การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การรวมตัวทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ไม่อาจละเลยปัญหาด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อาจจะตามขึ้นมาภายหลังได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภค ที่ทำการตลาดร่วมเศรษฐกิจ สามารถดำเนินไปได้ด้วยความยุติธรรม ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้เร่งดำเนินการเสริมสร้างความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ให้แก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค ให้รับทราบถึงสิทธิที่พึงได้และสิทธิควรรู้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยผ่านกิจกรรมครั้งสำคัญ ในงาน สคบ.แฟร์ มั่นใจ ไทยแลนด์ ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2556 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาคารซี ชั้น 1-2 และเอเทรี่ยม
จากนโยบาย เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่มีเป้าหมายเป็นตลาดเดียว (Single Market) นั่นคือเป็นภูมิภาคที่ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนทางการค้า ยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางในการบริโภคสินค้าในราคาที่แข่งขันได้ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEN Free Trade : AFTA) จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ในการทำให้ตลาดร่วมเศรษฐกิจเดียวกันนี้ สามารถดำเนินด้วยความยุติธรรม การไร้ซึ่งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง อาจทำให้ผู้บริโภค ขาดกลไก ในการเยียวยาชดใช้ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าและบริการ
สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการดำเนินการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคแก่ประชาชน ตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ร่วมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นองค์กรของรัฐ ที่เป็นสมาชิกในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียนด้วย (ASEAN Committee on Consumer Protection: ACCP) ดังนั้น สคบ.จึงเห็นความจำเป็นว่า ต้องเร่งให้การส่งเสริมให้ความรู้ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหา ที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยผ่านกิจกรรม งาน สคบ.แฟร์ มั่นใจไทยแลนด์ ในครั้งนี้
นาย จิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงจุดประสงค์ การจัดงานครั้งนี้ว่า “กิจกรรมครั้งนี้ มุ่งให้ประชาชนได้รับข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย และเพียงพอ มีความเข้าใจในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยในเบื้องต้น รวมทั้งรู้ช่องทางการร้องทุกข์ เพื่อให้ได้รับการเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการบริโภคสินค้าและบริการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ”
“การแนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าและบริการ ที่ติดตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้ริโภค ซึ่งแสดงว่า สินค้านั้นมีระบบการเยียวยา ชดใช้ความเสียหายที่รวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการชั้นศาล”
“นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชน จะได้รับทราบนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ของ สคบ. อีกด้วย”