|
รถหายในอาคารใครรับผิดชอบ
ปกติแล้วเวลานำรถเข้าจอดในอาคารสถานที่ต่างๆ มักมีพื้นที่ไว้รองรับพร้อมอำนวยความสะดวก ที่สำคัญยังมีบัตรจอดรถให้ก่อนจะเข้าจอดและคืนเมื่อนำรถออก แต่มีสักกี่คนที่จะสังเกตว่าในบัตรจอดรถนั้นได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “บริษัทฯ จะไม่รับผิดชอบในความเสียหาย สูญหายของทรัพย์สิน” เอ๊ะ แล้วทำไมไหงงั้น ผมเอารถมาจอดเพื่อใช้บริการของคุณแต่ในบัตรจอดรถกลับระบุไว้ได้อย่างเอาเปรียบผู้บริโภคมาก แล้วแบบนี้ถ้ารถหายใครจะรับผิดชอบเราสามารถเรียกร้องได้จากฝ่ายอาคารสถานที่หรือไม่ ตรงนี้ผู้เป็นเจ้าของรถควรสังเกตให้ดีนะครับว่าในบัตรนั้นระบุไว้อย่างไร “บริการจอดรถยนต์ฟรี แต่จะไม่รับผิดในทรัพย์สินของผู้มาใช้บริการที่สูญหาย” กรณีนี้ศาลได้พิจารณาคดีว่าการที่สถานบริการยอมอนุญาตให้ผู้มาใช้บริการ นำรถยนต์เข้าจอดในที่จัดไว้ โดยมีพนักงานมอบบัตรตอนขาเข้าและตรวจบัตรตอนขาออก เพื่อช่วยรักษาความปลอดภัยให้ผู้มาใช้บริการเข้าจอดรถยนต์ดังกล่าว ไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถยนต์ให้แก่ทางสถานบริการ จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 657 ที่ผู้เสียหายจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย อันเนื่องจากผู้รับฝากไม่ใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ตามมาตรา 359 ดังนั้นผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสถานบริการฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์ได้
เมื่อพนักงานของสถานบริการได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ตรวจหมายเลขทะเบียนบนบัตรจอดของผู้มาใช้บริการตอนขาออก แต่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องทำให้รถถูกโจรกรรมไปได้จึงเป็นการทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 และการที่พนักงานทำละเมิดต่อลูกค้าผู้มาใช้บริการ ถือว่าพนักงานได้กระทำไปในทางการที่จ้างของสถานบริการนั้นๆดังนั้นสถานบริการในฐานะนายจ้าง จึงต้องร่วมรับผิดกับพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้าง ในผลแห่งละเมิดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 เจ้าของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายหรือสูญหาย ต้องฟ้องเรื่องการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จึงจะมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้
ผู้แต่ง / แหล่งที่มา :
นิตยสาร รถ Weekly
ผู้บันทึก :
กองบรรณาธิการ
date : [ 17 เม.ย. 2556 ]
|
|
|