จำนวนผู้เข้าชม : 934 ครั้ง
End Page
 
 
ย่างก้าว...บนทางสายกลาง ปลายทางยุติความขัดแย้ง

สังคมไทยช่วงนี้ดูวุ่นวาย เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เพราะต่างคนต่างมีความคิดที่มองกันไปคนละทาง หากเป็นอย่างนี้ต่อไปคงหาความสงบสุขได้ยาก ถ้าไม่รู้จักหันมาเดินบน ทางสายกลาง!!

รศ.ดร.สุรสิทธิ์ วชิรขจร คณะพัฒนา สังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวถึงการดำเนินชีวิตบนทางสายกลางว่า คำว่า ทางสายกลาง ฟังแล้วเหมือนทำง่าย ถ้ามองแบบง่าย การทำดีครึ่งหนึ่งและทำไม่ดีครึ่งหนึ่ง เรียกว่า เป็นสายกลางได้หรือไม่ ทำให้คำนี้หลายคนยังเข้าใจความหมายไม่ชัดเจน ว่าหมายความอย่างไรกันแน่

แม้แต่หลักธรรมทางศาสนาที่เรียกว่า มรรค 8 บางทีพระก็ให้ความหมายที่หลาย ๆ คนยังสับสน เช่น เลี้ยงชีพชอบ มีดำริชอบ เจรจาชอบ คำว่า ชอบ อาจจะยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร ส่งผลทำให้คนยังไม่รู้ว่านี่คือวิถีแห่งทางสายกลางที่เรียกทางธรรมว่า “มัชฌิมาปฏิปทา” ทำให้คนที่ฟังสับสนกับการนำมาใช้ในชีวิตทางโลก ไม่รู้ว่าชอบคือชอบแบบไหน ชอบแค่ไหน หรือชอบอย่างไร ใครชอบหรือใครไม่ชอบ ทำให้คนที่ฟังบางคนนำมาปฏิบัติได้ยาก

สำหรับการรับข้อมูลข่าวสาร แหล่งข้อมูลข่าวสารที่เราดู ที่เราอ่าน บางสื่อ บางช่อง ก็นำเสนอสุดโต่งในอุดมการณ์ใดอุดมการณ์หนึ่งเกินไป โดยมีคนบางกลุ่มเลือกรับแต่ข่าวสารข้อมูลของคนกลุ่มเดียว ด้านเดียว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งก็เลือกรับแต่ข่าวสารของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกัน ซึ่งหากมาดูที่เนื้อหาข้อมูลก็จะพบว่า มีการบิดเบือนทั้ง 2 แหล่ง ที่เห็นชัด คือ เรื่องราวเดียวกันแต่การนำเสนอของ 2 แหล่งไม่เหมือนกัน

“ถ้าเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงในการรับข้อมูลข่าวสารที่มุ่งไปทางใดทางหนึ่งเพียงทางเดียว เพราะข้อมูลที่ได้จะบิดเบือน ไม่เป็นความจริง ควรเลือกรับข้อมูลจากช่องทางที่น่าเชื่อถือและมีความเป็นจริงสูง เสนอข้อมูลทั้ง 2 ด้าน หรือถ้าจะรับข่าวสาร ไม่ควรรับฟังเพียงด้านเดียว ช่องเดียว เพราะจะทำให้เกิดทุกข์ ซึ่งทุกข์ที่เกิดมานั้นเราเป็นคนเอาทุกข์ใส่ตัวเราเองแล้วก็มานั่งยึดว่านี่คือตัวกู พวกกู กลุ่มกู และยิ่งถ้าไม่ได้อย่างที่ต้องการก็จะเกิดความเสียใจ ทุกข์หนักขึ้นไปอีก ซึ่งถ้ามองในหลักประชาธิปไตยก็ไม่ถูกต้อง เพราะหลักประชาธิปไตยนั้นต้องมีแพ้มีชนะเป็นเรื่องปกติธรรมดา”

หากจะพูดถึงการดำเนินชีวิตบนเส้นทางสายกลางที่เข้าใจง่าย ๆ และปฏิบัติ ได้ ก็คือ เรื่องของหน้าที่ โดยทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มความรู้ความสามารถ แค่นี้ยังไม่พอ จะต้องถูกต้องและเป็นประโยชน์ด้วย

คำว่า หน้าที่ ถ้าศึกษาทางหลักศาสนาจะตรงกับคำว่า ธรรมะ โดยประเทศอินเดียในสมัยพุทธกาลจะใช้คำว่าธรรมะซึ่งก็คือหน้าที่ หรือหน้าที่ก็คือธรรมะ แม้แต่พระพุทธเจ้าก่อนที่จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า พระองค์ก็มานั่งทบทวนดูว่า จากนี้ต่อไปพระองค์จะเคารพอะไร แล้วที่สุดพระองค์ก็คิดได้ว่าจะต้องเคารพธรรมะซึ่งก็คือหน้าที่นั่นเอง ถ้าทุกคนยึดหน้าที่ของตนเอง ทำอย่างเต็มความรู้ความสามารถด้วยความถูกต้องและเป็นประโยชน์ ปัญหาทางสังคมและปัญหาบ้านเมืองจะไม่มีหรือเกิดขึ้นน้อยลง เพราะถ้าไม่ทำตามหน้าที่ของตนก็จะส่งผลกระทบถึงผู้อื่น

สำหรับเป้าหมายของการทำหน้าที่ หลัก ๆ คือ ทำให้เต็มความสามารถ ถูกต้อง และเป็นประโยชน์ หากมองให้ลึกลงไป การทำหน้าที่มีตั้งแต่หลักพื้นฐาน คือ เพื่อความอยู่รอด ไม่ใช่เฉพาะมนุษย์ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างต้องทำตามหน้าที่เพื่อความอยู่รอด เมื่อมองมาที่มนุษย์ก็จะมุ่งไปที่ปัจจัย 4 คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ในส่วนของอาหาร คนหิวก็ต้องกิน สัตว์ พืชก็เช่นกัน ต้องหาอาหาร ถ้าเราไม่ทำหน้าที่นี้เราก็ตาย ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ได้

ที่อยู่อาศัย เพราะคนเราไม่ได้มีที่อยู่อาศัยกันง่าย ๆ ต้องทำหน้าที่เพื่อให้มีที่อยู่อาศัย มาที่เครื่องนุ่งห่ม เมื่ออากาศเริ่มเย็นก็ต้องหาเสื้อแขนยาวมาสวมใส่ หาผ้าห่มมาห่ม ถ้าเราไม่ทำหน้าที่เราก็จะป่วย และเมื่อป่วยเราก็ต้องไปที่ยารักษาโรค ต้องไปหายามากินเพื่อรักษาโรคที่เป็นให้หายและสามารถกลับมาดำรงชีวิตอยู่ได้ สิ่งเหล่านี้คือเป้าหมายของคำว่า หน้าที่พื้นฐาน เป็นเป้าหมายหลักสำคัญอันดับแรกของมนุษย์

เป้าหมายต่อมาคือ ถูกต้อง ชอบธรรม ตรงนี้คือปัญหาหลักที่ทำให้บ้านเมืองเกิดความแตกแยก เช่น บางอาชีพมีการรับเงิน รีดไถ ซึ่งเขาก็ปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม หรือข้าราชการ มีหน้าที่คือการให้บริการประชาชน แต่บางคนบางเรื่องขาดความถูกต้อง ชอบธรรม รวมถึงนักการเมือง ทำหน้าที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ปัญหาคอร์รัปชั่นจึงเกิดขึ้นให้เห็นบ่อยครั้ง จนบางครั้งเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นมาอีกด้วย

เป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เป็นประโยชน์ทั้งของตนเองและผู้อื่น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าทำหน้าที่แล้วไม่ให้เกิดประโยชน์กับตนเอง แต่เมื่อเกิดประโยชน์กับตนเองแล้วผู้อื่นก็ต้องไม่เดือดร้อน เมื่อตนเองพรั่งพร้อมก็ต้องทำประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย เพราะถ้าไม่พร้อมก็กลายเป็นสร้างภาระให้ตนเอง ก่อให้เกิดความเดือดร้อนตามมาได้ ฉะนั้นทำตนเองให้พร้อมก่อนแล้วค่อยช่วยเหลือผู้อื่น

ส่วนคนที่มองแต่ประโยชน์ของตนเอง ให้แต่ตัวเองเพียงคนเดียว คนกลุ่มนี้ถือว่าทำหน้าที่บกพร่อง เป็นการยึดตัวเองมากเกินไป คนกลุ่มนี้ยังมีมิจฉาทิฐิ คือ ยึดเชื่อในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เอามาเป็นของตนเองหมดโดยไม่คิดว่าวันหนึ่งเราก็ต้องตาย ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ คนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจในเรื่องของไตรลักษณ์ อันประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยอนิจจัง คือ ทุกอย่างในโลกนี้ไม่เที่ยง ไม่รู้ว่าเราจะเป็นอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร ทุกขัง หมายความว่า เมื่อไม่เที่ยงแล้วมันก็จะทนอยู่ไม่ได้ด้วย เช่น เรามีบ้าน มีรถ สมบัติทั้งหลาย วันหนึ่งมันก็ต้องหายไป จากไป ซึ่งจะทำให้เกิดทุกข์ สุดท้ายอนัตตา คือ ไม่มีอะไรที่เหลืออยู่ได้ ต้องสูญต้องหายไปหมดแม้แต่ชีวิตเรา

จึงเห็นได้ว่าการปฏิบัติตามทางสายกลาง คือ ยึดหน้าที่ของตนเองให้ครบทั้งในเรื่องของความอยู่รอด ความถูกต้องชอบธรรมและเป็นประโยชน์ ถ้าเราทำตามหน้าที่อย่างเต็มที่ เต็มความรู้ความสามารถ ถูกต้องและเป็นประโยชน์ เราก็จะมีความคิดที่ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างแน่นอน

ศาสนาพุทธอยู่กับประเทศไทยมาช้านาน แต่บ่อยครั้งผู้เกี่ยวข้องในทุก ๆ ฝ่ายไม่ได้ใช้สิ่งที่ดี สิ่งที่เป็นประโยชน์ นั่นก็คือพุทธศาสนา ให้เกิดประสิทธิภาพขึ้นมา คงเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาทบทวนพิจารณากันใหม่ ย้อนดูว่าควรเอาหลักธรรมในศาสนามาใช้ในชีวิตประจำวันให้มากขึ้น นั่นก็คือหน้าที่ของฝ่ายเผยแพร่ที่ต้องพยายามให้มากขึ้น เพราะถ้าเอาคำบาลีมาพูดหรือมาสอน โอกาสที่คนจะเข้าใจคงมีน้อย ควรจะนำคำพูดที่เข้าใจง่ายมาสอน มาอธิบายเพื่อให้คนสัมผัสได้ จะช่วยให้สังคมไทยของเรามีความขัดแย้งน้อยลง และคนในประเทศก็จะมีความสุขมากขึ้น.

“การดำเนินชีวิตบนเส้นทางสายกลางที่เข้าใจง่าย ๆ และปฏิบัติได้ ก็คือ เรื่องของหน้าที่ โดยทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้เต็มความรู้ความสามารถ แค่นี้ยังไม่พอ จะต้องถูกต้องและเป็นประโยชน์ด้วย”




ทางสายกลางตามหลักพระพุทธศาสนา

ทางสายกลาง หมายถึง ทางที่ยึดความพอดีหรือความสมดุล หรือเรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา ได้แก่ อริยมรรคมีองค์แปด หรือ มรรค 8 หมายถึงข้อปฏิบัติ 8 ประการ คือ

สัมมาทิฐิ คือ ความเห็นชอบ เช่น เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

สัมมาสังกัปปะ คือ ความดำริชอบ ได้แก่ คิดที่จะไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น คิดที่จะไม่พยาบาทอาฆาตผู้อื่นและคิดที่จะไม่เบียดเบียนใครให้เดือดร้อน

สัมมาวาจา คือ การเจรจาชอบ หมายถึง การพูดจาที่เว้นจากลักษณะของการพูดชั่ว 4 ประการ ได้แก่ การพูดเท็จ การพูดส่อเสียด การพูดคำหยาบ และการพูดเพ้อเจ้อไร้สาระ

สัมมากัมมันตะ คือ การทำงานชอบ หมายถึง การประพฤติหรือการทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเว้นจากการประพฤติชั่วทางกาย 3 ประการ คือ การฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ และการประพฤติผิดในกาม

สัมมาอาชีวะ คือ การเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการเลี้ยงชีพในทางที่ผิด เช่น การหลอกลวงเขากิน การปล้นเขา การค้ายาเสพติด เป็นต้น

สัมมาวายามะ คือ ความเพียรพยายามชอบ หมายถึง ความเพียรพยายามทำในสิ่งที่ถูกต้อง ได้แก่ ระมัดระวังตนมิให้ทำความชั่ว เพียรพยายามละความชั่วที่เกิดขึ้นในตน

สัมมาสติ คือความระลึกชอบ หมายถึง การตั้งสติกำหนดพิจารณาให้เห็นสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏตามสภาพความเป็นจริง

สัมมาสมาธิ คือความตั้งใจมั่นชอบ ได้แก่ การตั้งจิตแน่วแน่อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยชอบ



ผู้แต่ง / แหล่งที่มา : นิตยสารรถ Weekly  
 ผู้บันทึก : กองบรรณาธิการ
date : [ 06 ก.พ. 2557 ]
 


 
 

 
 

 
 

 
 

 
 

 
 
สาระน่ารู้
ข่าวรถมือสอง
เทคนิคเลือกยางเพื่อรถคู่ใจ ดูที่อะไรคุ้มสุด

ข่าวรถมือสอง
รถเปลี่ยนมือ อย่าลืมเปลี่ยนสิทธิ์ 5 เรื่องควรรู้ เพื่อปลดหนี้อย่างปลอดภัย

ข่าวรถมือสอง
คู่มือดูแลยางรับหน้าฝน: ดูแลยางอย่างไรให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยและอุ่นใจ

ข่าวรถมือสอง
CARS24 แนะนำ 6 รถครอบครัวรุ่นฮิต ผ่อนเริ่มต้น 10,000 บาท

ข่าวรถมือสอง
ประโยชน์ของชุดปะยางฉุกเฉิน

ข่าวรถมือสอง
นิสสัน เทอร์ร่า แชร์เคล็ดลับการเดินทางกับเด็กเล็ก เคล็ดลับการเดินทางที่รับประกันว่าจะทำให้ทั้งครอบครัว

ข่าวรถมือสอง
7เหตุผลที่ลูกค้าเลือกใช้ มิตซูบิชิ ไทรทัน

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดแนะเคล็ดลับขับขี่ปลอดภัยในเวลากลางคืน

ข่าวรถมือสอง
5 ฟีเจอร์ในรถฟอร์ดเอเวอเรสต์ผู้ช่วยของสุดยอดคุณแม่

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดเผย 5 เคล็ด(ไม่)ลับของการขับออฟโรด

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดแนะนำ4เคล็ดลับการรักษาสีรถให้เหมือนใหม่

ข่าวรถมือสอง
ไบค์เกอร์เท่านั้นที่รู้! เปิด 5 เหตุผล ทำไมไทรอัมพ์ มอเตอร์ไซเคิลส์ ถึงเป็นพรีเมียมบิ๊กไบค์ ที่ใครๆ ก็อยาก

ข่าวรถมือสอง
ฟอร์ดแนะเทคนิคขับรถทางไกลให้ประหยัดน้ำมัน

ข่าวรถมือสอง
5 วิธีขับรถลุยน้ำอย่างปลอดภัย

ข่าวรถมือสอง
แอร์รถสะอาด สำคัญกว่าที่คิด

   
   
 
   
 
 
 
 
ขายบ้าน ขายที่ดิน ขายคอนโด
   Copyright © 2013 :By media ltd.