จำนวนผู้เข้าชม : 414 ครั้ง
End Page
 
 
รถหาย! จะต้องทำอย่างไร!!

1. หากเห็นคนร้ายกำลังลักรถเรา เราจะทำอย่างไร ถ้าบังเอิญเป็นโชคของเรา ที่เราเห็นในขณะที่คนร้าย กำลังลักรถเรา เราควรปฏิบัติดังนี้
    1) เรียกให้คนช่วยเหลือ การตะโกนให้คนช่วยเหลือ เช่น ร้องว่า "ขโมย ช่วยด้วย! ขโมย" ตามปกติคนร้ายเมื่อ ได้ยินเสียคนร้อง เช่นนั้น ส่วนมากมักจะวิ่งหนีไป
    2) เรียกให้ตำรวจช่วยจับกุม หากบริเวณนั้นมีตำรวจ เราก็ควรตะโกน หรือรีบแจ้งให้ตำรวจจับกุมได้ทันที แต่ถ้าเรา เห็นคนร้าย โดยที่คนร้ายไม่เห็นเรา เราก็ควรรีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ให้รีบมาจับกุมให้ทันท่วงที แต่ถ้าเห็นว่าไม่ทันการณ์ เพราะกว่าที่ตำรวจจะมาถึงคนร้ายก็เอารถไปได้แล้ว เราควรใช้สิทธิป้องกันทรัพย์สินของเราดังจะกล่าวต่อไป
    3) ใช้สิทธิป้องกันทรัพย์ของเรา ความจริงกฎหมายให้อำนาจเรา มีสิทธิที่จะป้องกันชีวิตทรัพย์สินของเราได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 บัญญัติว่า " ผู้ใดจำต้องกระทำการใด เพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้น ภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควารแก่เหตุ การกะทำนั้น เป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด" หมายความว่า เรามีสิทธิจะป้องกันสิทธิในชีวิต ร่างกาย และสิทธิในทรัพย์สินของเรา เราก็มีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์ของเราได้ เช่น คนร้ายเข้าปล้นบ้านเรา เข้าลักทรัพย์เรา เราก็มีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของเราได้ มีข้อแม้ที่สำคัญอยู่ว่า เราต้องกระทำ ไปโดยพอสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าเกินกว่าเหตุ เราก็ผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น เขาเพียงแต่จะต่อยเรา เรากลับใช้ปืนยิงเขา อย่างนี้ เรียกว่า เกินกว่าเหตุผิดกฎหมาย แต่ถ้าเขาต่อยเรา เราต่อยเขา อย่างนี้เรียกว่า พอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันตัว ไม่ผิด กฎหมาย
    การป้องกันทรัพย์สินก็เหมือนกัน จะต้องกระทำโดยพอสมควรแก่เหตุ เช่น คนร้ายมีแต่มือเปล่าๆ ไม่มีอาวุธอะไร เข้างัดรถเรา เรายิงเขาตายเลย อย่างนี้เรียกว่าได้ว่าเกินกว่าเหตุ ไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าคนร้ายมีอาวุธปืน เราเตือนแล้วกลับจะหันมายิงเรา เรายิงคนร้ายตาย อย่างนี้เป็นการป้องกัน ต้องถือว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็นคนร้ายกำลังลักรถเรา หรือปล้นรถเรา เราก็มีสิทธิที่จะใช้อาวุธ ป้องกันของของเราได้ แต่ต้องใช้วิธีที่ พอสมควรแก่เหตุ มิฉะนั้นจะเป็นการผิดกฎหมาย อะไรเกินกว่าเหตุหรือไม่ก็ต้องดูกันเป็นเรื่องๆ ไป อะไรที่ควรจะป้องกัน หรือไม่อยู่ที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรา
    4) เราเป็นราษฎรมีสิทธิจับคนร้ายลักรถได้หรือไม่ ความจริงยังมีชาวบ้านอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่ทราบว่าราษฎรนั้นมี สิทธิจับคนร้ายได้
เมื่อพบผู้ที่กระทำผิดซึ่งหน้า และความผิดนั้นกฎหมายให้อำนาจจับได้
    ความผิดซึ่งหน้า หมายความว่า ความผิดที่เห็นกำลังกระทำ หรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่สงสัยเลยว่าได้กระทำ ผิดมาแล้วสดๆ ความผิดเห็นขณะกำลังกระทำนั้นง่าย เช่น เห็นคนร้าย กำลังงัดรถยนต์เรา กำลังปล้นรถเรา อย่างนี้เป็นความผิด ซึ่งหน้า เราเข้าจับกุมได้เลย ไม่ต้องรอตำรวจ เพราะถ้ามัวรอตำรวจ คนร้ายก็หนีไปหมดแล้ว ลักษณะที่ว่า พบในอาการที่ได้ กระทำผิดมาสดๆ เช่น คนร้ายวิ่งหนีมามีเลือดโชกติดตัว มือถือปืน วิ่งหนีตำรวจมาอย่างนี้ เราจับได้เลย อย่างเรื่อง คนร้าย กระโดดหนีจากรถเรา ถือกุญแจรถเราวิ่งหนี คนร้องว่า ขโมย.. ขโมย อย่างนี้ถือได้ว่ามีอาการกระทำผิดมาแล้วสดๆ เราก็จับได้ทันทีเหมือนกัน
    แต่ความผิดที่ว่าซึ่งหน้านั้น จะต้องไม่ใช่ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ต้องเป็นความผิดที่มีโทษสูง เข่น ลักทรัพย์ วิ่งราว ปล้นทรัพย์ ซึ่งความผิดเหล่านี้เขาจะระบุไว้ในกฎหมายว่าเราจับคนร้ายได้ ถ้าคนร้ายมากระทำผิดนั้นๆ ซึ่งหน้าเรา

เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับ
    ขอความช่วยเหลือให้คนที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อช่วยจับกุมคนร้าย หมายความว่า ตำรวจเขาออกหมายจับคนร้าย เช่น คนร้ายลักรถไปแล้ว เขามาขอความช่วยเหลือจากเราที่อยู่ใกล้เคียง ให้ช่วยกันไปออกจับ คนร้าย อย่างนี้ เรามีสิทธิเข้าร่วมกับตำรวจจับกุมคนร้ายนั้นได้ เพราะขณะนั้น เราฐานะเป็นเสมือนหนึ่งผู้ช่วยเจ้าพนักงานแล้ว
    อย่างไรก็ดี การจับกุมก็อาจมีการใช้กำลังได้ เกิดคนร้ายขัดขวางการจับของเราและจะหลบหนี เช่น กอดปล้ำชกต่อยเรา เราก็มีสิทธิจะใช้วิธีหรือการป้องกันเท่าที่เหมาะสมกับพฤติการณ์เข้าจับกุม ได้ เช่น คนร้ายต่อยเรา เราก็มีสิทธิที่จะอัดคนร้ายเพื่อจับคนร้ายได้ ไม่ผิดกฎหมาย

2. ต้องสอบถามบุคคลที่อยู่ใกล้รถเพื่อทราบเบาะแสของคนร้าย
    ตามปกติรถที่เราจอดอยู่ หากไม่เป็นที่ลับตาคนเกินไป ส่วนมากคนที่อยู่บริเวณใกล้ที่จอดรถอยู่มักจะมีคนรู้เห็น สิ่งแรก ต้องตั้งสติให้ดีเสียก่อนเดี๋ยวเป็นลมเป็นแล้งไปก่อนที่จะทันแจ้งความ จากนั้นเราก็รีบสอบถามคนที่อยู่บริเวณนั้นให้ได้ความว่า เห็นคนร้ายรูปร่าง ลักษณะ ตำหนิ รูปพรรณมาเอารถเราไปอย่างไรหรือไม่ และรถนั้นคนร้ายได้ขับไปในทางใด นานเท่าไรแล้ว เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้รีบจดชื่อ ที่อยู่ของพยานคนที่บอกเราไว้ให้ดี เพราะเขาจะเป็นพยานสำคัญของเราเมื่อคดีไปถึงตำรวจ อัยการและศาล เมื่อได้ข้อมูลหรือไม่ได้ข้อมูลก็ต้องรีบดำเนินการในข้อต่อไป

3. แจ้งความต่อตำรวจที่ใกล้ที่สุดด้วยวาจาโดยเร็วที่สุด
    รถหายนั้นถ้าแจ้งตำรวจให้เร็วที่ สุดเพียงใด โอกาสที่จะได้รถคืนก็มีมากที่สุดเท่านั้น เพราะตำรวจมีโอกาส ที่จะสกัดจับ คนร้ายได้รวดเร็วและทันท่วงที การแจ้งตำรวจที่ใกล้ที่สุดนั้น หากเราเห็นตำรวจอยู่บริเวณนั้น หรือที่ใกล้ที่สุดมีตำรวจอยู่ เราก็จะต้องรีบวิ่ง ไปบอก ตำรวจทันที เพราะการที่เราบอกตำรวจด้วยวาจานั้น บางทีเร็วกว่าที่จะโทรศัพท์แจ้งตำรวจอีก และเมื่อตำรวจรับแจ้งแล้ว เขาก็สามารถติดต่อ ศูนย์ปราบปรามโจรกรรมรถได้โดยเร็วกว่าเรา




4. โทรศัพท์แจ้งตำรวจ
    ทางกรมตำรวจได้ตั้งศูนย์ป้องกัน และปราบปรามการโจรกรรมรถขึ้นในกรมตำรวจแล้ว การโทรศัพท์แจ้งความนั้น ถ้าเราจะโทรศัพท์ไปยังสถานีตำรวจ บางทีเราก็หาเบอร์โทรศัพท์สถานีตำรวจไม่พบ หรือโทรศัพท์ บางทีกว่าจะโทรศัพท์ ได้ผลก็กินเวลาถึงครึ่งชั่วโมงก็มี กว่าตำรวจตามสถานีตำรวจจะรู้ คนร้ายก็พารถเราหายไปเป็นชั่วโมงๆ แล้ว เพราะฉะนั้น เพื่อความรวดเร็วฉับพลัน ถ้าในกรุงเทพฯ ควรโทรโดยตรงดังต่อไปนี้
    1) ในกรุงเทพฯ โทรไปยังศูนย์ใหญ่เลย เรียกว่า "ศูนย์ผ่านฟ้า 191" จำไว้ไให้ดีนะครับ "191 ผ่านฟ้า" จดไว้เลยก็ได้กันลืม หรือโทร. 246-1312-8 ( บางทีโทร 191 แล้วไม่ติด)
    2) ถ้ารถหายในเขต บกน.เหนือ คือ กองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือ ก็ให้โทรไปยัง "ศูนย์รามา" โทร 245-071-3
    3) ถ้ารถหายในเขต บกน.ใต้ คือ กองบังคับการตำรวนครบาลใต้ ให้โทร. "ศูนย์นารายณ์" โทร.234-5678
    4) ถ้ารถหายในเขตธนบุรี ให้โทรไปยัง "ศูนย์ บกน.ธน." คือ กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี โทร. 413-1653-6
    5) ศูนย์ป้องกันปราบปรามโจรกรรมรถยนต์ และจักรยานยนต์กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปร.น.) โทร.245-6951, 245-9059
    ส่วนรถที่อยู่ในต่างจังหวัด ท่านก็รีบติดต่อโทรศัพท์ไปยัง สถานีตำรวจและกองกำกับการต่างๆ และหากจะโทร ประสานงานมายังศูนย์ที่กรุงเทพฯ - ธนบุรี ดังกล่าวด้วยก็จะเป็นการดี ตำรวจเขาจะได้ประสานงานกับ ท้องที่ที่เกิดเหตุ ได้ทันการณ์

5. ต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถให้ถูกต้องและรวดเร็ว
    ดังที่ได้เคยบอกมาแล้วว่า รายละเอียดตำหนิ รูปพรรณเกี่ยวกับรถของเรานั้น เราจะต้องจดไว้ประจำตัวตลอดเวลา เพื่อนำออกมาใช้ในยามฉุกเฉิน สมมุติว่าเราบันทึกไว้ในสมุดส่วนตัวของเราว่า " รถโตโยต้า โคโรน่า สีขาว รุ่น อาร์ที ทะเบียน 9 จ-777 กทม. หมายเลขเครื่อง 6 ดี-326782 หมายเลขตัวถึง 3 เอ็ม-4215723-64 ตำหนิกันชนท้ายด้านขวาบุบ กระโปรง หน้าด้านซ้ายมีรอยขีดข่วน ยาว 2 เซนติเมตร ผ้าบุหลังคารถตรงหัวคนขับมีรอยถูกกรีด ที่ป้ายวงกลมมีรอยเปื้อน น้ำหมึก 2 จุด..." บันทึกฉบับนี้นักเลงรถทั้งหลายควรจะบันทึกติดตัวไว้ตลอดเวลา สามารถเอาออกมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ทันท่วงที
    พอรถเราหาย แทนที่เราจะมามัวนึกกว่ารถเรามีตำหนิที่ไหน หมายเลขเครื่องเท่าไร หมายเลขตัวถังเท่าไร ก็พอดีคนร้ายเอารถหลบหนีไปแล้ว เพราะฉะนั้นพอเรารู้ว่ารถหายปั๊บ เราก็ควักเอาสมุดบันทึกรายละเอียดรถของเราออกมาทันที พร้อมกับอ่านข้อความที่เราจดไว้ให้ตำรวจทันที ตำรวจจะจดรายละเอียดของข้อมูลได้ทันควัน แล้วรีบแจ้งข้อมูล ให้ตำรวจในเครือข่ายดักจับคนร้ายอย่างรวดเร็ว วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยตำรวจได้ดีที่สุด เพราะแม้ไอ้โจรมันจะเปลี่ยนป้ายทะเบียน ตำหนิรถ และเลขเครื่องรถ ก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ยากที่โจรจะหลุดมือไปได้ถ้าตำรวจค้นรถให้เรา

6. ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
    การไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนั้น จะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่รถหายในเขตอำนาจของสถานีตำรวจนั้นๆ และจะต้องนำหลักฐานดังต่อนี้ไปด้วย
    (1) บัตรประจำตัว
    (2) ใบสำมะโนครัว (ทะเบียนบ้าน)
    (3) บัตรประจำตัวข้าราชการ
    (4) หนังสือเดินทาง พาสปอร์ตสำหรับชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ
    (5) ถ้าไปแจ้งความแทนคนอื่นที่เป็นเจ้าของรถ ให้มีใบมอบอำนาจเจ้าของรถให้ไปแจ้งความด้วย
    (6) ถ้าเป็นผู้แทนผู้เยาว์หรือไร้ความสามารถ ก็ให้เตรียมใบสำคัญ แสดงการเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ หรือใบสำคัญแสงการเป็นผู้อนุบาล ของผู้ไร้ความสามารถ ตามคำสั่งศาลติดตัวไปด้วย
    (7) ใบคู่มือประจำรถ เอกสารประจำรถ ใบทะเบียนรถ
    (8) หากเป็นรถผ่อนส่ง ก็ให้นำสัญญาเช่าซื้อติดตัวไปด้ว
    (9) ให้ภาพถ่ายรถให้แก่ตำรวจไว้ ถ้ามีภาพถ่ายรถของเราหลายๆ ภาพเป็นภาพสีให้กับตำรวจไว้จะเป็นการดีมาก เพราะภาพถ่ายย่อมมีรายละเอียดมากกว่าคำอธิบายตั้งหลายเท่า
    การแจ้งความนั้นควรที่จะให้รายละเอียดอย่างดี ที่สุดแก่ตำรวจ และอย่าลืมว่าหากท่านได้จดชื่อ- ที่อยู่ของพยาน ที่รู้เห็นเหตุการณ์ ก็ให้รายละเอียดนั้นแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย

7. เมื่อแจ้งความแล้ว ควรขอคัดสำเนาการแจ้งความจากตำรวจไว้เป็นหลักฐาน
    ตามธรรมดาผู้แจ้งความย่อมมีสิทธิที่จะขอคัด ข้อความไว้เลย เพื่อที่จะได้เก็บรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีที่มีการยึด รถคืนได้ หรือเราไปพบรถของเราที่ใด เราจะได้นำสำเนาแจ้งความนั้นให้ตำรวจในเขตที่ยึดรถได้ดูเป็นหลักฐาน จะได้สะดวกในการรับคืนในภายหลัง





ผู้แต่ง / แหล่งที่มา : นิตยสาร รถ Weekly  
 ผู้บันทึก : กองบรรณาธิการ
date : [ 13 พ.ย. 2556 ]
 


 
 

 
 

 
 

 
 

 
 

 
 
สาระน่ารู้
ข่าวรถมือสอง
เทคนิคเลือกยางเพื่อรถคู่ใจ ดูที่อะไรคุ้มสุด

ข่าวรถมือสอง
รถเปลี่ยนมือ อย่าลืมเปลี่ยนสิทธิ์ 5 เรื่องควรรู้ เพื่อปลดหนี้อย่างปลอดภัย

ข่าวรถมือสอง
คู่มือดูแลยางรับหน้าฝน: ดูแลยางอย่างไรให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยและอุ่นใจ

ข่าวรถมือสอง
CARS24 แนะนำ 6 รถครอบครัวรุ่นฮิต ผ่อนเริ่มต้น 10,000 บาท

ข่าวรถมือสอง
ประโยชน์ของชุดปะยางฉุกเฉิน

ข่าวรถมือสอง
นิสสัน เทอร์ร่า แชร์เคล็ดลับการเดินทางกับเด็กเล็ก เคล็ดลับการเดินทางที่รับประกันว่าจะทำให้ทั้งครอบครัว

ข่าวรถมือสอง
7เหตุผลที่ลูกค้าเลือกใช้ มิตซูบิชิ ไทรทัน

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดแนะเคล็ดลับขับขี่ปลอดภัยในเวลากลางคืน

ข่าวรถมือสอง
5 ฟีเจอร์ในรถฟอร์ดเอเวอเรสต์ผู้ช่วยของสุดยอดคุณแม่

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดเผย 5 เคล็ด(ไม่)ลับของการขับออฟโรด

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดแนะนำ4เคล็ดลับการรักษาสีรถให้เหมือนใหม่

ข่าวรถมือสอง
ไบค์เกอร์เท่านั้นที่รู้! เปิด 5 เหตุผล ทำไมไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ ถึงเป็นพรีเมียมบิ๊กไบค์ ที่ใครๆ ก็อยาก

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดแนะเทคนิคขับรถทางไกลให้ประหยัดน้ำมัน

ข่าวรถมือสอง
5 วิธีขับรถลุยน้ำอย่างปลอดภัย

ข่าวรถมือสอง
แอร์รถสะอาด สำคัญกว่าที่คิด

   
   
 
   
 
 
 
 
ขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด
   Copyright © 2013 :By media ltd.