สงกรานต์เที่ยวปลอดภัย เตรียมพร้อม ... ของติดรถ

นิตยสาร รถ Weekly

เหตุฉุกเฉินเกิดขึ้นได้เสมอขณะที่เราเดินทาง แม้แต่กับรถใหม่  ไล่ตั้งแต่ยาง เครื่องยนต์ กลไก หรือแม้แต่น้ำมันหมดกลางทาง ...ดังนั้นแล้ว แม่แรง ประแจขันล้อ และยางอะไหล่ ต้องมีติดรถไว้เสมอ
    รถยนต์ทุกคันจะมีชุดอุปกรณ์ในการเปลี่ยนล้อติดมาให้ทั้งนั้น (หากเราซื้อรถมือสองมา ก็ให้ตรวจสอบด้วยว่ามีอุปกรณ์ติดรถยนต์นี้ให้มาครบด้วยหรือไม่) ให้ดูจากคู่มือถึงตำแหน่งที่เก็บและวิธีการใช้งานเบื้องต้น ถ้าเป็นรุ่นทีใช้ยางรถยนต์แบบ Run Flat จะไม่มียางอะไหล่ให้ เพราะยาง Run Flat สามารถใช้งานวิ่งต่อได้ (มีข้อแม้ว่าต้องไม่เกินระยะทางที่กำหนด เพื่อทำการเปลี่ยนยางใหม่) แม้จะไม่มีลม เพราะยางรถยนต์ประเภทนี้จะมีโครงสร้างแก้มยางที่แข็งกว่าปกติ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุยางแบนโดยเฉพาะ
    สายพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ - ควรมีติดรถยนต์ไว้ตลอดการเดินทาง แม้แบตเตอรี่ของรถจะยังสามารถใช้งานได้ตามปกติ เพราะโอกาสที่แบตเตอรี่รถยนต์จะมีปัญหาระหว่างการเดินทางก็ยังคงมีความเป็นไปได้ ขณะเดียวกันก็อาจเป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้อีกด้วย
    เกจวัดแรงดันลมยาง - ใช้วัดเดือนละครั้ง หรือทุกครั้งหลังมีการเปลี่ยนอุณหภูมิภายนอกมาก เพราะลมยางจะลดลงประมาณ 2-3 ปอนด์ต่อเดือน อย่าลืมว่าต้องวัดขณะที่ยางรถยนต์ยังเย็นอยู่ และเติมที่ยางอะไหล่ของรถเราด้วย
    ฟิวส์สำรอง - เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับระบบไฟในรถยนต์ไม่ว่าส่วนไหนก็ตาม อย่างแรกที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีและง่ายก็คือ ตรวจที่กล่องฟิวส์ ดูตำแหน่งฟิวส์ของอุปกรณ์ที่มีปัญหาตามที่ระบุจากตารางในคู่มือรถยนต์ หรือที่หลังกล่องฟิวส์ ถ้าพบว่าฟิวส์ขาด ก็สามารถแก้ไขได้โดยการเปลี่ยนฟิวส์สำรองทดแทนไปก่อน โดยในกล่องจะมีตำแหน่งบอกฟิวส์สำรอง ด้วย
    ชุดปฐมพยาบาล - เลือกใช้แบบทั่วไปเพื่อกรณีอย่าง รอยแผลบาด โดนของร้อน เคล็ดฟกช้ำ  และควรมีผ้าพันแผลไว้ด้วย

กระป๋องดับเพลิง - ไฟอาจเกิดขึ้นได้กับรถด้วยสาเหตุง่ายๆอย่าง สายไฟช็อต หรือ น้ำมันรั่ว ทันทีที่เกิดเปลวไฟขึ้นกับรถยนต์ของเรา ให้รีบออกจากรถโดยเร็วที่สุด ส่วนการใช้กระป๋องดับเพลิงนั้น จะใช้กับกรณีที่เป็นเปลวไฟเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มก่อตัว กระป๋องดับเพลิงจะช่วยดับและลดความเสียหายได้ แต่ถ้าเกิดเป็นเปลวไฟขนาดใหญ่ กระป๋องดับเพลิงอาจไม่เพียงพอ ควรพาตัวเองออกจากรถให้เร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยกระป๋องดับเพลิง หาซื้อได้ตามแผนกอุปกรณ์รถยนต์ หรือร้านประดับยนต์ตามห้างทั่วไป อย่าลืมทำความเข้าใจวิธีการใช้งานก่อนด้วย
    ไฟเตือนระวัง - เป็นอุปกรณ์ที่ควรมีติดรถไว้ในกรณีที่รถยนต์ของเราเกิดมีปัญหาต้องจอดข้างทาง เป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องแสดงให้ผู้ใช้รถยนต์คนอื่นๆเห็นและระวัง โดยเฉพาะเวลากลางคืน นอกจากเปิดไฟฉุกเฉินที่รถแล้ว เราอาจะใช้ไฟเตือนระวังวางไว้บนหลังคา (ใช้แบตเตอรี่) ซึ่งผู้ใช้รถยนต์คันอื่นจะสามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ระยะไกล หรือถ้าไม่มีก็อาจใช้อุปกรณ์สามเหลี่ยมสะท้อนแสงบอกตำแหน่งแทน
    ถุงมือ ครีมทำความสะอาด และผ้าสะอาด - ต่อให้เป็นงานที่ง่ายที่สุดในการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษารถยนต์ ก็ยังทำให้มือของเราเปื้อนได้เช่นกัน ด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ อย่างน้อยก็ไม่ทำให้มือที่เลอะของเราไปโดนเสื้อผ้า เบาะ หรืออุปกรณ์ภายในรถยนต์ ซึ่งยากต่อการทำความสะอาด
    บัตรสมาชิกหรือเอกสาร Roadside Assistance - ที่สมัครเอาไว้ ให้เก็บไว้ในรถยนต์หรือกระเป๋าสตางค์เพื่อความสะดวกในการติดต่อใช้บริการเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินทุกครั้ง
    กล้องดิจิตอล หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ - เมื่อเกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ เราสามารถใช้กล้องบันทึกภาพและเสียงได้เอง เพื่อไว้เป็นหลักฐาน หรือประโยชน์ต่อการเอาประกันภัย
    โฟมปะยาง และเครื่องเติมลมไฟฟ้าแบบพกพา - เป็นอุปกรณ์ที่ควรซื้อติดรถยนต์ไว้  สำหรับรอยรั่วเล็กน้อยบนยาง โฟมที่ว่านี้จะสามารถเข้าไปอุดรูรั่วเพื่อให้สามารถใช้งานยางรถยนต์ต่อไปชั่วคราวได้โดยยังไม่ต้องเปลี่ยนยางอะไหล่ทันที   แต่ต้องรีบหาหาร้านยางรถยนต์ไปปะด่วน
   

กระดาษและปากกา - หลายคนมองข้ามสิ่งเหล่านี้ไป แต่จริงๆ เราใช้ประโยชน์จากมันได้หลากหลาย เช่นเขียนโน้ตเหน็บไว้ที่กระจกหน้ารถยนต์ เป็นต้น
    GPS (Global Positioning System) - เมื่อต้องเดินทางไปในที่ใหม่ๆ หรือสถานที่ไม่คุ้นเคย การมีเครื่อง GPS ติดรถยนต์ไปด้วยจะช่วยในเรื่องการบอกพิกัดของตำแหน่งที่อยู่ และที่ๆ จะไปได้อย่างชัดเจนและง่ายขึ้น
    นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะมีการตรวจเช็คอุปกรณ์ติดรถยนต์ต่างๆให้แน่ใจ ว่าอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้เช่น ยางอะไหล่รถยนต์ มีลมเพียงพอหรือไม่ , ชุดปฐมพยาบาล ยังมียาและอุปกรณ์ใช้งานได้ไม่หมดอายุหรือเปล่า, แม่แรงและเครื่องมือประจำรถยนต์อื่นๆ อยู่ครบถ้วนหรือไม่ และควรทำความคุ้นเคยในการใช้อุปกรณ์ด้วย
    และเมื่อต้องเดินทางไกลควรตรวจสอบว่าโทรศัพท์มีแบตเตอรี่เพียงพอต่อการใช้งานไป ตลอดการเดินทางๆ รถยนต์หรือไม่  เพื่อการโทรขอความช่วยเหลือยามเกิดเหตุฉุกเฉินโดยเฉพาะเวลาอยู่ในพื้นที่ เปลี่ยว และควรบันทึกเบอร์โทรศัพท์สำคัญเช่นของสถานีตำรวจท้องที่ ตำรวจทางหลวง (1193), 191, สวพ.91 (1644) และ จส.100 (0-2711-9160-2) เอาไว้ด้วย