ต้องขอบคุณนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ทำให้คุณพ่อบ้านแม่บ้านได้อุปกรณ์ทำครัวดีๆ ที่อำนวยความสะดวกให้ทำอาหารได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก แต่ดันมีอีกกระแสหนึ่งออกมาต่อต้านกระทะเทฟล่อน กระทะที่ทอดแล้วอาหารไม่ค่อยติดกระทะ และแทบไม่ต้องใช้น้ำมันว่า อาจทิ้งสารก่อมะเร็งไว้กับอาหารได้ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร Sanook! Health นำคำตอบจากนพ.สันต์ ใจยอดศิลป์ พบ. วว.ศัลย์หัวใจหลอดเลือดและทรวงอก อว.เวชศาสตร์ครอบครัว มาฝากกันค่ะ
กระทะเทฟล่อน มีสารก่อมะเร็งจริงไหม?
ก่อนอื่นกระทะเทฟล่อน คำว่า “เทฟล่อน” เป็นชื่อทางการค้า (Teflon® ) เหมือนบะหมี่กึ่งสพเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” หรือผงซักฟอก “แฟ้บ” นะคะ ชื่อจริงของเทฟล่อนที่เคลือบกระทะ คือ พีทีเอฟอี. (polytetrafluoroethylene - PTFE) เป็นสารที่เสถียรและทนความร้อนความเย็นดีมาก นอกจากจะใช้เคลือบกระทะแล้วยังใช้เคลือบเสื้อผ้าและสิ่งทออีกหลายอย่างที่เราสวมใส่อยู่
หากถามว่าสาร พีทีเอฟอี ทีสารก่อมะเร็งหรือไม่ ต้องตอบว่า “ไม่มี” ทั้งการรายงาน ผลการทดลอง งานวิจัยต่างๆ ยังไม่มีออกมาให้เห็นเลย
แต่ได้ข่าวว่ากระทะเทฟล่อนถูกสั่งให้หยุดการผลิตในอเมริกา?
การผลิตกระทะเทฟล่อนในอเมริกา ใช้สารอีกตัวที่ชื่อว่า พีเอฟโอเอ มาเผาในขั้นตอนการทำกระทะเทฟล่อน แม้ว่าจะไม่มีสารตกค้างในกระทะ แต่ทิ้งสารตกค้างตามสิ่งแวดล้อมรอบโรงงาน องค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐจึงทำข้อตกลงกับผู้ผลิตให้หยุดใช้สารตัวนี้ในการผลิตกระทะเทฟล่อน แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 กว่าปีก่อนแล้ว ณ ขณะนี้จึงแทบจะไม่มีกระทะเทฟล่อนที่ผลิตด้วยสารตัวนี้อีกแล้ว
แล้วเจ้าสาร พีเอฟโอเอ เป็นสารก่อมะเร็งไหม?
ใครที่ซื้อกระทะเทฟล่อนจากอเมริกามานานหลายปีอาจยังกลัวอยู่ ต้องขอตอบว่า องค์การปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐไม่ได้จัดให้สารตัวนี้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่องค์การอนามัยโลกจัดให้เป็นสารก่อมะเร็งระดับ 2B หมายความว่าหากได้รับสารชนิดนี้ในปริมาณมากๆ อาจก่อมะเร็งได้จริง แต่อยู่ระดับที่ยังน้อยกว่าสารก่อมะเร็งในไส้กรอก เบคอน แฮม ที่ถูกจัดให้มีสารก่อมะเร็งอยู่ในระดับ 2A พร้อมผลงานวิจัยทางวิทศาสตร์ที่ยืนยันชัดเจนว่ามีสารก่อมะเร็งจริงเสียอีก
ดังนั้นขอให้คุณพ่อบ้านแม่บ้านใช้กระทะเทฟล่อนได้อย่างสบายใจกันต่อไปนะคะ แต่ขอให้มั่นใจว่ากระทะเทฟล่อนที่ซื้อมา ผลิตจากโรงงาน และผู้ผลิตที่น่าเชื่อถือจริงๆ แบะเป็นของแท้ ไม่ใช่ของเลียนแบบยี่ห้อดังอีกที เพราะไม่อย่างนั้นอาจรับรองความปลอดภัยไม่ได้ 100% ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.สันต์ ใจยอดศิลป์
ภาพประกอบจาก istockphoto