ช่วงนี้ที่ฝนตกบ่อบ คงต้องยอมรับว่า เราคงเข้าสู่หน้าฝนกันแล้วอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะเมื่อเราหลายคนต้องขับขี่รถยนต์ท่ามกลางสายฝนฝ่าฟันไปยังปลายทาง เรื่องราวการขับขี่รถในหน้าฝนนั้น ก็มีหลายอย่างที่น่ารู้อย่างมาก และหนึ่งในนั้น เชื่อว่าหลายคนคงผ่านประสบการณ์ในการขับขี่ระหว่างฝนตก ที่ต้องเผชิญกับแอ่งน้ำต่างๆจากสภาพถนนเมืองไทยที่ไม่อำนวย น้อยคนนักจะรู้จักคำเรียกเวลาที่คุณขับรถลงแอ่งน้ำระหว่างใช้ความเร็ว แต่สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนี้เรียกว่า “อาการเหิรน้ำ” ซึ่งเกิดจากการขับขี่ของคุณเองในหน้าฝน ไม่ว่าจะระมัดระวังหรือไม่ แต่เมื่อฝนตกน้ำขังแล้วคุณใช้ความเร็วเหยียบลงไปบนแอ่งน้ำ ก็จะมีโอกาสสูงมาก ที่คุณจะพบว่ารถมีการลื่นหรือ ส่อแววว่าลื่น ในหลายๆครั้งที่ใช้ความเร็วมากไป หรือเจอแอ่งน้ำลึกเกินไป อาจจะส่งผลที่มีแรงขึ้นมาถึงพวงมาลัย บางครั้งอาจจะทำให้รถยนต์เสียการควบคุมและนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ในท้ายที่สุด
เรื่องของอาการเหิรน้ำนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะตามหลักทั่วไป เมื่อพื้นมีน้ำขังหรือมีความชื้นอยู่ในระดับหนึ่ง มันจะมีคุณสมบัติเป็นฟิล์มชั้นนอก เคลือบพื้นผิวจริงเอาไว้ และทำให้ผิวสัมผัสที่ยึดเกาะระหว่างพื้นผิวนั้นมีแรงยึดเหนี่ยวน้อยลงตามไป ในกรณีรถยนต์สิ่งที่พูดถึงนี้ก็คือการยึดเกาะถนนระหว่างยางกับผิวถนน ซึ่งจะมีการเกาะถนนน้อยลง เมื่อผิวถนนชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำฝน และไม่ว่าหนทางใดก็ตามที่เปียกนั้น การยึดเกาะของดอกยางกับผิวถนนก็น้อยลง แม้ว่าจะมีคำโฆษณาต่างๆนานา ว่ายางชั้นดีรีดน้ำได้เยี่ยมก็ตามที การรีดน้ำของหน้ายางนั้นเกิดการออกแบบของผู้ผลิตยางที่พยายามจะทำให้หน้ายางสามารถกวาดน้ำออกจากพื้นผิวผ่านร่องยางเพื่อทำให้ในเวลาที่ขับผ่านบนถนนที่เปียกหรือมีน้ำ หน้ายางจะยึดเกาะติดกับถนนได้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่ให้มีความมั่นใจมากขึ้น แต่แม้ยางจะมีประสิทธิภาพดีแค่ไหนมีสมรรถนะสูงแค่ไหน การขับขี่รถด้วยความเร็วนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ ประสิทธิภาพในการรีดน้ำยังคงทำงานเต็ม 100 เมื่อคุณขับมันไปบนถนน
สิ่งที่ต้องคำนึงเป็นสำคัญในการที่คุณอาจจะหรือจะต้องเผชิญกับอาการเหิรน้ำ เมื่อเจอแอ่งน้ำ ก็มีหลายประการ ตั้งแต่ลักษณะแอ่งน้ำที่เจอ ประกอบไปด้วยระยะทาง แต่ที่สำคัญกว่าคือความลึกของแอ่งน้ำนั้นๆ ที่จะมีผล ต่ออาการของรถเมื่อลงไป โดยเฉพาะ ถ้า คุณต้องลงน้ำเพียงด้านใด ด้านหนึ่ง จะมีโอกาสมากที่แรงดึงของน้ำที่ทำกับยางจะทำให้พวงมาลัยเสียการควบคุม จึงควรจับพวงมาลัยให้แม่น ต่อมาที่ต้องคำนึงไม่แพ้กันคือความเร็วในการขับขี่ ว่าคุณมาด้วยความเร็วเท่าไร และควรจะประมาณการความเร็วให้ถูกต้อง ก่อนที่จะมั่นใจจนกล้าลงไปแอ่งน้ำนั้น แต่หากจำเป็นต้องลดความเร็วในช่วงการขับขี่หน้าฝน จงจำไว้ว่า การเบรกแรงๆ มีผลทำให้รถมีอาการลื่นไถลได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะรถที่ไม่มีระบบเบรกป้องกันล้อล็อค หรือ ABS เพราะการเหิรน้ำนั้นเกิดขึ้นตอนเวลาที่คุณขับบนถนนเปียกตลอดเวลาไม่ใช่เพียงแค่ตอนที่คุณลงแอ่งน้ำเท่านั้น แค่เวลาลงแอ่งน้ำ จะรู้สึกได้มากกว่า
และท้ายสุดปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้คงไม่พ้น สภาพยางที่ใช้ไม่ว่าจะเป็นแบบยางที่คุณใช้ในรถ หรือ ลักษณะดอกยาง โดยเฉพาะยางยิ่งความลึกของดอกยางมีส่วนช่วยได้มากในการรีดน้ำ หากยางอยู่ในสภาพดอกใกล้หมดจะทำให้มีประสิทธิภาพในการรีดน้ำที่แย่ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไม บริษัทยางจึงใช้โอกาสในช่วงหน้าฝนมาเตือนคุณเรื่องยางเก่า เพื่อพวกเขานั้นจะได้ขายสินค้าได้มากขึ้น แต่อีกแง่ ก็เป็นข้อดีที่คุรจะได้ใช้โอกาสนี้ในการเลือกคบยางดีมีคุณภาพ ราคาถูก การขับรถลงแอ่งน้ำในหน้าฝนนั้นทำได้ เพียงแต่ต้องรู้และประเมินสถานการณ์ให้เป็น และขับอย่างเข้าใจ แต่ไม่ว่าอย่างไร จงจำไว้ว่า อาการเหิรน้ำนั้นเป็นไปได้ทุกครั้งที่คุณขับรถผ่านถนนที่เปียกน้ำ และในฤดูฝนที่ถนนฉ่ำแฉะเช่นนี้ก็ไม่ควรประมาท ในระหว่างการขับขี่