การประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เป็นการประกันภัยที่ใครอยากทำก็ทำ ไม่มีการบังคับกัน การเลือกซื้อประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจนี้เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อ (ผู้เอาประกัน) และผู้ขาย (บริษัทประกันภัย) โดยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองได้ตามความต้องการและกำลังเงินที่มีอยู่ และเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ทำประกันภัยที่ขับรถดี มีความระมัดระวัง ในการขับขี่และมีความเสี่ยงภัยในการใช้รถต่ำ กรมการประกันภัยจึงได้ปรับปรุงโครงสร้าง การประกันภัยรถยนต์ใหม่ ให้สอดคล้องกับระบบสากลโดยนำเอา ปัจจัยเกี่ยวกับตัวผู้ขับขี่ ลักษณะการใช้รถ กลุ่ม ขนาด และอายุรถ ฯลฯ มาเป็นองค์ประกอบในการคำนวณเบี้ยประกันภัย ประเภทของกรมธรรม์ภาคสมัครใจ การประกันภัยรถยนต์ มีความคุ้มครองให้เลือก 4 ประเภทคือ
ประเภท 1 (ชั้น 1) ให้ความคุ้มครองครอบคลุมมากที่สุด คือ
ความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ความรับผิดต่อความเสียหายของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
ความรับผิดต่อความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
ประเภท 2 (ชั้น 2) ผู้ทำประกันภัยประเภทนี้จะได้รับความคุ้มครอง
ความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ความรับผิดต่อความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
ประเภท 3 (ชั้น 3) ซึ่งเป็นประเภทที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกดังนี้
ความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ประเภท 4 (ชั้น 4) ซึ่งเป็นประเภทที่ให้ความคุ้มครองเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินบุคคลภายนอก
ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ปัจจุบันมีประเภทประเภท 5 ที่เพิ่มความคุ้มครองมาจากประเภท 2 และ 3 นิยมเรียกว่าประกันภัยรถยนต์ 2พลัส หรือประกันภัยรถยนต์ 3พลัส
ความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอก และผู้โดยสารในรถ
ความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
ความเสียหายของตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย แต่ต้องแจ้งคู่กรณีได้เท่านั้น
ความเสียหายต่อตัวรถยนต์เนื่องจากไฟไหม้ และการสูญหาย
การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)
การประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ หรือที่คนส่วนใหญ่เรียกกันว่า “ประกัน พรบ.” การประกันภัยชนิดนี้ เป็นการประกันภัยที่กฏหมายบังคับให้รถทุกคัน ทุกประเภท ต้องทำประกันภัย ใครไม่ทำมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พศ. 2535 ต้องถูกปรับเป็นเงินไม่เกิน 10,000 บาท การประกันภาคบังคับจะให้ความคุ้มครองความรับผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ในความเสียหายต่อชีวิต และร่างกาย หรืออนามัยของผู้ประสบภัยจากรถทุกคน ไม่ว่าผู้ประสบภัยนั้นจะเป็นใครก็ตาม ดังนี้
1. กรณีบาดเจ็บ แต่ไม่ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพ ชดใช้ตามความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท
2. กรณีบาดเจ็บ ถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิต ชดใช้เต็มจำนวนความคุ้มครองสูงสุด 80,000 บาท
วัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ความคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งได้รับ ความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ให้ได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย และค่าเสียหายเบื้องต้นอย่าง ทันท่วงที และเป็นหลักประกันแก่สถานพยาบาลทุกแห่งว่าได้รับค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่ให้การรักษาแก่ผู้ประสบภัยจากรถแน่นอน
รถที่ต้องทำประกันภัย คือ รถทุกคันทุกประเภทที่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เป็นยานพาหนะทุกชนิดที่ใช้ในการขนส่งทางบกซึ่งเดินด้วยกำลัง เครื่องยนต์และหมายรวมถึงรถพ่วงของรถนั้นด้วย
ผู้ที่ได้รับความคุ้มครอง ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจากรถ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับขี่รถ ผู้โดยสาร คนเดินเท้า คนข้ามถนน ซึ่งได้รับอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัย เนื่องจากรถหรือสิ่งที่บรรทุกหรือติดตั้งไว้ในรถ ทั้งนี้รวมถึงทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยซึ่งถึงแก่ความตายด้วย โดยจะได้รับค่าชดใช้ค่าเสียหายตามกฏหมายนี้ทั้งสิ้น
เงื่อนไขความคุ้มครอง ได้รับความเสียหายต่อร่างกาย หรืออนามัย แต่ไม่สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ บริษัทจะจ่ายค่ารักษาพยาบาล และค่าเสียหายอย่างอื่นที่ผู้ประสบภัยสามารถเรียกร้องได้ตามมูลละเมิด ตามความเสียหายจริงแต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อหนึ่งคน
ความคุ้มครอง และรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก
1. ข้อตกลงคุ้มครอง
1.2 ความเสียหายทรัพย์สิน ต่อบุคคลภายนอกที่ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย (ไม่เกินที่ระบุไว้ในตาราง) ยกเว้นทรัพย์สินที่
ก) ผู้เอาประกัน ผู้ขับขี่ (ฝ่ายประมาท) คู่สมรส บิดามารดา บุตร ของผู้เอาประกันเป็นเจ้าของ เก็บรักษา
ข) เครื่องชั่ง สะพานรถ สะพานรถไฟ ถนน ทางวิ่ง ทางเดิน สนามที่เกิดจากการสั่นสะเทือน น้ำหนักรถ
ค) ทรัพย์สินที่บรรทุก หรือกำลังยกขึ้น หรือยกลง
2. ความเสียหายส่วนแรก ที่ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบ
ก) 2,000.-บาทแรก ต่อทรัพย์สิน กรณี ใช้รถเพื่อประโยชน์อื่น นอกจากที่ ระบุในกรมธรรม์
ข) ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
ค) 2,000.-บาทแรก ต่อทรัพย์สิน กรณีระบุชื่อผู้ขับขี่ แต่ขณะเกิดเหตุ ผู้ขับขี่ ไม่ใช่ผู้ที่ระบุชื่อไว้
3. ค่าใช้จ่ายในการ ต่อสู้คดี
4. การคุ้มครองความ รับผิด ของ ผู้ขับขี่
5. การคุ้มครองความรับผิดของ ผู้โดยสาร
6. การคุ้มครอง นายจ้าง
7. การยกเว้นทั่วไปไม่คุ้มครองความรับผิดจาก
7.1 ใช้รถยนต์นอกอาณาเขต (ประเทศไทย)
7.2 การแตกหักของเครื่องจักรกล
7.3 ใช้แข่งขันความเร็ว
7.4 ใช้ลากจูง หรือผลักดัน เว้นแต่ รถที่ถูกลากจูงหรือผลักดัน ประกันกับบริษัทด้วย หรือ เป็นรถลากจูงโดยสภาพ หรือมีระบบห้ามล้อเชื่อมถึงกัน
8. ข้อสัญญาพิเศษ ถ้าผู้เอาประกัน ผิดเงื่อนไข ข้อ 7.1, 7.2, 7.3, 7.4, 7.5 หรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง หรือของกรมธรรม์ไม่สมบูรณ์ ผู้รับประกัน ไม่สามารถปฏิเสธการชดใช้ ค่าบาดเจ็บแก่บุคคลภายนอกได้ (แต่ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินของบุคคลภายนอกเลย) แต่เมื่อชดใช้ให้บุคคลภายนอกแล้ว สามารถเรียกคืนจากผู้เอาประกันได้
9. ข้อสัญญาพิเศษ ถ้าผู้เอาประกัน ผิดเงื่อนไข ข้อ 7.6 ผู้รับประกัน ต้องชดใช้ ทั้งค่าบาดเจ็บ และค่าเสียหายของทรัพย์สิน ของบุคคลภายนอกไปก่อน แต่เมื่อชดใช้ให้บุคคลภายนอกแล้ว สามารถเรียกคืนจากผู้เอาประกันได้
ความคุ้มครอง รับผิดชอบต่อรถยนต์ผู้เอาประกัน
1. ข้อตกลงคุ้มครอง ความเสียหายต่อรถยนต์ รวมถึง อุปกรณ์ เครื่องตกแต่ง หรือสิ่งที่ติดประจำกับตัวรถยนต์ ความรับผิด ไม่เกิน จำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์
2. การชดใช้ความเสียหายต่อรถยนต์
2.1 เสียหายสิ้นเชิง จ่ายเต็มจำนวนที่ระบุและต้องโอนรถยนต์ให้บริษัท ทันที
2.2 เสียหายบางส่วน บริษัทต้องซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่ให้(ถ้าต้องสั่งอะไหล่จากต่างประเทศ บริษัท จ่ายไม่เกินราคาที่นำเข้าทางเรือ)
3. การดูแลขนย้าย บริษัท จ่ายไม่เกิน 20% ของค่าซ่อม
4. ความเสียหายส่วนแรก
ก) 2,000.-บาทแรก จากการชน ที่ไม่สามารถแจ้ง คู่กรณีให้บริษัท ทราบ
ข) ตามจำนวน ที่ระบุ ในกรมธรรม์
ค) 6,000.-บาทแรก จากการชน คว่ำ โดยผู้ขับขี่ที่มิได้มีชื่อเป็นผู้ขับขี่ ที่ระบุในกรมธรรม์
5. การรักษารถยนต์ผู้เอาประกัน ต้องดูแลรักษารถยนต์ ให้มีสภาพใช้การได้ดี เสมอ ถ้าสภาพรถบกพร่อง เช่นเบรกใช้การไม่ได้ แต่ยังนำรถไปใช้ หากเกิดอุบัติเหตุ ผู้เอาประกันต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นเอง
6. การสละสิทธิ บริษัท มีสิทธิที่จะไล่เบี้ย เอาค่าเสียหายจากผู้ใช้รถประกันได้ในกรณี
6.1 บุคคลนั้น ๆ นำรถไปใช้ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกัน
6.2 การใช้โดยบุคคลของอู่โดยมิใช่เป็นความยินยอมของบริษัท
7. การยกเว้นความเสียหายต่อรถยนต์
7.1 การเสื่อมราคา หรือการสึกหรอ….
7.2 การแตกหักของเครื่องจักรกล……
7.3 ความเสียหายโดยตรงต่อรถยนต์ จากการบรรทุกน้ำหนัก, ผู้โดยสาร เกิน…….
7.4 ยางรถยนต์ ฉีกขาด ระเบิด จากการใช้งาน(ถ้าเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ยางแตก ต้องชดใช้)
8. การยกเว้นการใช้
8.1 ใช้นอกอาณาเขต ประเทศไทย(ซื้อเพิ่มได้)
8.2 ใช้รถเพื่อประโยชน์ในทางที่ผิดกฎหมาย
8.3 ใช้แข่งขันความเร็ว
9. การยกเว้นการใช้อื่น ๆ
9.1 ใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือผลักดัน ได้ประกันไว้กับบริษัทด้วย หรือเป็นรถลากจูง โดยสภาพ หรือมีระบบห้ามล้อเชื่อมกัน
9.2 ใช้เพื่อประโยชน์ นอกจากที่ระบุในกรมธรรม์
9.3 การขับขี่โดยบุคคลที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์
9.4 การขับขี่ โดยบุคคลที่ไม่มีใบอนุญาต ฯ(หรือมีใบอนุญาตขับ จยย. แล้วไปขับรถยนต์)
ความคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้
1. ข้อตกลงคุ้มครอง
1.1 บริษัท จะชดใช้ เมื่อ รถยนต์ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของรถยนต์ รวมทั้งอุปกรณ์, เครื่องตกแต่ง, สิ่งที่ติดประจำกับตัวรถยนต์ถูกไฟไหม้ หรือสูญหายไป
1.2 ความรับผิดของบริษัท ไม่เกินจำนวนที่ระบุไว้
1.3 ความสูญหาย หมายความรวมถึง ความเสียหายที่เกิดจากการ ลักทรัพย์, ชิงทรัพย์, ปล้นทรัพย์,ยักยอกทรัพย์ หรือจากการพยายามกระทำฯ
1.4 การถูกไฟไหม้ รถจะถูกไฟไหม้จากสาเหตุใดก็ได้
2. การชดใช้ความเสียหาย หรือสูญหายต่อรถยนต์
2.1 รถยนต์สูญหาย จาก การลักทรัพย์, ชิงทรัพย์, ปล้นทรัพย์, ยักยอกทรัพย์ บริษัท ต้องจ่ายเต็มจำนวนเงินเอาประกัน ผู้เอาประกันต้องโอนรถยนต์ให้บริษัท ทันที(โดยค่าใช้จ่ายของบริษัท) ถ้าบริษัทได้รถยนต์ กลับคืนมา บริษัทต้อง แจ้งให้ผู้เอาประกันทราบ ภายใน 7 วันนับแต่วันที่ได้รถคืนมา ทาง ปณ.ลงทะเบียน ณ ที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่ผู้เอาประกันแจ้งไว้ หรือผู้เอาประกันสามารถใช้สิทธิ (ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือ) รับรถคืน หรือ สละสิทธิไม่รับรถคืน
2.2 รถยนต์เสียหายสิ้นเชิง บริษัท จะจ่ายค่าสินไหมเต็มจำนวนเงินเอาประกัน ถ้าจำนวนเงินเอาประกันไม่ต่ำกว่า 80% ของมูลค่ารถยนต์ขณะที่เอาประกัน ต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ให้บริษัท ทันที (โดยค่าใช้จ่ายของบริษัท)
2.3 รถยนต์เสียหาย หรือ สูญหาย บางส่วน บริษัท จะชดใช้ โดยการซ่อมหรือ เปลี่ยนอะไหล่ หรือ เปลี่ยนรถยนต์ ในสภาพเดียวกันเป็นการทดแทนหรือชดใช้เป็นเงิน ถ้าตกลงค่าซ่อมไม่ได้ ให้จัดซ่อมโดยอู่กลาง กรมการประกันภัย กรณีต้องสั่งอะไหล่จากต่างประเทศ ให้ถือเอาราคานำเข้าทางเรือ
3. การดูแลขนย้าย บริษัท จะจ่ายค่าดูแลรักษา และค่าขนย้าย จนกว่าจะซ่อมแซมเสร็จ ไม่เกิน 20% ของจำนวนเงินเอาประกัน
4. การสละสิทธิ บริษัท สละสิทธิไล่เบี้ย จากผู้ใช้รถที่ได้รับความยินยอมจาก ผู้เอาประกัน ยกเว้น การใช้โดยบุคคลของอู่ เมื่อมีการมอบให้อู่ทำการซ่อม โดยบริษัท ไม่ได้สั่ง หรือยินยอม
5. การยกเว้น การสูญหาย ไฟไหม้ กรมธรรม์ ไม่คุ้มครองการสูญหาย ไฟไหม้ จาก
5.1 การลักทรัพย์ หรือ ยักยอกทรัพย์ จากบุคคลที่ได้รับมอบหมาย หรือครอบครอง ตามสัญญาเช่า เช่าซื้อ สัญญาจำนำ หรือบุคคลที่จะทำสัญญาข้างต้น
5.2 การใช้รถนอกประเทศไทย
ข้อควรรู้ การโอนรถ กรณีที่รถที่เจ้าของได้เอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัย ได้โอนไปยังบุคคลอื่น ให้ผู้ได้มาซึ่งรถดังกล่าวมีฐานะเสมือนเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์นั้น และบริษัทประกันต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวต่อไปตลอดอายุของกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังเหลืออยู่
ข้อยกเว้นที่การประกันภัยไม่คุ้มครอง
1. สงคราม การรุกราน การกระทำของชาติศัตรู การสู้รบหรือการปฏิบัติการที่มีลักษณะเป็นการทำสงคราม(จะได้ประกาศสงครามหรือไม่ก็ตาม)
2. สงครามการเมือง การแข็งข้อของทหาร การกบฎ การปฏิวัติ การต่อต้านรัฐบาล การยึดอำนาจการปกครองโดยกำลังทหารหรือโดยประการอื่น ประชาชนก่อความวุ่นวายถึงขนาดหรือเท่ากับการลุกฮือต่อต้านรัฐบาล
3. วัตถุอาวุธปรมาณู
4. การแตกตัวของประจุ การแผ่รังสี การกระทบกัมมันตภาพรังสีจากเชื้อเพลิงปรมาณู หรือจากกากปรมาณูอันเกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงปรมาณู และสำหรับจุดประสงค์ข้อสัญญานี้ การเผาไหม้นั้นรวมถึงกรรมวิธีใด ๆ แห่งการแตกแยกปรมาณู ซึ่งดำเนินติดต่อไปด้วยตัวของมันเอง
5. ความเสียหายที่เกิดจากรถที่ถูกยักยอก ฉ้อโกง กรรโชก ลักทรัพย์ รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์หรือปล้นทรัพย์
6. การใช้นอกประเทศไทย
7. การใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย ได้แก่ใช้รถไปปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ หรือใช้ขนยาเสพติด เป็นต้น
8. การใช้ในการแข่งขัน หรือทดลองความทนทาน หรือความเร็วในทางกีฬา
9. การใช้โดยบุคคลของอู่ เมื่อรถได้มอบให้อู่ทำการซ่อม เว้นแต่การซ่อมนั้นบริษัทเป็นผู้สั่งหรือให้ความยินยอม