ระยะรัน–อิน คืออะไร หลายคนคงสงสัย
ระยะรัน–อิน ก็คือ ระยะ 1000กิโลแรกของรถใหม่ที่เพิ่งออกจากโรงงาน ( โดยความจริงแล้ว ระยะ รันอิน ของรถแต่ละค่ายไม่เท่ากัน แต่ก็เหมารวมง่ายๆไว้ที่ระยะ 1000 กิโลเมตร)
หากเปรียบกับคนก็เหมือนช่วงตื่นนอนใหม่ๆที่ยังคงเมาขี้ตา กล้ามเนื้อแต่ละส่วนในร่างกายยังอืดๆอาดๆ ไม่คล่องตัว การออกกำลังกายเบาๆ ในระยะสั้น ๆสะบัดแขน สะบัดขา บิดซ้ายนิด บิดขวาหน่อย เพื่อให้อวัยวะทุกส่วนตื่นตัวเต็มที่ หรือจะเรียกง่ายๆ สั้นๆว่าการ วอร์มอัพนั่นเอง ...รถยนต์ก็เช่นกัน เมื่อออกจากโรงงานใหม่ๆ ชิ้นส่วน กลไกต่างๆอาจยัง ฝืดๆ ขัดๆไม่เข้าที่เข้าทาง เหตุนี้จึงจำเป็นต้องมีระยะ รันอิน ให้กับรถใหม่เปิดซิงจากโรงงาน
หลายเสียงเข้าใจผิดว่า รถยนต์สมัยนี้ไม่ต้องมีระยะรันอินกันแล้วเพราะระบบเครื่องยนต์ กลไกต่างๆ รวมไปถึงน้ำมันเครื่องพัฒนากันไปไกลกว่ายุคก่อนแล้ว หรือบางเสียงก็ว่า เขารันอินมาพร้อมแล้วจากโรงงาน เพราะก่อนส่งรถออกมา เขาได้มีการตรวจสภาพรถอย่างหนักหน่วง จริงหรือ? ...คงปฏิเสธว่าไม่จริงได้เต็มปากนัก เพราะหลายค่ายรถ เซลล์นำเรื่องนี้มาเป็นจุดเด่นในการเสนอขายแก่ลูกค้าว่ารถของตนไม่ต้องมีระยะรันอิน ขับออกจากศูนย์ก็เหยียบมิด ลุยโลดได้เลย แต่หากจะปฏิเสธตามหลักข้อเท็จและข้อจริงแล้ว ก็ขอบอกว่า “ไม่จริง”...ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน ระบบเครื่องยนต์ต่างๆของรถก็ยังคงทำงานด้วยหลักการเดิมๆ และที่ว่าทางโรงงานได้รันอินรถมาพร้อมแล้วนั้น หากต้องรันอินรถใหม่ทุกคัน เขาจะมีค่าต้นทุนและเวลาจะหมดไปอีกเท่าไหร่ ? ทั้งเรื่องการตรวจสภาพรถแบบหนักหน่วงและละเอียดนั้น ก็มีการทำจริงหากแต่เป็นเพียงการสุ่มตรวจจากรถบางคันเท่านั้น
“เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” ...สุภาษิตโบราณว่าเอาไว้ การดูแลรถตั้งแต่เริ่มต้นก็เช่นกัน และการรันอิน ก็ไม่ได้เสียเวลา ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทำได้ไม่ยาก ทั้งไม่มีผลเสียอะไร ตรงกันข้าม หากทำได้ ก็จะก่อผลดีกับรถอย่างคุ้มค่า แล้วทำไมเราจึงเลือกจะปฏิเสธที่จะทำ ?
ลองมาดูวิธีการดูแลรถในระยะ รันอินกันดีกว่า ว่ายากเกินไปที่จะทำหรือไม่ ...
การรันอินระบบเครื่องยนต์
1. ในการสตาร์ทครั้งแรกหลังจากจอดรถมาเกินกว่า 6 ชั่วโมง อย่าเหยียบคันเร่งหลังเครื่องยนต์ติด ไฟสัญญาณเตือนต่างๆ ดับหมด ควรรอต่อสัก 10-15 วินาที ก่อนออกรถเพื่อให้แน่ใจว่าน้ำมันหล่อลื่นในเครื่องยนต์ทำงาน และไม่เปิดแอร์โดยทันที ควรเคลื่อนรถให้วิ่งก่อนสัก 2-3 นาที จึงเปิดแอร์
2. ไม่ควรเร่งเครื่องอยู่กับที่ และไม่ควรขับโดยใช้รอบเดินเครื่องสูงกว่า 4000 รอบต่อวินาที
3. อย่าออกรถอย่ารุนแรง
4. ในการเดินทางไกล ไม่ควรใช้ความเร็วรอบคงที่ติดต่อกันเกิน 5 นาที ควรเปลี่ยนใช้ความเร็วรอบเครื่องที่ต่างๆ กันแต่อย่าให้เกิน 4000 รอบ
5. หลังจากการเดินทางไกล ก่อนดับเครื่องควรปล่อยให้เครื่องเดินเบาก่อนสัก 10-15 วินาที จึงดับเครื่อง และอย่าเร่งเครื่องก่อนดับ ดังที่คนส่วนใหญ่ทำกัน เพราะจะทำให้น้ำมันเบนซินไปค้าที่หัวลูกกระบอกสูบชะล้างเอาน้ำมันหล่อลื่นที่แหวนลูกสุบออก จะทำให้เกิดความเสียหายได้
6. อย่าเติมหัวเชื้อหรือน้ำมันอื่นๆ ลงในเครื่องยนต์เพราะเครื่องยนต์ช่วงนี้ยังต้องการให้ชิ้นส่วนต่างๆได้เสียดสีกัน เช่น แหวนกับกระบอกสูบ เพื่อการเข้าที่ของชิ้นส่วน การเติมหัวเชื้อ หรือน้ำมันที่ผิดจากโรงงาน จะทำให้ชิ้นส่วนเสียหายได้
7. หมั่นเช็คระดับน้ำมันเครื่อง และน้ำในหม้อน้ำทุกๆ สัปดาห์
การรันอินระบบคลัช
1. ให้ยกเท้าจากคันคลัชเมื่อไม่ได้ใช้งาน
2. เวลาที่ต้องการจอดรถ ไม่ควรเหยียบคลัชแช่ไว้ควรเข้าเกียร์ว่าง และยกเท้าออกจากคลัช
3. อย่าใช้คลัชแทนเบรกในการชะลอรถ ยกเว้น ยกเว้นกรณีที่ขับรถลงเนินหรือเขา
4. อย่าลากรถที่หนักกว่ารถท่าน หรือใหญ่กว่า
การรันอินระบบเฟืองท้าย และเกียร์
1. อย่าเพิ่มหัวเชื้อน้ำมันใดๆ ลงในห้องเกียร์จนกว่าจะพ้นระยะรันอิน
2. ในการเปลี่ยนจากเกียร์เดินหน้าเป็นเกียร์ถอยหลัง หรือในทางกลับกัน ต้องให้รถหยุดสนิทเสียก่อน
3. ในการเข้าเกียร์ถอยหลัง หลังจากเหยียบคลัชจนสุดแล้ว ให้รอถึง 2-3 วินาทีเพื่อให้ราวเกียร์หยุดสนิทจึงค่อยเข้าเกียร์ถอยหลัง
4. ในการขับทางไกลควรพักรถประมาณ 5 นาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อเป็นการลดความร้อนห้องเกียร์และเฟืองท้าย
5. สำหรับเกียร์อัตโนมัติ มีข้อแนะนำเพิ่มเติมดังนี้
6.ในขณะที่เข้าเกียร์จากเกียร์ว่างเป็นเกียร์เดินหน้าหรือถอยหลัง ควรเหยียบเบรกให้รถหยุดสนิท และเร่งเครื่องช้าๆ หลังจากเข้าเกียร์แล้ว
7.อย่าเข้าเกียร์ว่างขณะรถเคลื่อนที่ เพราะอาจจะทำให้ระบบเกียร์เสียหายเนื่องจากไม่มีน้ำมันความดันสูง
การรันอินระบบไฟฟ้า
1. ตรวจเช็คระดับน้ำกลั่นของแบตเตอรี่ทุกๆ สัปดาห์ ระวังอย่าเติมน้ำกลั่นจรเกินกำหนด
2. อย่าสตาร์ทเครื่องซ้ำขณะเครื่องยนต์กำลังทำงาน
3. ทดลองใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง เช่น ไล่ฟ้ากระจกหลัง กระจกไฟฟ้า หรืออื่นๆ อย่างสม่ำเสมอ
4. หมั่นสังเกตไฟเตือน และเกจวัดต่างๆ ว่าทำงานผิดปกติหรือไม่
การรันอินตัวถังและภายใน
1. อย่าจอดรถใต้ต้นไม้ เพราะนอกจากนกจะถ่ายรดแล้ว ยางของไม้ยังเป็นตัวการทำลายสีรถ
2. อย่าให้ไฟกลางเก๋งทำงานเกิน 5 นาที เพราะความร้อนจะทำความเสียหายได้ ถ้าต้องเปิดประตูทิ้งไว้ควรปิด สวิทซ์ไฟเก๋ง
3. ในการปิดประตู อย่ากระแทกประตูแรงๆ ควรใช้การดึง หรือดันเข้า
4. ไม่ควรจอดรถทิ้งไว้หลังจากล้างเสร็จใหม่ๆ แต่ควรออกวิ่งเพื่อให้น้าที่ขังตามซอกมุมต่างๆแห้งสนิท
ระยะทาง 0-1,000 กิโลเมตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้รอบเครื่องยนต์เกิน 2,500 - 3,000 รอบ/นาที หรือเปลี่ยนความเร็วรอบขึ้น-ลงแบบกระทันหันโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนจากเกียร์ต่ำขึ้นสู่เกียร์สูง ควรทำอย่างนิ่มนวลที่ระดับ 2,500 รอบ/นาที แล้วถอนคลัตช์ช้าๆ ส่วนการเปลี่ยนจากเกียร์สูงลงสู่เกียร์ต่ำ เพราะต้องการใช้เกียร์สัมพันธ์กับความเร็ว ไม่ควรเปลี่ยนลงเกียร์ต่ำ เพราะต้องการใช้เกียร์และเครื่องยนต์ช่วยเบรก ถ้าต้องการเบรกให้เหยียบเบรกตามปกติ ในช่วง 0 - 5,000 กิโลเมตร ไม่ควรใช้รอบเครื่องยนต์เกิน 3,000 รอบ/นาที
เมื่อถึงระยะ 1,000 กิโลเมตร ให้ถ่ายน้ำมันเครื่อง น้ำมันเกียร์ และน้ำมันเฟืองทิ้งท้าย เพื่อเอาเศษสกปรกที่หลุดจากชิ้นส่วนต่างๆและปะปนอยู่ในน้ำมันออก(แม้บางศูนย์บริการจะไม่ระบุไว้ก็ตาม)
ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ ใครบอกว่าเยอะแยะ วุ่นวาย ยากเกินจะทำ ก็ลองคิดดูสักนิดว่า รถของเราราคาเท่าไหร่ คุ้มค่าไหมกับการที่จะดูแลเอาใจใส่แต่เริ่มต้น แต่ถ้าใครยังยืนยันว่ายากเอาการอยู่ ก็ขอนำเสนอวิธีการง่ายๆ ดังนี้
1.อย่าขับเกิน 100กิโลเมตรต่อชั่วโมง
2.อย่าเร่งเครื่องอย่างรุนแรง หรือใช้รอบเครื่องยนต์สูงเกินกว่า 3000รอบ/นาที
3.หมั่นเปลี่ยนระดับความเร็ว อย่าขับความเร็วคงที่นานเกินไป
4.อย่าเบรกกะทันหัน
5.เปลี่ยนน้ำมันเครื่อง+กรองน้ำมันเครื่องเมื่อครบ 1000 กิโล
หาก 5 ข้อนี้ยังยืนยันว่ายาก ทำไม่ได้ ง่ายกว่านั้นก็เห็นจะไม่มีอะไรนอกจากเตรียมเก็บตังค์ซื้อรถคันใหม่ ก่อนเวลาอันควร..................................