5 วิธีกินเจแบบผิดๆ เสี่ยงโรคไต-โรคหัวใจ

เทศกาลกินเจมาถึงอีกปีแล้วนะคะ หลายคนอาจจะกินเจมาหลายปีแล้ว บางคนก็อาจจะเพิ่งเริ่มกินเจปีนี้ แต่ไม่ว่าใครจะเริ่มกินเจก่อนหลัง สิ่งที่ควรระวังคือ การกินเจให้ถูกวิธี เพราะหากกินเจไม่ถูกวิธี อาจเสี่ยงโรคร้ายที่อาจตามมาโดยไม่รู้ตัวได้


 


5 วิธีกินเจแบบผิดๆ เสี่ยงโรคไต-โรคหัวใจ


1. ทานอาหารหมักดอง


สารพัดผักดองต่างๆ ถูกหยิบมาเปิดทานพร้อมข้าวต้มในช่วงเทศกาลเจกันอยู่บ่อยๆ เพราะหาซื้อได้ง่าย เก็บรักษาได้ง่าย แต่อาหารหมักดองเหล่านี้ มีโซเดียมสูงมาก หากทานบ่อยๆ จะทำให้เสี่ยงเป็นโรคไต และความดันโลหิตสูงได้


 


2. อาหารรสหวานจัด เค็มจัด


นอกจากอาหารเค็มๆ จากอาหารหมักดองแล้ว ยังมีอาหารเจอีกหลายอย่างที่ปรุงรสมาค่อนข้างจัดจ้าน จัดจ้านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงรสเผ็ดนะคะ หมายถึงรสหวานจัด และเค็มจัดนั่นเอง ผู้ประกอบการอาจปรุงรสหวานเค็มเพื่อที่จะยืดอายุอาหารให้ขายได้ไปหลายวัน หรืออาจจะเป็นอาหารสไตล์จีนที่นิยมรัปประทานกันในรสชาตินั้นๆ อยู่แล้ว เช่น กาน่าฉ่าย หนำเลี๊ยบ ทานอาหารรสหวานจัดเค็มจัดมากๆ ก็เสี่ยงโรคไต และความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน


 


3. อาหารไขมันสูง


หากจะดูกันดีๆ แล้ว อาหารเจที่ขายตามท้องตลาด ไม่ว่าจะเป็นผัดผัก กาน่าฉ่าย แกงต่างๆ อาจพบว่ามีปริมาณไขมันค่อนข้างสูง เพราะผู้ประกอบการอาจปรุงอาหารในปริมาณมากๆ และใช่น้ำมันค่อนข้างมากตามไปด้วย อาหารไขมันสูงนอกจากจะเสี่ยงต่อน้ำหนักตัวที่อาจพุ่งขึ้นสูงจนน่าตกใจได้แล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคไขมันอุดตันเส้นเลือด หรือไขมันพอกตับได้ ดังนั้นไม่ควรทานอาหารที่มีไขมันสูงติดต่อกันนานๆ นะคะ เลี่ยงได้เลี่ยงเลย


 


4. อาหารที่ไร้ผัก และเต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรต


หลายต่อหลายมื้ออาหารเจมีปริมาณผีกค่อนข้างน้อย เพราะผักผลไม้ราคาสูงขึ้นเมื่ออยู่ในช่วงเทศกาลเจ อาหารที่เราพบเห็นได้จึงมีส่วนประกอบของแป้งค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นแป้งที่มาจากลูกชิ้นจริงๆ หรือมาจากแป้งที่ทำเลียนแบบเนื้อสัตว์ อย่างทอดมันเจ ปลาเค็มเจ หมูเจ ไก่เจ กุ้งเจ เป็นต้น ดังนั้นคุณอาจกำลังทานคาร์โบไฮเดรตมากกว่าผักผลไม้ และเสี่ยงต่อโรคอ้วน และระบบขับถ่ายที่อาจทำให้เกิดอาการท้องผูกได้ง่ายขึ้น


 


5. ทานอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ


ใครที่ชอบทานอาหารเจอยู่ไม่เกิน 2 เมนูสลับกันไปเรื่อยๆ ระวังจะได้สารอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนะคะ โดยเฉพาะโปรตีนที่หากไม่ได้ทานเนื้อสัตว์ ช่วงเทศกาลเจหลายคนจึงอาจขาดสารอาหารจำพวกโปรตีนได้ ยิ่งถ้าเมนูนั้นมีแต่แป้ง กับไขมันแล้วด้วย โอกาสเสี่ยงโรคต่างๆ ก็สูงตาม เพราะฉะนั้นพยายามเลือกหาเมนูอาหารเจที่หลากหลาย อย่าทานเมนูเดิมๆ ซ้ำๆ ติดต่อกันจะดีกว่าค่ะ


กระทรวงสาธารณสุข ชี้คนไทยป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจเฉลี่ยชม.ละ 30 คน เสียชีวิตเฉลี่ยชม.ละ 2 คน สาเหตุใหญ่ๆ มาจากอาหารที่เราทานเข้าไป ตามมาด้วยการใช้ชีวิตที่ทำงานหนัก ไม่ออกกำลังกาย และพักผ่อนให้เพียงพอ ดังนั้นสุขภาพที่ดี จะต้องเริ่มต้นที่อาหารก่อนอันดับแรก หากคิดจะกินเจให้ได้บุญ ก็ต้องกินเจให้ได้สุขภาพที่ดีควบคู่กันไปด้วยนะคะ


 


ภาพประกอบจาก istockphoto