรก ต่อมาพัฒนาเป็นระบบดิสก์เบรก ซึ่งช่วยให้การเปลี่ยนผ้าเบรกง่ายขึ้น ไม่ต้องปรับตั้งเบรก รวมถึงประสิทธิภาพในการเบรกก็ดีขึ้นด้วย เพราะระบายความร้อนได้ดีกว่าระบบดรัมเบรก แต่ในปัจจุบันนี้ ได้มีการพัฒนาระบบเบรกให้ดีขึ้นไปอีกขั้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการขับขี่ นั่นก็คือ ระบบเบรกแบบ ABS (Antilock Brake System) เป็นระบบเบรกที่ช่วยแก้ปัญหาล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน โดยการควบคุมแรงดันน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่พอดีกับการเบรก จึงทำให้ผู้ขับขี่มีความปลอดภัยสูงสุด
ถึงแม้ว่าระบบเบรกจะพัฒนาไปอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “น้ำมันเบรก” ซึ่งน้ำมันเบรกทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งแรงดันจากแม่ปั๊มเบรก ไปยังลูกสูบเบรก โดยขณะที่เราเหยียบเบรก ความร้อนที่เกิดจากการเสียดสีระหว่างผ้าเบรกกับจานหรือดุมล้อ จะถ่ายเทผ่านก้านดันผ้าเบรก และส่งต่อไปให้น้ำมันเบรก ทำให้น้ำมันเบรกมีอุณหภูมิที่สูงขึ้น เมื่อเราต้องเหยียบเบรกอย่างแรงกะทันหัน หรือเหยียบเบรกอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความเร็วสูง ความร้อนที่ถ่ายเทสู่น้ำมันเบรกจะมีปริมาณมาก และอาจระบายสู่ส่วนอื่นไม่ทัน ทำให้น้ำมันเบรกอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งหากน้ำมันเบรกร้อนจนถึงจุดเดือด น้ำมันเบรกก็จะระเหยกลายเป็นไอ ทำให้เกิดช่องว่างอยู่ภายในระบบเบรก ช่องว่างนี้ทำให้ระบบเบรกไม่สามารถส่งแรงดันไปกระทำต่อลูกสูบเบรกให้ไปดันผ้าเบรกได้ ทำให้เกิดอาการเบรกจม หรือเบรกไม่อยู่เวลาเหยียบเบรก หรือเราเรียกว่า VAPOR LOCK และเมื่อความร้อนในระบบเบรกลดลง ไอน้ำมันเบรกก็เปลี่ยนสภาพเป็นของเหลว และประสิทธิภาพในการเบรกก็จะกลับมาอีกครั้ง ดังนั้น จุดเดือดของน้ำมันเบรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการเบรก
โดยปกติน้ำมันเบรกเป็นสารที่ดูดซับความชื้นจากอากาศได้ง่าย เมื่อมีความชื้น หรือน้ำปะปนอยู่ในน้ำมันเบรก จะทำให้จุดเดือดของน้ำมันเบรกลดต่ำลง เพราะในการใช้งาน โอกาสที่ความชื้นจะเล็ดลอดสู่น้ำมันเบรกมีได้มากมายหลายทาง เช่น ความชื้นเข้าโดยการหายใจเข้า-ออกของระบบน้ำมันเบรก หรือน้ำจากการอัดฉีดล้างเครื่องรถเล็ดลอดเข้าตรงฝากระปุกเบรก หรืออาจเกิดจากการขับรถลุยน้ำ โดยที่ยางกันฝุ่นสึก หรือมีรอยรั่วซึม น้ำก็สามารถเข้าสู่ระบบเบรกได้ตรง ดังนั้น เมื่อใช้งานไปเรื่อย ๆ น้ำมันเบรกก็จะมีความชื้นสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น น้ำมันเบรกใดที่มีคุณสมบัติดูดซับความชื้นได้น้อย และเมื่อดูดซับความชื้นแล้วจุดเดือดลดต่ำลงไม่มาก จะเป็นน้ำมันเบรกที่มีคุณภาพสูง
นอกจากนี้ ผลต่อยางและส่วนโลหะอื่นในระบบเบรกก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะบ่งถึงคุณภาพของน้ำมันเบรก เพราะจะมีผลโดยตรงต่ออายุการใช้งานของลูกยางแม่ปั๊ม และลูกปั๊มเบรก ซึ่งก็จะมีผลถึงประสิทธิภาพในการเบรกเช่นกัน น้ำมันเบรกที่มีคุณภาพสูง ต้องไม่ทำให้ลูกยางแม่ปั๊มเบรกคลัตช์เสียเร็ว และต้องไม่กัดกร่อนส่วนโลหะอื่น ๆ ในระบบ ซึ่งหากเกิดการกัดกร่อน จะทำให้มีเศษสนิมโลหะหลุดร่อนออกมาอยู่ในน้ำมันเบรก และจะทำให้ลูกยางปั๊มเบรกเป็นรอยขีดข่วน เกิดการรั่ว และเสียแรงดัน ส่งผลให้เบรกไม่อยู่ หรือที่เราเรียกกัน ว่า เบรกแตกนั่นเอง
การตรวจเช็คระบบเบรก สามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการตรวจสอบระดับของน้ำมันเบรกว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งหากน้ำมันเบรกมากเกินขีดสูงสุด อาจสันนิษฐานได้ว่ามีน้ำเข้าไปปนเปื้อน แต่หากน้อยเกินขีดต่ำสุด อาจสันนิษฐานได้ว่ามีการรั่วซึมในระบบเบรก หรืออาจเกิดจากผ้าเบรกสึกมาก ซึ่งทั้ง 2 กรณี จะส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเบรกลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเบรกไม่อยู่ หรือที่เราเรียกกันว่าเบรกแตกได้ นอกจากต้องตรวจระดับน้ำมันเบรกเป็นประจำแล้ว เราควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกทุก ๆ 1-2 ปี แม้ว่าจะไม่มีการรั่วหรือลดระดับลงอย่างใดก็ตาม เพื่อให้มั่นใจได้ว่า หากเกิดเหตุกะทันหัน เบรกจะยังตอบสนองได้เป็นอย่างดี และข้อควรระวัง คือ ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรนำน้ำมันเบรกที่ต่างยี่ห้อ หรือต่างมาตรฐานกัน มาใช้งานผสมกัน เพราะอาจทำให้เกิดปฏิกริยาทางเคมี ซึ่งเป็นสาเหตุให้คุณสมบัติของน้ำมันเบรกเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น หากต้องการเปลี่ยนยี่ห้อ หรือใช้น้ำมันเบรกที่มาตรฐานสูงขึ้น แนะนำให้ทำการล้างระบบเบรกก่อนทำการเปลี่ยนถ่ายครับ