เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่า สารตะกั่วเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ใด หรือสิ่งใด ที่มีสารตะกั่วปนเปื้อน เราควรกำจัดออกไป และดูแลป้องกันเด็ก ๆ ให้ห่างไกลจากสารพิษดังกล่าว แต่แม้ว่าเราพยายามดูแลเรื่องนี้อย่างเต็มที่แล้ว ก็ยังมีการค้นพบอาหาร ของใช้ และสถานที่บางแห่ง ที่เรามักจะนึกไม่ถึงอยู่เสมอ
อันตรายของ “สารตะกั่ว” ที่มีผลกระทบต่อร่างกาย
ในปี 2005 มีการศึกษาพบว่า สารตะกั่วส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะในเด็ก นอกจากจะส่งผลกระทบต่อระดับความเข้มข้นของเลือดแล้ว ยังพบว่า สารตะกั่ว มีส่วนเกี่ยวพันธ์กับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น อารมณ์ก้าวร้าว สมาธิสั้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาพบด้วยว่า สารตะกั่ว มีผลกระทบต่อความเฉลียวฉลาด เพราะมันทำให้คะแนน IQ ของเด็กลดลง และไม่เพียงแค่เด็กเท่านั้น สตรีมีครรภ์ หากได้รับสารตะกั่ว ก็อาจจะทำให้แท้ง หรือให้กำเนิดทารกที่ผิดปกติได้
สารตะกั่ว ส่งผลร้ายต่ออวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย หากได้รับในปริมาณมาก จะทำลายระบบประสาท ความดันโลหิตสูง อาเจียน ชัก และอาจจะรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต สารตะกั่ว จึงเป็นสิ่งต้องห้าม สำหรับการนำมาใช้ในครัวเรือน หรือแม้กระทั่ง ใช้ในการผลิต ผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในครัวเรือน มาตั้งแต่ปี 1971 และในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา ก็มีการลดปริมาณการใช้สารตะกั่วในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
แต่อย่างไรก็ตาม สารพิษดังกล่าวนี้ ยังคงมีอยู่ในสภาพแวดล้อม และที่สำคัญคือ มันปนเปือนอยู่ในสิ่งที่เราอาจนึกไม่ถึง ดังต่อไปนี้
1. สี : สมัยก่อนจะมีการใช้สารตะกั่ว ผสมลงไปในสี เป็นเรื่องปกติ เพราะมันช่วยให้สีสวยขึ้น ทาง่ายขึ้น แม้ปัจจุบัน จะมีการใช้สารตะกั่วผสมสีน้อยลงแล้ว แต่ก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้ การจะเลือกสีมาใช้ จึงควรต้องมีความละเอียดรอบคอบ
2. น้ำ : น้ำที่เราดื่ม อาจปนเปื้อนสารตะกั่ว แม้ว่าโดยปกติแล้ว เราจะไม่พบสารพิษนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติก็ตาม แต่การนำน้ำมาผ่านกระบวนการแจกจ่ายไปตามอาคารบ้านเรือน อาจมีความเสี่ยง ทั้งจากการเครื่องปั้มน้ำ และท่อน้ำที่มีการสึกกร่อนหรือชำรุด นอกจากนี้ตู้กดน้ำดื่มตามโรงเรียน ก็ถือเป็นจุดเสี่ยงอีกจุดหนึ่ง อุปกรณ์เหล่านี้ จึงควรได้รับการตรวจสอบอยู่อย่างสม่ำเสมอ
3. อาหาร : แม้แต่ผักที่ปลูกในดิน อาหาร ภาชนะใส่อาหาร ก็อาจมีการปนเปื้อนสารตะกั่วได้ จากฝุ่นสี การเผาไหม้ของน้ำมันเชื้อเพลิง ฝุ่นผงจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ลอยมาตามอากาศ ทุกขั้นตอนตั้งแต่การห่ออาหารส่งจำหน่าย การเตรียมอาหาร การเก็บอาหาร ต่างก็มีความเสี่ยงด้วยกันทั้งนั้น
4. ลูกอม : ลูกอมจากหลายประเทศ ถูกสหรัฐอเมริกาเตือนว่ามีการปนเปื้อนสารตะกั่ว แม้จะไม่สามารถตรวจสอบผลที่แน่ชัด แต่ก็ได้มีการออกคำเตือนให้ระมัดระวังการนำเข้าลูกอมจาก เม็กซิโก มาเลเซีย จีน และอินเดีย เพราะทั้งกระบวนการผลิต การเก็บ และส่วนผสมนั้น ยังไม่ได้มาตรฐาน
5. ของใช้ในครัวเรือน : สิ่งของต่าง ๆ ที่อยู่ในบ้านของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์โบราณ เครื่องเซรามิค งานศิลปะ อาจจะมีสารตะกั่วปนเปื้อนอยู่ เพราะของเก่า ของโบราณ จะยังใช้สี และการเคลือบเงา ที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว นอกจากนี้ ยังมีคำเตือนให้ระวังผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกไวนิล จากประเทศจีน ไต้หวัน เม็กซิโก และอินโดนีเซีย อีกด้วย
6. เครื่องประดับ : พวกสร้อย กำไล แหวน ราคาถูก อาจจะมีสารตะกั่วปนเปื้อน และ ไม่ปลอดภัยอย่างยิ่งสำหรับเด็กเล็ก เพราะเด็กอาจจะนำเข้าปากหากผู้ใหญ่อย่างเราไม่ระมัดระวังให้ดี เมื่อปี 2006 มีเด็กเสียชีวิตเพราะกลืนชิ้นโลหะเครื่องประดับ ที่ติดมากับรองเท้ายี่ห้อหนึ่ง เด็กมาโรงพยาบาลด้วยอาการอาเจียน และปวดท้อง จากนั้นอีก 4 วันก็เสียชีวิต เพราะ เครื่องประดับนั้น มีสารตะกั่วมากถึง 99.1 เปอร์เซ็นต์
7. ของเล่น : ของเล่นเด็กบางอย่างก็มีสารตะกั่วปนเปื้อนเช่นกัน โดยเฉพาะของเล่นที่มีสีสีนสวยงาม แม้แต่กล่องใส่อาหาร หรือสีเทียน ก็อาจพบการปนเปื้อนได้ แม้จะปริมาณเล็กน้อย แต่ก็อาจจะสร้างปัญหาให้กับเด็กบางคนได้เช่นกัน
8. ยาสามัญประจำบ้าน และเครื่องสำอาง : ยารักษาอาการผื่นคัน ยาแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย อาจมีส่วนผสมของสารตะกั่ว ส่วนเครื่องสำอางค์นั้น ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวัง โดยเฉพาะเครื่องสำอาง ที่มาจากอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง โดมินิกัน และเม็กซิโก
ถึงจะพบสารตะกั่วจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ รอบตัวแทบจะทั้งหมด แต่ก็ใช่ว่าเราจะหลีกเลี่ยงการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายไม่ได้นะคะ ทางที่ดีที่สุด คือพยายามใช้ หรือเลือกทานอาหารจากแหล่งผลิตให้หลากหลายมากขึ้น ไม่ทาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์เดิมๆ หรือจากแหล่งผลิตเดิมๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานมากเกินไป จะช่วยหลีกเลี่ยงการสะสมสารปนเปื้อนต่างๆ ที่มาพร้อมกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้นได้ไม่มากก็น้อยค่ะ