จำนวนผู้เข้าชม : 817 ครั้ง
End Page
 
 
สัญลักษณ์บนหน้าปัดรถเรานั้นสำคัญไฉน

สิ่งที่เราต้องเห็นทุกวันในการใช้รถคือ หน้าปัด นั่นเองครับ แต่เชื่อไหมครับว่า คนส่วนใหญ่จะเอาหน้าปัดไว้ดูแค่ ความเร็ว, น้ำมัน เท่านั้นเอง ที่เหลือไม่เคยรู้เลยว่ามันมีความหมายอะไรบ้าง วันนี้เราค่อยๆมาทำความรู้จักกันทีละตัวเลย

- วัดความเร็ว
อันนี้ถือเป็นมาตรฐานของการใช้งานหน้าปัดเลยครับ เพราะตัวนี้จะคอยบอกว่า ความเร็วของรถในขณะนั้น อยู่ที่เท่าไหร่แล้ว โดยหน่วยการวัดรถในเมืองไทยจะเป็น กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ในรถที่นำเข้ามาจากฝั่งอเมริกา จะเป็น ไมล์/ชั่วโมง ซึ่งจากที่เคยวัดเอาจาก GPS ความเร็วที่หน้าปัด จะเร็วกว่าความเร็วที่วัดกับ GPS เสมอครับ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้ผู้ใช้รถยนต์ ใช้ความเร็วได้ไม่เกินกฎหมายกำหนด เช่น กฎหมายกำหนดให้ใช้ความเร็ว 120 กม./ชั่วโมง เราก็เหยียบที่ 120 กม./ชั่วโมง แต่ความเร็วจริงจะเป็น 110 กม./ชั่วโมง ช่องว่างนี้จะได้ไม่ทำให้ขับรถเกินกำหนดครับ ซึ่งการแสดงผลจะมี 2 แบบคือ เป็นเข็มที่หมุนขึ้นไปตามความเร็ว กับแบบดิจิตอลที่บอกเป็นตัวเลข ซึ่งใช้หลายรูปแบบในการวัดความเร็ว ทั้งสายสลิง, แบบแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น และจะวัดในตำแหน่งที่ต่างๆกันในแต่ละรุ่น เช่น วัดจากชุดเกียร์, วัดจากเพลาขับ, วัดจากเฟืองท้าย เป็นต้น

- วัดรอบ
ตัววัดรอบนี้ จะเป็นตัวที่บอกจำนวนรอบของเครื่องยนต์ในตอนนั้น ซึ่งโดยปกติจะเป็นตัวเลข แล้วคูณด้วย 1,000 ก็จะออกมาเป็นจำนวนรอบ/นาที โดยมีการแสดงผลทั้งแบบเข็มและแบบดิจิตอล ซึ่งมาตรวัดรอบนี้ ส่วนใหญ่จะเอาไว้ดูว่า จำนวนรอบที่ใช้งานตอนนี้อยู่ที่เท่าไหร่ และคอยเตือนไม่ให้เราใช้รอบสูงเกินกว่าที่รถจะรับได้ สังเกตได้จากเส้นสีแดงบนมาตรวัด ถ้าเข็มหรือขีดขึ้นไปถึงเมื่อไหร่ แสดงว่าจะเริ่มเกินขีดจำกัดของเครื่องยนต์แล้ว และสามารถบอกถึงความผิดปกติของเกียร์หรือระบบขับเคลื่อนได้อีกด้วย เช่น ถ้าปกติความเร็ว 100 กม./ชั่วโมง จะใช้รอบที่ 2,000 รอบ/นาที แต่ตอนนี้เครื่องกับใช้ 2,200 รอบ/นาที แสดงว่าชุดเกียร์เริ่มมีปัญหา ต้องเข้าอู่เพื่อให้ช่างดูได้แล้วครับ แต่รถรุ่นใหม่ๆในบางรุ่นกลับตัดมาตรวัดตัวนี้ออก คนออกแบบอาจมองว่าไม่จำเป็นอีกต่อไปแล้ว

- อุณหภูมิเครื่องยนต์
มาตรวัดตัวนี้จะเป็นตัวบอกความร้อนในตัวเครื่องยนต์ โดยมีทั้งแบบเข็มและแบบดิจิตอล แสดงระหว่างตัว C (Cool) และตัว H (Heat) โดยบางรุ่นเมื่ออุณหภูมิปกติ จะอยู่ตรงกลางระหว่าง C และ H แต่ในบางรุ่นจะอยู่ต่ำกว่าครึ่งมานิดหน่อย ซึ่งถ้าเข็มนี้ขึ้นเกินครึ่งมาเมื่อไหร่ แสดงว่าระบบระบายความร้อนในเครื่องยนต์เริ่มมีปัญหา ต้องตรวจสอบหม้อน้ำหรือพัดลมระบายอากาศ เพราะถ้าปล่อยให้เครื่อง Over Heat จนเครื่องยนต์ดับ คราวนี้ต้องซ่อมกันขนานใหญ่แน่นอนครับ
แต่สำหรับบางรุ่นอาจจะไม่มีมาตรวัดตัวนี้ แต่จะมีสัญลักษณ์แสดงขึ้นมาเมื่อมีความผิดปกติของความร้อนเลย ถ้าแสดงขึ้นมาเมื่อไหร่ ให้รีบหาที่จอดแล้วดับเครื่อง จากนั้นให้ตรวจสอบปัญหาทันที

- ระดับน้ำมัน
แน่นอนว่า ถ้าเราไม่รู้ว่ารถเราเหลือน้ำมันอยู่เท่าไหร่ ก็จะต้องขับไปพะวงไปแน่ๆว่าน้ำมันจะหมดกลางทางมั้ย ซี่งการแสดงผลก็มีทั้งแบบเข็มและแบบดิจิตอลเช่นกัน โดยในบางรุ่นสามารถบอกได้ถึงขนาด น้ำมันในถัง จะเหลือให้วิ่งได้อีกไกลแค่ไหน ซึ่งในทุกรุ่น จะมีสัญลักษณ์เป็นตู้จ่ายน้ำมัน พร้อมลูกศรเล็กๆที่อยู่ข้างๆ โดยลูกศรนี้จะเป็นตัวชี้ว่า รถของเราฝาถังน้ำมันอยู่ข้างไหน

- เตือนระดับน้ำมันต่ำ
สัญลักษณ์นี้จะแสดงเป็นรูปตู้จ่ายน้ำมันสีแดงหรือส้มแล้วแต่รุ่น ซึ่งเมื่อแสดงมาเมื่อไหร่ แสดงว่าน้ำมันในถังอยู่ในระดับต่ำแล้ว ให้เติมน้ำมันก่อนที่น้ำมันจะหมด โดยส่วนใหญ่ที่พบ น้ำมันจะเหลืออยู่ในถังอีกประมาณ 10-15% ของความจุถังถึงจะเริ่มแสดงขึ้นมา โดยจะวิ่งต่อได้อีกประมาณ 40-100 กิโลเมตร ขึ้นอยู่ว่าเป็นรถรุ่นไหน

- วัดระยะทาง
ตัวเลขวัดระยะทาง จะบอกถึงความไกลของรถเราว่าวิ่งมาได้ขนาดไหนแล้ว โดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นตัวเลขดิจิตอล 3 ชุดคือ Trip A, Trip B และระยะทางรวม ODO (ในบางรุ่นอาจแตกต่างจากนี้) ซึ่งใน Trip A และ B เราสามารถที่จะ Reset หรือตั้งค่าให้กลับมาเป็น 0 เมื่อไหร่ก็ได้ แต่ระยะทางรวม ODO นั้น เป็นระยะทางการใช้งานรวมของรถคันนั้น จะไม่สามารถตั้งระยะใหม่ได้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าช่างที่มีอุปกรณ์และความชำนาญ ก็จะแก้ไขเลขตัวนี้ได้ไม่ยาก

- ไฟหน้า
อุปกรณ์สำคัญที่รถทุกคันต้องมี โดยส่วนใหญ่แล้ว สัญลักษณ์เมื่อเปิดไฟหน้า ตัวดวงไฟจะแสดงเป็นสีเขียวหรือสีส้มอำพัน แตกต่างกันไปในแต่ละรุ่น แต่ถ้ามีดวงไฟสีน้ำเงินหรือฟ้าขึ้นมา แสดงว่าตอนนั้นมีการเปิดไฟสูงไว้ ถ้าไม่จำเป็นต้องใช้งานก็ให้รีบปรับมาเป็นไฟปกติดีกว่า

- ประตู
ถ้ามีรูปรถยนต์ที่เปิดประตูค้างไว้แบบนี้เปิดขึ้นมา แสดงว่าต้องมีประตูใดประตูหนึ่งยังไม่ปิด หรือปิดแล้วยังปิดไม่สนิท ให้ตรวจสอบแล้วปิดใหม่อีกครั้ง

- เบรก
สัญลักษณ์เบรกนี้ ส่วนใหญ่จะขึ้นใน 2 กรณีคือ เมื่อมีการดึงเบรกมือ หรือลดเบรกมือยังไม่สุด สัญลักษณ์นี้ก็จะติดขึ้นมา แต่ถ้าลดเบรกมือแล้วยังไม่ดับ คงต้องตรวจสอบระบบเบรก ซึ่งอย่างแรกที่ต้องดูคือระดับน้ำมันเบรก เพราะส่วนใหญ่แล้วสัญลักษณ์จะแจ้งเมื่อน้ำมันเบรกลดลงต่ำกว่าระดับปกติครับ แต่สำหรับบางรุ่นจะแยกกันระหว่างระบบเบรกกับเบรกมือไว้แยกจากกัน โดยระบบเบรกจะเป็นเครื่องหมายตกใจ ส่วนเบรกมือ จะเป็นตัว P ให้ลองอ่านที่คู่มือประจำรถดูก่อน

- แบตเตอรี่
หลายคนยังเข้าใจผิดว่า เมื่อมีอาการแบตเตอรี่เสื่อม ตัวสัญลักษณ์นี้จะแดงขึ้นมา จริงๆแล้วสัญลักษณ์นี้จะแสดงขึ้นมา เมื่อการทำงานของไดร์ชาร์จมีความผิดปกติ ไม่จ่ายไฟเข้าไปเก็บที่แบตเตอรี่หรือไม่มีการจ่ายไฟเข้าใช้งานในระบบรถยนต์ เมื่อไฟแบตเตอรี่แสดง ก็เตรียมตัวซ่อมไดร์ชาร์จได้เลย

- หัวเผา
ในรถยนต์ดีเซล จะมีสัญลักษณ์เพิ่มเติมขึ้นมาเป็นรูปเหมือนขดลวด ตัวนี้จะแสดงถึงการทำงานของหัวเผา ที่ทำความร้อนก่อนการสตาร์ทเครื่อง เพื่อให้การจุดระเบิดในห้องเครื่องเกิดขึ้นได้ง่าย โดยทุกครั้งที่สตาร์ทเครื่องดีเซล เราควรรอให้สัญลักษณ์นี้ดับไปก่อน ถึงค่อยบิดกุญแจ จะทำให้รถสตาร์ทติดง่าย

- เข็มขัดนิรภัย
สัญลักษณ์นี้ จะกระพริบเมื่อไม่มีการคาดเข็มขัดนิรภัยของที่นั่งฝั่งคนขับหลังสตาร์ทรถ โดยรุ่นใหม่ๆจะมีเสียงเพื่อสร้างความรำคาญใจด้วย และในบางรุ่นเมื่อมีการนั่งในฝั่งผู้โดยสารข้างคนขับ ก็จะมีการแสดงเตือนด้วยเช่นกัน แต่สัญลักษณ์นี้จะดับไป เมื่อมีการคาดเข็มขัดเรียบร้อย

- ถุงลมนิรภัย
ในรถรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ จะมีอุปกรณ์เพิ่มความปลอดภัยอย่างถุงลมนิรภัย หรือ Airbag กันหมดแล้วครับ โดยถ้าสัญลักษณ์นี้แสดงขึ้นมาค้างหลังจากสตาร์ทเครื่องแล้ว ก็ต้องเอารถเข้าอู่หรือศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบการทำงานได้เลยครับ เพราะถ้าเกิดอุบัติเหตุ ถุงลมนิรภัยอาจจะไม่ทำงานได้

- ABS
เช่นเดียวกันกับสัญลักษณ์ถุงลมนิรภัย ถ้าในรถคันนั้นมีระบบเบรก ABS แล้วระบบตรวจพบการทำงานที่ผิดปกติ สัญลักษณ์นี้ก็จะแสดงขึ้นมา ให้นำรถเข้าตรวจสอบกับศูนย์บริการหรืออู่ทันทีครับ แต่ระบบเบรกยังสามารถใช้งานได้ปกติอยู่ เพียงแต่เมื่อมีการเบรกกะทันหัน ระบบ ABS อาจจะไม่ทำงานเท่านั้นเอง

- น้ำมันเครื่อง
สัญลักษณ์รูปกรวยน้ำมันนี้ จะแสดงขึ้นมาเมื่อระดับน้ำมันเครื่องต่ำมาก ให้รีบตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่องแล้วเติมให้อยู่ในระดับปกติทันทีครับ แต่ก็มีโอกาสเป็นอาการอื่นได้อีกเช่น ถ้าเช็คแล้วน้ำมันเครื่องไม่ขาด แต่สัญลักษณ์แสดงขึ้นมา ถ้าแบบนี้ก็เป็นไปได้ว่า ตัวปั๊มน้ำมันเครื่องอาจมีปัญหา ไม่มีแรงดันน้ำมันเครื่องไปหล่อเลี้ยงตามจุดต่างๆ ก็อาจทำให้มีการแจ้งเตือนได้เช่นกัน

- เครื่องยนต์
ถ้าไฟรูปเครื่องโชว์ขึ้นมาแล้วไม่ดับเมื่อไหร่ แสดงว่าการทำงานของเครื่องยนต์เริ่มมีปัญหาแล้วครับ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ที่ครอบจักรวาลของเครื่องยนต์มากๆ เพราะตัวนี้ตัวเดียว อาจแจ้งความผิดปกติหลายอย่าง เช่น ค่าอ็อกซิเจนผิดปกติ, สายพานเกินระยะกำหนด, ตัว ECU มีปัญหา ฯลฯ ซึ่งถ้าไฟรูปเครื่องติด ต้องทำการตรวจสอบด้วยเครื่องของทางศูนย์บริการหรืออู่ โดยเสียบอุปกรณ์กับช่อง OBD (On-Board Diagnostics) จะมีค่า Error แจ้งมา ก็จะรู้ได้ว่าเครื่องยนต์ทำงานผิดปกติตรงไหนได้ครับ ซึ่งรถส่วนใหญ่จะยังทำงานได้ปกติ แต่ในบางรุ่น (โดยเฉพาะรถทางฝั่งยุโรป) จะล็อกความเร็วไว้ให้ไม่เกิน 60 กม./ชม. เพื่อให้ผู้ใช้งานนำรถเข้าตรวจสอบที่ศูนย์บริการทันที และป้องกันไม่ให้เครื่องยนต์เสียหายไปมากกว่าเดิม

สัญลักษณ์ไฟเตือนนี้ เป็นไฟเตือนเบื้องต้นที่รถยนต์ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะมีอยู่ครับ แต่สำหรับบางรุ่น อาจจะมีแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ไฟตัดหมอก, สถานะ Cruise Control, ECO Mode เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นด้วยการอ่านคู่มือประจำรถ ก็จะทำให้เราสามารถตรวจสอบได้เบื้องต้น ไม่ต้องเสียเวลาไปศูนย์บริการหรืออู่ทุกครั้งที่มีการแจ้งเตือนนะ



ผู้แต่ง / แหล่งที่มา : นิตยสารรถ WEEKLY  
 ผู้บันทึก : กองบรรณาธิการ
date : [ 24 ต.ค. 2561 ]
 


 
 

 
 

 
 

 
 

 
 

 
 

ข่าวสารยานยนต์

error=select * from newtopic order by q_id desc