แม้ “กระจกหน้า-หลัง และกระจกข้าง/มองหลัง” จะเป็นอุปกรณ์สำคัญประจำรถยนต์ที่ช่วยเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่ แต่บ่อยครั้งที่มักพบว่าอุบัติเหตุทางถนนเกิดจากทัศนวิสัยในการขับขี่ไม่ดี และการปรับกระจกรถอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดมุมอับจนผู้ขับขี่มองไม่เห็นรถ ที่อยู่ด้านหลังหรือด้านข้าง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีปรับกระจกรถอย่างถูกวิธี และวิธีแก้ไขปัญหาฉุกเฉินกรณีกระจกแตกหรือเป็นฝ้า ดังนี้
กระจกมองข้าง ปรับให้กระจกกางออกโดยตั้งฉากและขนานกับตัวรถ ไม่ก้มหรือเงยมากเกินไป จะช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถมองเห็นรถที่อยู่ด้านข้างและด้านหลังชัดเจนขึ้น แต่ต้องระวังไม่ปรับกระจกให้เห็นตัวถังรถด้านข้างมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดจุดบอดและเห็นรถคันอื่นในระยะกระชั้นชิด ที่ช้ากว่าปกติ
กระจกมองหลัง ควรปรับกระจกให้ไม่เห็นศีรษะของผู้ขับขี่ และมองเห็นภาพ ในมุมกว้างมากที่สุด ทั้งด้านซ้าย ด้านขวา และด้านหลัง โดยผู้ขับขี่สามารถเลือกใช้กระจกมองหลังที่มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อเพิ่มมุมมองทั้งภายในและภายนอกรถได้ เพื่อความปลอดภัย
ก่อนออกเดินทาง ผู้ขับขี่ควรปรับกระจกรถให้อยู่ในองศาที่เหมาะสมและเห็นภาพด้านกว้างที่ชัดเจนทั้งด้านซ้าย ด้านชวา และด้านหลังจะช่วยลดอุบัติเหตุจากการเปลี่ยนช่องทางและแซงรถคันอื่น ห้ามปรับกระจกไป-มาในขณะที่รถกำลังวิ่งเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
กรณีกระจกเป็นละอองฝ้าในช่วงฝนตก ควรแก้ไขโดยปรับอุณหภูมิภายในห้องโดยสารให้คงที่และไม่ต่างจากอุณหภูมิภายนอกรถ ไม่ปรับช่องแอร์ให้ลมพัดไปทางกระจก และลดระดับกระจกหน้าต่างลง หากเกิดฝ้าบริเวณกระจกหลังรถให้เปิดสวิตซ์ตะแกรงขดลวดความร้อนไล่ฝ้า จะช่วยให้มองเห็นเส้นทางชัดเจนขึ้น
กรณีกระจกด้านหน้ารถแตกทั้งบาน ให้ปิดกระจกด้านข้างทุกบาน เพื่อมิให้แรงลมปะทะภายในรถทำให้รถเสียการทรงตัว หากกระจกด้านข้างรถแตก ให้ปรับลดกระจกลงจนสุด เพื่อลดแรงสั่นสะเทือนที่อาจทำให้กระจกแตกเพิ่มขึ้น พร้อมประคองพวงมาลัยให้มั่นและขับรถให้ช้ากว่าปกติ
นอกจากนี้ เพื่อให้การมองเห็นเส้นทางเป็นไปอย่างชัดเจน ผู้ขับขี่ไม่ควรแขวนตุ๊กตาหรือติดสติ๊กเกอร์บริเวณกระจกด้านหน้าและหลังรถ เพราะจะบดบังทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางของผู้ขับขี่ ควรติดสติ๊กเกอร์เฉพาะที่จำเป็น โดยให้ติดในมุมใดมุมหนึ่งของกระจก เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง