จำนวนผู้เข้าชม : 381 ครั้ง
End Page
 
 
อุตสาหกรรมรถ 1.3 ล้านล้านกระอัก ค่าบาทแข็งฉุดยอดส่งออก หวั่น"อีโคคาร์เฟส2"ไม่รุ่ง

วิบากกรรมอุตสาหกรรมรถยนต์ เศรษฐกิจใน ปท.กระทบหนัก ค่ายรถเชื่อ 6 เดือนแรกยังไม่ฟื้น ส่งออกป่วนเจอพิษบาทแข็ง หวั่นตัวเลขไม่เข้าเป้าผู้ประกอบการเร่งปรับตัว จับตา "จีเอ็ม" ถอนลงทุนไทย ลดพนักงาน 30% คาดหลายค่ายถอยอีโคคาร์ 2

อุตสาหกรรมรถยนต์ที่ ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งยอดขายใน ปท.และปริมาณการผลิตที่ลดลง ยังคงน่าจับตามองอย่างใกล้ชิด แม้หลายคนจะประเมินว่าความชัดเจนด้านการเมืองดีขึ้น แนวโน้มเศรษฐกิจไปในทิศทางบวก รวมถึงการสิ้นสุดของผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรก น่าจะส่งผลดีและทำให้ตลาดรถยนต์ฟื้นตัว

แต่ล่าสุดการถอนตัวจากการลง ทุนในไทยของค่ายเจนเนอรัล มอเตอร์ส และเชฟโรเลต ที่ประกาศคืนบัตรส่งเสริมการลงทุนในโครงการอีโคคาร์เฟส 2 และปิดไลน์ผลิตเชฟโรเลตโซนิก ยุติการทำตลาดเอ็มพีวีไซซ์เล็กเชฟโรเลตสปิน เหลือโปรดักต์แค่ 4 รุ่นทำตลาดในไทย รวมถึงลดขนาดองค์กรปรับลดพนักงาน 30% ก็ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มอุตฯรถยนต์ในช่วงต่อจากนี้ได้เป็นอย่างดี

ตลาดทรุดต่อเนื่อง

นาย สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มยังไม่สดใส ปีนี้ทั้งปีตลาดในประเทศน่าจะแค่ทรงตัว ส่วนปีหน้ายังไม่มีความชัดเจน ขณะที่ยอดผลิตไม่โดดเด่น ปีที่แล้วทำได้แค่ 1.8 ล้านคัน ลดลง 23% ขณะที่ยอดผลิตปีนี้คงใกล้เคียงปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 2.15 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท

ขณะที่นายองอาจ พงศ์กิจวรสิน ประธานกลุ่มยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า 6 เดือนแรกปีนี้อาจจะยังไม่เห็นการเติบโตโดยเฉพาะตลาดในประเทศ แม้จะได้แรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายที่รัฐบาลพยายามเร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน ต่าง ๆ ประกอบกับภาคเกษตรกรรมที่เม็ดเงินยังเข้าไปไม่ถึง แต่เชื่อว่าตลาดจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น

บาทแข็งกระทบแรง

นอกจากตลาดในประเทศที่ยังไม่โงหัวขึ้น ตลาดส่งออกได้รับผลกระทบหลายอย่างทั้งปัญหาค่าแรงที่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ยังมีปัญหาหลักประเด็นค่าเงินบาท ทำให้รถยนต์ที่ผลิตในไทยแข่งขันในตลาดได้ลำบากโดยเฉพาะด้านราคา

นายโมะริคาซู ชกคิ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผู้ประกอบการไทยกังวลกับอัตราค่าเงินบาทที่แข็งตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลาง ปีที่แล้ว ถึงวันนี้ก็ยังไม่ดีขึ้น ซึ่งค่าเงินบาทที่แข็งตัวนั้นส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมส่งออก ยิ่งค่ายรถยนต์ที่ต้องส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นตอนนี้กระทบหนัก

"ผมอยากร้องขอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแล อยากให้กลับเข้าไปอยู่ในระดับ 32.5-33 บาท ซึ่งน่าจะช่วยส่งออกได้เป็นอย่างดี ซึ่งช่วงหลังนี้มิตซูบิชิขยายตลาดส่งออกเยอะมาก ปัจจุบันมีมากกว่า 150 ประเทศทั่วโลก"

สอดรับกับ นายฮิโรชิ นาคางาวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด กล่าวยอมรับว่า ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นกระทบอุตสาหกรรมการส่งออกของประเทศไทยโดยรวม แต่สำหรับอีซูซุเชื่อว่าปีนี้สถานการณ์การส่งออกจะมีอัตราการเติบโตเพิ่ม ขึ้นจากปี 2557 ถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องทุกปี ปีนี้จะเริ่มส่งออก รถอีซูซุ มิว-เอ็กซ์อีกรุ่น เพื่อช่วยเสริมทัพอีซูซุ ดีแมคซ์ ไปยังตลาดตะวันออกกลาง, ออสเตรเลีย, ยุโรป และตลาดอาเซียน ส่วนค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลงไม่ได้กระทบตลาดส่งออกอีซูซุมาก เพราะไม่ได้ส่งไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่น

"ปีนี้เราน่าจะเติบโตไม่ น้อยกว่า 10-15% จากปีก่อนที่มียอดขาย 159,000 คัน และเพิ่มขึ้นจากปี 2556 จำนวน 122,000 คัน และเชื่อว่าทุกค่ายจะมุ่งเน้นตลาดส่งออกกันเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดในประเทศหดตัวลง"

นายกรกฤช จุฬางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ กล่าวว่า ปัจจุบันเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้รถยนต์ที่ส่งออกจากประเทศไทยไปญี่ปุ่นราคาแพงกว่ารถที่ผลิตในประเทศ ญี่ปุ่น แม้ว่าในระยะสั้นจะยังไม่กระทบ แต่ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนในระยะยาว ปัญหาอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบ และตลาดที่หดตัวจากปัจจัยลบมากมาย ทำให้ผู้ประกอบการต่างทยอยปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับการทำธุรกิจ

จีเอ็มเบรกลงทุนในไทย

นาง สาวจีรณัฐ แสงดี ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด และบริษัท เชฟโรเลต ประเทศไทย จำกัด กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ บริษัทได้ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรในประเทศไทย โดยแจ้งให้ตัวแทนจำหน่ายและพนักงานทราบโดยเฉพาะการตัดสินใจไม่เข้าร่วม โครงการอีโคคาร์เฟส 2 มูลค่า 13,000 ล้านบาท ลดขนาดองค์กรลง 30% มีโปรแกรมสมัครใจลาออก และลดโปรดักต์ไลน์ลง เน้นเฉพาะรุ่นที่ทำกำไรและมีสัดส่วนขายดีสุดทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ได้แก่ โคโลราโด เทรลเบลเซอร์ และแคปติวา โดยทั้ง 3 รุ่นมีสัดส่วนยอดขาย 75-80% ของยอดผลิตและขายในประเทศไทย และหากรวมยอดการผลิตเพื่อการส่งออกจะพบว่าทั้ง 3 รุ่นมีสัดส่วนสูงถึง 95% ขณะที่รถยนต์นั่งครูซก็ยังทำตลาดได้ดี

"แผนธุรกิจใหม่ซึ่งโฟกัสไปยังตลาดที่ตัวเองถนัด เชื่อว่าจะช่วยพลิกโฉมทำให้บริษัทกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง"

สำหรับโครงการลาออกโดยสมัครใจ หรือโปรแกรม (VSP) มีกำหนดสิ้นสุดวันที่ 12 มี.ค.นี้ โดยพนักงานที่ร่วมโครงการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามอายุงาน ตั้งแต่ 1-10 เดือน พร้อมกับเงินโบนัสแบบไม่คงที่ประจำไตรมาสแรก จำนวน 1.125 เดือน บวกเพิ่ม 11,250 บาท

หลายค่ายทยอยถอย

แหล่งข่าวในวง การอุตฯยานยนต์กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" เพิ่มเติมว่า เชื่อว่าเร็ว ๆ นี้อาจจะมีอีกหลายรายถอยจากอีโคคาร์เฟส 2 เพราะรถเล็กประหยัดพลังงานกระแสตอบรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศลดน้อยลงเรื่อย ๆ ประกอบกับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอีโคคาร์เฟส 2 กับโครงสร้างอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ประเทศไทยจะใช้ในปี 2559 ซึ่งคำนวณจากการปล่อยมลพิษไม่ต่างกันมาก น่าจะทำให้หลายค่ายเลือกทำเอง โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของบีโอไอ ส่วนค่ายโฟล์กที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพยายามชักชวนให้ตัดสินใจลง ทุนกับโครงการนี้ระยะหลังก็เงียบหายไป

นางเพียงใจ แก้วสุวรรณ ประธานสมาพันธ์อุตสาหกรรมยานยนต์อาเซียน กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" กรณีของจีเอ็มถอนการลงทุนอีโคคาร์เฟส 2 คงต้องจับตาใกล้ชิด เพราะมีผลต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย

ส่วนตัวเชื่อว่าปัจจัย ที่มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้น่าจะมาจากการ ประเมินอุตสาหกรรมยานยนต์ และตลาดรถยนต์ไทยคลาดเคลื่อน เพราะเชฟโรเลตเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยแค่ 10 ปี แต่ต้องเจอทั้งสภาพตลาดตกต่ำ และดีสูงสุดในรอบ 50 ปีของไทยเทียบกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นที่เข้ามาในตลาดกว่า 50 ปี ประสบปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย ทำให้มีภูมิต้านทานแข็งแรงกว่า ขณะที่เชฟโรเลตประเมินถึงความพร้อมและโอกาสการทำตลาดแล้วพบว่า หากเข้าร่วมอีโคคาร์เฟส 2 อาจต้องเผชิญกับตลาดที่มีความแข็งแกร่ง ทั้ง 5 ผู้ประกอบการเดิม และผู้ประกอบการใหม่อีก 9 ราย

"โดยส่วนตัวเชื่อ ว่าเขาอาจจะเข้ามาลงทุนทำตลาดในประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จตามคาดการณ์ไว้ มากกว่า ในการกำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจ และจะเห็นว่าจีเอ็มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นช่วงที่บริษัทแม่ประสบปัญหา"

แหล่งข่าวระดับบริหารกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์หลักให้กับเชฟโรเลตยอมรับว่า ก่อนหน้านี้เชฟโรเลตได้เรียกกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้าไปชี้แจงการตัดสินใจ เพื่อเตรียมความพร้อม เชื่อว่าการถอนการลงทุนบางส่วนในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งนี้ เชฟโรเลตน่าจะไปทุ่มน้ำหนักในตลาดหลักทั้งจีนและสหรัฐอเมริกา ที่ระยะหลังมีสัญญาณทางธุรกิจดีขึ้น

โดยล่าสุดจีเอ็มยังประกาศยุติ การผลิตรถยนต์ที่ศูนย์การผลิตเบกาซี ใกล้กับกรุงจาการ์ตา ภายในสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้ และระบุว่า จีเอ็ม โฮลเด้น จะเปลี่ยนเป็นบริษัทจัดจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พร้อมเตรียมหยุดสายการผลิตในออสเตรเลีย ภายในปี 2560



ผู้แต่ง / แหล่งที่มา : นิตยสารรถ WEEKLY  
 ผู้บันทึก : กองบรรณาธิการ
date : [ 11 มี.ค 2558 ]
 


 
 

 
 

 
 

 
 

 
 

 
 

ข่าวสารยานยนต์

error=select * from newtopic order by q_id desc