เป็นไปได้ยาก ที่เราจะทราบว่า รถยนต์มือสองที่เราซื้อมานั้นได้รับการดูแล ซ่อมแซมมาในจุดใดแล้วบ้าง จะมานั่งดู Book Service ก็เป็นเรื่องใหญ่ มักอ่านไม่รู้เรื่อง หรือไม่มีมา ครั้นจะมาเย็นใจซื้อมาแล้ว ใช้ๆไปก่อน เดี๋ยวค่อยเช็คทีหลัง พอดีรถยนต์มือสองสุดที่รักก็เกิดปัญหา (เจ๊ง) เสียก่อน หลังจากที่เราได้ซื้อรถมาครอบครองแล้ว เราควรนำรถยนต์มือสองไปเช็ค หรือเปลี่ยนในจุดใดบ้าง เป็นการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้า เสียเงิน เสียเวลา เสียอารมณ์ เสียกิ๊ก (กรณีไม่มีรถไปรับ ไม่รู้เกี่ยวหรือเปล่า) รับประกันหมดปัญหากังวนใจในภายหน้า มาเริ่มกันเลยครับ
ระบบสารหล่อลื่นทั้งหมด
น้ำมันเครื่อง ควรเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง , ไส้กรองน้ำมันเครื่อง เสียใหม่ และทำการจดบันทึก เลขกิโลเมตรที่ใช้งาน ส่วนมากน้ำมันเครื่องเกรดทั่วๆไป จะมีอายุการใช้งานที่ 5,000 กิโลเมตร แต่ถ้าเป็นพวก สังเคราะห์ และกึ่งสังเคราะห์จะอยู่ได้กว่า 10,000 กิโลเมตร และคอยตรวจเช็คระดับหลังใช้งานอยู่เรื่อยๆ น้ำมันเครื่องที่พร่องลงไปในระหว่างใช้งานจะ มากหรือน้อยนั้น หมายถึงความหลวมของเครื่องยนต์ เป็นการประเมินได้ว่าเครื่องจะต้องได้รับการซ่อมแซมต ่อไปอย่างไร
น้ำมันเกียร , น้ำมันเฟืองท้าย ไม่ว่าจะเป็นเกียรออโต้ หรือเกียรธรรมดาจะมีอายุการใช้งานที่ 25,000 – 50,000 กิโลเมตร ควรตรวจเช็คระดับ ว่าขาดหายหรือไม่ ถ้าเก่ามากควรได้รับการเปลี่ยนถ่าย หรือถ้ารั่วควรรีบซ่อมแซมโดยด่วน
น้ำมันเบรก ถือเป็นสารหล่อลื่นในระบบเบรก ควรได้รับการเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 1-2 ปี ถ้าเห็นว่าน้ำมันมีสีคล้ำ ควรเปลี่ยนถ่าย เพราะอาจทำให้ลูกยางเบรก และแม่ปั้มเสียหายก่อนกำหนด
น้ำมันครัช ควรเปลี่ยนถ่ายพร้อมๆน้ำมันเบรก และเป็นการตรวจสอบรอยรั่วของแม่ปั้มครัช ว่ามีอาการรั่วซึมหรือไม่ เพื่อป้องกันลูกยางครัชแตก ถึงกับเข้าเกียรไม่ได้
น้ำมันพวงมาลัยเพาเวอร์ ปกติจะต้องได้รับการเปลี่ยนถ่ายทุกๆ 1-2 ปี น้ำมันที่เก่ามากๆ จะทำให้ปั้มน้ำมัน และ แร็คพวงมาลัยสึกหรอเร็วกว่ากำหนด น้ำมันเพาเวอร์ที่เก่าจะเป็นสีแดงจางๆ
น้ำมันกระปุกพวงมาลัย สำหรับรถกะบะพวงมาลัยธรรมดา น้ำมันกระปุกพวงมาลัยควรได้รับตววจเช็ค ถึงระดับน้ำมัน ถ้าขาดควรเติมเพิ่ม
ระบบหล่อเย็น
น้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ ตามปกติน้ำยาหล่อเย็นจะต้องใช้เครื่องวัดสภาพ น้ำยาหล่อเย็นที่เสื่อมสภาพจะทำให้ หม้อน้ำเกิดสนิม เกิดการผุกร่อน ท่อยางน้ำบวม และปั้มน้ำเสียหาย ถ้าไม่แน่ใจทำการเปลี่ยนเสียใหม่ดีกว่า และ ควรใช้น้ำยาที่มีคุณภาพ ความเข้มข้นตามที่โรงงานกำหนด ใช้น้ำสะอาดบริสุทธิ์ พวกน้ำกรอง อย่างน้ำดื่ม (ไม่ต้องถึงขั้นน้ำกลั่นหรอกครับ)
ตรวจเช็คสภาพหม้อน้ำ และรอยรั่ว เมื่อเปลี่ยนน้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำแล้ว ควรตรวจเช็ครอยรั่วของหม้อน้ำไปในตัว หม้อน้ำที่เป็นพลาสติก ถ้าฝาครอบพลาสติกเริ่มมีรอยร้าว (แตกลายงา เหมือนพระเครื่อง) รีบเปลี่ยนทันที หรือซ่อมแซมเป็นแบบทองเหลืองจะทนกว่า ถ้าสภาพหม้อน้ำเก่า มีรอยรั่ว ครีบหม้อน้ำล้มชำรุด หรือมีขี้เกลือเกาะมาก ต้องเปลี่ยนใหม่ทั้งลูก จะดีกว่า
ท่อยางน้ำหล่อเย็น พวกนี้มีอายุการใช้งาน 4 – 5 ปี ท่อน้ำที่เริ่มเสื่อมสภาพ จะมีลักษณะบวมไม่เข้ารูป ท่อน้ำเริ่มนิ่ม หรือมีรอยร้าว ท่อน้ำแข็งตัวบิดไปมาไม่ได้ พวกนี้พร้อมแตกรั่วทันที รวมถึงท่อน้ำหล่อเย็นบริเวณเครื่องยนต์ทุกเส้น
ปั้มน้ำ อายุการใช้งานที่ 100,000 กิโลเมตร หรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับสภาพ สนิมในหม้อน้ำที่มีคุณสมบัติ กัดกร่อนซีลปั้มน้ำ ถ้าคิดว่ารถยนต์มือสองที่ซื้อมาวิ่งเกิน 100,000 และยังไม่ได้เปลี่ยนให้ถือเป็นชิ้นส่วน ที่ควรเปลี่ยนใหม่ได้เลย
พัดลมไฟฟ้าหม้อน้ำ พวกนี้มีอายุการใช้งานเหมือนกัน ถ้ารถวิ่งเกิน 100,000 กิโล แล้วมักจะได้ต้องเปลี่ยนทุกคัน อาการเสียมักจะเกิดจาก ถ่านมอเตอร์หมด บูชพัดลมแตก หรือลดมอเตอร์ช็อต พวกนี้จะทำให้พัดลมหมุนช้าลง ไม่มีแรง การระบายความร้อนไม่เพียงพอ ควรหาช่างที่มีความชำนาญตรวจเช็ค
พัดลมฟรีปั้ม พวกรถกระบะมือสองพัดลมระบายความร้อนจะใช้ระบบ น้ำยาเพิ่มความหนืด ตามอุณหภูมิเครื่องยนต์ น้ำยาที่เริ่มเสื่อมสภาพ จะทำให้พัดลมหมุนฟรีมาก การระบายความร้อนหม้อน้ำ และ แผงคอยล์ร้อนแอร์ไม่เพียงพอ ต้องทำการเปลี่ยนน้ำยาเสียใหม่
ระบบเครื่องยนต์
สายพานไทมมิ่ง เป็นสายพานขับชุดเพลาราวลิ้นของเครื่องยนต์ ส่วนมากจะมีอายุการใช้งานที่ 80,000 – 150,000 กิโลเมตร การจะมาดูที่เลขหน้าปัด ชื่อถือได้น้อยมาก ดังนั้นสำหรับสายพานไทมมิ่ง แนะนำให้เปลี่ยนทันทีหลังซื้อรถ เพราะการที่สายพานไทมิ่งขาด หมายถึงการที่ต้องอาจเปลี่ยนเครื่องใหม่ หรือการซ่อมแซมกันหลักหมื่น ได้ง่ายๆ
สายพานหน้าเครื่อง,ไดชาร์จ ,แอร์ ,ปั้มน้ำ เพาเวอร์ สายพานพวกนี้สามารถตรวจเช็ค รอยร้าว ความแห้งกรอบ และระยะความตึงของสายพาน ถ้ายังใช้งานได้ก็ทำการตั้งให้ได้ระยะ ก็เพียงพอ
จุดรั่วซึมน้ำมันเครื่อง สังเกตได้ง่ายๆที่ตัวเครื่องยนต์ ถ้ามีคราบเหนียวๆ หรือมีน้ำมันหยดบริเวณที่จอดรถ หมายถึงการมีน้ำมันเครื่องรั่วซึม อาจจะเกิดจากซีล ยางต่างๆ หรือการหลวมพร้อมที่จะหลุดของอุปกรณ์บางอย่าง ไม่ควรใจเย็น รีบหาช่างตรวจหา และซ่อมแซมเสียแต่เนิ่นๆ
ใส้กรองอากาศ สังเกตดูความสกปรก ถ้าไม่มากพอเป่าทำความสะอาดได้ หรือถ้าอุดตันเปลี่ยนใหม่ดีกว่า ทำให้ประหยัดน้ำมันเพิ่มขึ้น
ไส้กรองน้ำมันเชื้อเพลิงพวกกรองเบนซิล กรองหัวฉีด หรือกรองโซล่า เปลี่ยนใหม่ และเริ่มจดบันทึกการใช้งาน
ระบบเบรก
ผ้าเบรก เป็นส่วนหนึ่งหลังจากซื้อรถยนต์มือสองมากแล้ว พลาดไม่ได้ เรียกได้ว่า ไปไม่ถึง ยังดีกว่าเบรกไม่อยู่ ให้ช่างตรวจสอบความหนาของผ้า เพื่อกำหนดระยะเปลี่ยน และตรวจสอบสภาพต่างๆ เกี่ยวกับเบรกไปในตัว
สายอ่อนเบรก ส่วนมากเป็นสิ่งที่ทุกคนมักมองข้าม แต่ส่งผลถึงอาการเบรกแตกได้ง่ายๆ ถ้าเก่าให้รีบเปลี่ยนอย่างน้อยก็ยังอุ่นใจ ใช้ได้ตั้งหลายปี
ระบบช่วงล่าง
เป็นระบบที่ควรหาช่างตรวจเช็ค ตั้งแต่ ช็อค และ สปริง ลูกหมากบังคับเลี้ยว ยอยเพลากลาง ลูกปือนล้อ บูชยางต่างๆ แร็คพวงมาลัย รวมถึงลูกยางหุ้มเพลาขับ ยางหุ้มแร็ค ถ้าเสียหรือขาดควรได้รับการซ่อมแซมทันที เพราะพวกนี้มักจะส่งพลถึง สมรรถนะการขับขี่ และความสามารถในการเกาะถนน เป็นอันตรายมากๆ สำหรับชิ้นส่วนที่หลวมมากจน เกิดการหลุดแตกออกมาระหว่างการขับขี่
ล้อ และยาง
อายุการใช้งานของยางรถยนต์ของรถยนต์มือสองอยู่ในหลักไม่เกิน 4 ปี ก่อนที่จะเกิดอาการบวม แตกลายงา ยางที่เก่าประสิทธิภาพในการเกาะถนน การรีดน้ำ และการเบรกจะสูญเสียไปในทุกขณะ ควรตรวจเช็ดวันเดือนปีที่ผลิตของยาง ถ้ายางยังใช้งานได้ดี ให้จดบันทึก และทำการสลับล้อยางตามคู่มือรถ หรือทุกๆ 10,000 – 20,000 กิโลเมตร
ระบบไฟฟ้า
อีกระบบหนึ่งที่ไม่สามารถมองข้ามได้ มีอยู่มากรถที่ซื้อมาช่วงแรกๆ อาจเกิดปัญหามาจากระบบสายไฟ โดยเฉพาะพวกสายไฟต่อเติม เช่นเครื่องเสียง ไฟหน้า สปอร์ทไลท์ หรือพวกอุปกรณ์ตกแต่งต่างๆ ซึ่งได้มีการถอดเข้า ออก พวกนี้มักจะเกิดปัญหาลัดวงจร ไฟไหม้ หรือเครื่องดับได้ง่ายๆ ควรหาช่างไฟ (เก่งๆ) ตรวจความเรียบร้อย หรือถอดสายที่ไม่จำเป็นออกให้หมด และควรตรวจเช็คสภาพความพร้อมของกล่องฟิวส์ และฟิวส์สำรอง รวมถึงไดชาร์จ และได้สตารท์ให้เรียบร้อย
แบตเตอร์รี่ และน้ำกลั่นแบตเตอร์รี่
อันดับแรก ควรตรวจเช็คระดับน้ำกลั่น ในแบตเตอร์รี่ ควรอยู่ในระดับที่กำหนด และตรวจหา วัน – เดือน – ปี ที่หมดอายุของแบตเตอร์รี่ ส่วนมากแบตเตอร์รี่แบบเติมน้ำกลั่นจะมีอายุการใช้งาน ไม่เกิน 2 ปี ถ้าไม่แน่ใจถึงอายุของแบตเตอร์รี่ ให้เรียบเปลี่ยนเสียก่อนดีกว่า ไปจอดที่ไหนแล้วสตารท์ไม่ติด
ระบบแอร์
อย่างแรกควรหาช่างถอดตู้แอร์ ออกมาล้างทำความสะอาด เพราะตู้แอร์ที่รั่ว มักเกิดจากสิ่งอุดตันเข้าไปกัดกร่อนจนคอยล์เย็นเสียห าย ควรล้างออกเสียบ้าง และตรวจเช็คข้อต้อ โอริง ท่อน้ำยาแอร์ ต่างๆเพื่อป้องกันไม่ให้เกิด ปัญหาเรื่องตู้อบเคลื่อนที่
วันต่อภาษี และ พ.ร.บ.
เป็นสิ่งสำคัญที่มักจะลืมเลือน เราต้องตรวจดูว่า ภาษีรถยนต์ประจำปีจะหมดใน วันที่เท่าไหร่ เดือนอะไร เพราะอาจทำให้ต้องมาเสียค่าปรับ เสียเวลากันอีกครับ
อย่างที่กล่าวมา การดูแลรถยนต์มือสอง ไม่ได้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากหรือน่ากลัวอย่างไร ถ้าเรารู้จักดูแลรักษา เช็คสภาพหลังใช้งานบ่อยๆ รถสุดที่รักของคุณก็เป็นพาหะนะที่รู้ใจ ใช้งานไปอีกยาวนาน