|
คู่มือป้องกัน ไฟไหม้ รถใช้ก๊าซ
แม้คนไทยจะเริ่มชินกับ "น้ำมันแพง" กันบ้างแล้ว แต่ยังไงๆ แพงก็คือแพง ซึ่งสำหรับคนที่มีรถใช้ ส่วนหนึ่งก็หันไปพึ่งพา แก๊ส หรือ ก๊าซ มีการนำรถไปติดตั้งระบบการใช้ก๊าซแทนการใช้น้ำมันกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย แต่ขณะเดียวกันก็อาจจะเกิดการหวั่นๆ ในเรื่องความปลอดภัย
รถไฟไหม้ แม้แต่กับรถที่ใช้น้ำมันก็อาจเกิดขึ้นได้ แต่กับ รถใช้ก๊าซ ความกลัวในเรื่องนี้มีมากกว่า !! ทั้งนี้กับเรื่องความปลอดภัยสำหรับผู้ที่ใช้รถซึ่งติดตั้งระบบใช้ก๊าซนั้น ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย มีการจัดทำคู่มือให้ความรู้ที่น่าสนใจ กล่าวคือ... รถยนต์ที่ติดตั้งระบบใช้ก๊าซ โดยฌฉพาะรถมือสองจำเป็นจะต้องหมั่นตรวจเช็กดูแลรักษาเป็นอย่างดี และควรต้องรู้วิธีปฏิบัติเมื่อรถใช้ก๊าซเกิดประสบอุบัติเหตุ
สำหรับการดูแลรักษารถยนต์ที่ใช้ก๊าซนั้น มีดังนี้ คือ... ต้องตรวจสอบรถและระบบก๊าซตามระยะที่กำหนด หมั่นตรวจสอบข้อต่อท่อส่งก๊าซ และการรั่วไหลของก๊าซ โดยใช้น้ำสบู่หยอดที่ข้อต่อก๊าซทุกจุดที่สามารถทำเองได้ โดยการตรวจรอยรั่วตามข้อต่อนั้นจะต้องทำการตรวจสอบขณะเปิดใช้ระบบก๊าซ ควรเติมน้ำมันให้อยู่ในระดับ 14 ของถังน้ำมันด้วย เพราะขณะสตาร์ตรถต้องใช้การเผาไหม้จากน้ำมัน เมื่อเครื่องยนต์ติดแล้วระบบจึงจะถูกปรับไปใช้ก๊าซแทน
ต้องเติมก๊าซจากสถานีบริการที่ได้มาตรฐานเท่านั้น หากไม่ใช้รถเป็นเวลานานควรปิดวาล์วมือหมุนที่ถังก๊าซ เพื่อป้องกันระบบวาล์วไฟฟ้าบกพร่อง เพราะถ้าบกพร่องอาจเกิดการระเบิดหรือเพลิงไหม้ได้ นอกจากการดูแลรักษาแล้ว การรู้วิธีปฏิบัติเมื่อรถใช้ก๊าซเกิดอุบัติเหตุก็ควรให้ความสำคัญ โดยข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุไว้ดังนี้คือรถยนต์ที่ใช้ก๊าซมีความเสี่ยงที่จะเกิดเพลิงไหม้ได้หากประสบอุบัติเหตุ รุนแรง โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ส่วนหนึ่งมาจากการเฉี่ยวชน และระบบไฟฟ้าลัดวงจร
วิธีป้องกันและข้อควรปฏิบัติ มีดังนี้คือ เริ่มจากวิธีป้องกันเพลิงไหม้รถ ควรขับรถในอัตราความเร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉิน นอกจากจะทำให้หยุดรถได้ทันแล้วยังช่วยลดแรงปะทะให้เหลือเพียง 45-55 กม./ชม. ซึ่งเป็นระดับความเร็วที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุจะไม่ ทำให้เกิดเพลิงไหม้รถ กรณีประสบอุบัติเหตุรถเฉี่ยวชน เมื่อเกิดมีอุบัติเหตุ มีการเฉี่ยวชน ผู้ขับขี่รถที่ติดก๊าซควรดับเครื่องยนต์ แล้วรีบออกจากรถ กรณีใช้ถังก๊าซวาล์วมือหมุนแบบธรรมดาให้รีบปิดวาล์วด้วยตนเอง หากเป็นถังก๊าซระบบมัลติวาล์วระบบจะปิดเองโดยอัตโนมัติ หากได้กลิ่นก๊าซรั่วไหลให้รีบออกห่างจากรถ เพราะอาจเกิดระเบิด อาจเกิดเพลิงไหม้รถ พร้อมโทรศัพท์แจ้งช่างผู้ชำนาญการมาดำเนินการตรวจสอบโดยด่วน ที่สำคัญ แม้หลังประสบอุบัติเหตุรถยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ก็ควรนำไปตรวจสอบสภาพ เนื่องจากระบบติดตั้งก๊าซอาจได้รับการกระทบกระเทือน ก๊าซอาจรั่วไหลและระเบิดได้ !! กรณีระบบไฟฟ้าลัดวงจร ในขณะขับรถผู้ขับขี่ควรหมั่นสังเกตบริเวณกระโปรงหลังรถซึ่งเป็นที่ตั้งของ ถังก๊าซ หากพบสิ่งผิดปกติ เช่น มีควันไฟลอยขึ้นมา มีกลิ่นก๊าซรั่วไหลเข้ามาในห้องโดยสาร ให้รีบนำรถเข้าข้างทาง ปิดสวิตช์ไฟ ดับเครื่องยนต์ และปิดวาล์วถังก๊าซ พร้อมตรวจสอบอย่างละเอียด วิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเพลิงไหม้รถ หากเพลิงไหมเล็กน้อยให้ใช้ถังดับเพลิงเคมีฉีดเข้าไปบริเวณต้นเพลิงจนเพลิง ดับสนิท หากไม่มีถังดับเพลิงเคมีให้ใช้ผ้าแห้ง ผ้าที่เปียกน้ำ ทราย มาโปะหรือตบบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้ หรือเจาะปากขวดน้ำเปล่าเป็นรูเล็ก ๆ ให้น้ำพุ่งฉีดไปบริเวณที่เกิดเพลิงไหม้โดยตรง หากเพลิงไหม้ลุกลามอย่างรวดเร็ว ให้รีบออกห่างรถที่เกิดเพลิงไหม้โดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันอันตรายจากการระเบิด พร้อมโทรฯ แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาควบคุมและระงับเพลิงไหม้โดยด่วน "ที่สำคัญ ผู้ขับขี่ควรจัดเตรียมถังดับเพลิงเคมีขนาดเล็ก หรือขวดน้ำเปล่าไว้ข้างเบาะ เพื่อให้สามารถหยิบใช้ได้ทันทีที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ รวมถึงหมั่นตรวจสอบระบบติดตั้งก๊าซให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้รถได้" ...ข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระบุ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการตรวจสภาพรถและระบบก๊าซอย่างดี รวมถึงมีอุปกรณ์ดับเพลิงเตรียมพร้อมไว้แล้ว ในการขับขี่ก็ไม่ควรประมาท โดยเฉพาะบน "เส้นทางที่เสี่ยงอุบัติเหตุ" เช่น ถนนที่กำลังก่อสร้าง, ถนนที่กำลังมีการปรับปรุงซ่อมแซม, ถนนที่มีเลนสวน, ถนนที่ไหล่ทางแคบ, ถนนไม่มีไหล่ทาง, ถนนที่มีพื้นผิวจราจรขรุขระ เป็นต้น ซึ่งเส้นทางในลักษณะที่ว่ามานี้แม้แต่รถที่ใช้น้ำมันก็ควรต้องระมัดระวัง อยู่แล้ว ยิ่งเป็นรถที่ใช้ก๊าซก็ยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุ อาจจะเกิดเพลิงไหม้ตามมาได้ ฤดูหนาว...มักมีคำเตือนให้ระวังไฟไหม้อาคารบ้านเรือน ส่วนกับ "รถใช้ก๊าซ" ต้องระวังมากเป็นพิเศษ...ทุกฤดู มิฉะนั้นอาจเสียรถ-เสียค่าชดใช้ผู้อื่น และเสียชีวิต!!
ผู้แต่ง / แหล่งที่มา :
นิตยสาร รถ Weekly
ผู้บันทึก :
กองบรรณาธิการ
date : [ 28 พ.ค. 2556 ]
|
|
|