|
รถ 1 คันเสียภาษีอะไรบ้าง
สำหรับแนวทางการปรับปรุงโครงสร้างภาษีรถยนต์ตัวใหม่ กระทรวงการคลังกำหนดจัดเก็บจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แทนของเดิมที่เก็บจากปริมาตรกระบอกสูบ เหตุผลใหญ่ก็เพราะปัจจุบันโครงสร้างภาษีเดิมมีอัตราเยอะมาก มากถึง 43 อัตรา ไม่ชัดเจน ไม่เป็นธรรม และไม่เร้าใจในแง่ของการลงทุน โครงสร้างใหม่เลือกจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ตามปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ใครปล่อยเยอะก็เสียมาก ทำให้ค่ายรถยนต์ต้องพัฒนารถยนต์ของตัวเองให้รักษ์โลกกันมากที่สุด เพื่อทำต้นทุนให้ต่ำ ส่วนอัตราเบื้องต้นกำหนดหากปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 150 กรัม/กม. จะเสียภาษีเท่าเดิม แต่หากปล่อยเกินกว่านี้จะเสียภาษีเพิ่มอีก 5% และให้เวลาค่ายรถยนต์ได้มีเวลาเตรียมตัวประมาณ 3 ปี ทั้งหมดเชื่อว่าหากคำนวณภาษีจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ น่าจะลดคาร์บอนฯในบ้านเราได้ถึง 4 หมื่นตันต่อปี ส่วนภาษีที่ได้จากผู้ผลิตรถยนต์รัฐเอาไปไว้ที่ไหน? เชื่อว่าทุกคนรู้ดีว่า นำไปใช้เพื่อการพัฒนาประเทศ ขณะที่ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วยเช่นกัน ตอนนี้ผมนำข้อมูลว่ารถ 1 คันที่ซื้อ...เราจ่ายภาษีกันเท่าไร? มาฝากโดยกรมสรรพสามิตเขาชี้แจ้งให้เห็นอย่างละเอียด ทั้งรถนำเข้าและรถที่ผลิตในประเทศ โครงสร้างการคิดภาษีรถยนต์ในประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้ - กรณีที่ 1 รถนำเข้าสำเร็จรูปจากต่างประเทศ การคิดภาษีสำหรับรถนำเข้านั้น จะคิดจากราคา CIF (Cost+Insurance+Freight) ซึ่งก็คือ ราคาขายของรถบวกด้วยค่าอากร ค่าประกันภัย และค่าขนส่งจากต่างประเทศ มาถึงที่ท่าเรือที่ประเทศไทย ราคา CIF นี้จะถูกระบุไว้ในเอกสารการนำเข้า ในที่นี้สมมติให้ราคา CIF เท่ากับ 100 บาท ภาษีที่ต้องจ่ายจะประกอบไปด้วย 1.1 อากรขาเข้า ภาษีแรกที่ผู้นำเข้าต้องจ่าย ณ ท่าเรือก่อนนำรถออกจากท่าเรือเข้ามาในประเทศ ในอัตรา 80% ของราคา CIF ซึ่งเท่ากับ 80 บาท 1.2 ภาษีสรรพสามิต ซึ่งกรมศุลกากรจะเก็บภาษีนี้พร้อมกับอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิตนี้จะถูกเก็บในอัตราต่างกันตั้งแต่ 30-50% ขึ้นอยู่กับความจุกระบอกสูบ หรือขนาดเครื่องยนต์ เช่น รถยนต์ขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี ที่ถูกจัดเก็บในอัตรา 30% ของราคา CIF รวมกับภาษีอากรขาเข้า โดยใช้สูตรการคำนวณการจัดเก็บ ที่เรียกว่า "ฝังใน" คือ = ((100+80)x30%) 1 - (1.1x30%) 1.3 ภาษีมหาดไทย ชื่อภาษีมีที่มาจากภาษีที่เก็บได้นี้ถูกนำไปบริหารประเทศโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งภาษีมหาดไทยจะคิดที่อัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทย 1.4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ในอัตรา 7% ของราคา CIF+อากรขาเข้า+ภาษีสรรพสามิต+ภาษีมหาดไทย ซึ่งเมื่อรวมภาษีทั้ง 4 ชนิดเข้าด้วยกันแล้ว จากราคารถสมมติที่ 100 บาท จะกลายเป็น 287.5-428.0 บาท (ขึ้นอยู่กับความจุกระบอกสูบ) ซึ่งมูลค่าดังกล่าวนี้ยังไม่รวมอัตรากำไร และค่าดำเนินการอื่น ๆ ของบริษัทผู้จำหน่าย ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะเห็นรถราคา 1 ล้านในเมืองนอกมาขายที่บ้านเราในราคา 3-4 ล้านบาท เพราะภาระภาษีมันสูงเช่นนี้นี่เอง - กรณีที่ 2 รถที่ผลิตในประเทศไทย ผู้ผลิตจะนำชิ้นส่วนรถยนต์เข้ามาจากต่างประเทศเป็นบางรายการ 2.1 อากรขาเข้า จะถูกจัดเก็บตามอัตราที่กรมศุลกากรกำหนด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดหรือพิกัดของชิ้นส่วนนั้น ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 30% ของราคา CIF ถ้าใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศทั้งหมดก็จะไม่เสียภาษีในส่วนนี้ 2.2 ภาษีสรรพสามิต (อันนี้นี่แหละที่เขาจะคืนให้สำหรับรถคันแรก) จะถูกจัดเก็บอัตราเดียวกับการนำเข้ารถทั้งคันจากต่างประเทศ โดยคำนวณจากราคาหน้าโรงงาน และกรมสรรพสามิตจะพิจารณารับราคาหน้าโรงงานนี้ไม่ต่ำกว่า 76% ของราคาขายปลีกที่ขายให้กับผู้บริโภค คือ ถ้าราคาขายปลีกอยู่ที่ 100 บาท (รถยนต์ไม่เกิน 2,000 ซีซี) ก็จะใช้ราคาหน้าโรงงานที่ 76 บาทมาคำนวณตามสูตร "ฝังใน" เพื่อให้ได้ภาษีสรรพสามิต 2.3 ภาษีมหาดไทย คิดที่อัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งให้กระทรวงมหาดไทย 2.4 ภาษีมูลค่า เพิ่ม 7% กรมสรรพากรเป็นผู้จัดเก็บ เหมือนกรณีที่ 1 สมมติให้รถขนาดไม่เกิน 2,000 ซีซี ราคารถหน้าโรงงานอยู่ที่ 100 บาท ภาษีสรรพสามิตก็จะอยู่ที่ 80.60 บาท บวกด้วยภาษีมหาดไทย 8.1 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 13.2 บาท ก็จะได้ราคาขายปลีกเท่ากับ 201.9 บาท หรือถ้าคิดในมุมกลับภาษีรวมของรถที่ผลิตในประเทศจะมีมูลค่าประมาณ 40-70% ของราคาขายปลีก ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องยนต์ ยิ่งปริมาตรกระบอกสูบมาก มูลค่าภาษีก็จะสูงตาม ตัวอย่างเช่น ถ้าซื้อรถที่ผลิตในประเทศ เครื่องยนต์ 1,800 ซีซี ในราคา 7 แสนบาท หมายความว่า เราได้จ่ายภาษีให้รัฐประมาณ 2.8-3 แสนบาท ในขณะที่ภาษีรวมของรถนำเข้าจะคิดจากราคาขายปลีกไม่ได้ เพราะยังไม่ได้รวมกำไรและค่าดำเนินการของผู้นำเข้า ฉะนั้นต้องคิดจากราคาทุน ซึ่งจะมีมูลค่าภาษีอยู่ที่ประมาณ 200-300% ของราคาต้นทุน
ผู้แต่ง / แหล่งที่มา :
นิตยสารรถ Weekly
ผู้บันทึก :
กองบรรณาธิการ
date : [ 15 ส.ค. 2557 ]
|
|
|