ควันดำของเครื่องยนต์ดีเซลเกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ของน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งทำให้คาร์บอนบางส่วนในน้ำมันเชื้อเพลิง (ไฮโดรคาร์บอน) ไม่ได้ทำปฏิกิริยากับออกซิเจน จึงเหลือเป็นเขม่าควันดำออกมาทางท่อไอเสีย
ซึ่งเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงคุณภาพต่ำ กรองอากาศอุดตันทำให้อากาศไม่เพียงพอ ปรับแต่งปั๊มหัวฉีดไม่เหมาะสม หัวฉีดปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงชำรุด ทำให้การฉีดน้ำมันเชื้อเพลิงไม่เป็นฝอยละเอียด การออกแบบห้องเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เป็นต้น
ในรถยนต์แต่ละคันอาจมีปริมาณควันดำมากน้อยต่างกัน เนื่องจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุดังกล่าว ดังนั้น การบำรุงรักษาหรือปรับแต่งเครื่องยนต์อย่างเหมาะสมจึงเป็นหัวใจอย่างยิ่งในการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ปล่อยควันดำออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งการบำรุงรักษาเครื่องยนต์เพื่อป้องกันและลดปริมาณควันดำสามารถทำได้ดังนี้
เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามกำหนดเวลา
ตรวจหม้อกรองอากาศ ถ้าอุดตันมีฝุ่นจับมากให้ทำความสะอาดหรือเปลี่ยนใหม่
ตรวจสอบกำลังอัดของเครื่องยนต์ ถ้าต่ำกว่าปกติจะต้องซ่อมโดยเปลี่ยนแหวนลูกสูบหรือคว้านกระบอกสูบ
ปรับแรงดันที่หัวฉีดให้ตรงตามข้อกำหนด และหัวฉีดต้องฉีดน้ำมันเป็นละอองถ้าหัวฉีดปรับแรงดันไม่ได้ หรือฉีดน้ำมันไม่เป็นละอองเปลี่ยนชุดหัวฉีดใหม่
หลีกเลี่ยงการบรรทุกเกินพิกัด และควรขับรถอย่างนิ่มนวล
สำหรับประชาชนที่ต้องการนำรถยนต์ไปตรวจเช็คสภาพเครื่องยนต์ เพื่อปรับปรุงสภาพที่ก่อให้เกิดควันดำเกินมาตรฐานนั้น ควรเลือกใช้บริการที่ร้านที่เชื่อถือได้และราคาไม่สูงนัก หรือสามารถเลือกใช้บริการกับสถานบริการคลินิคไอเสียที่มีช่างเทคนิคผ่านการอบรมและเพิ่มพูนความรู้ รวมทั้งผ่านการประเมินเกณฑ์มาตรฐานจากกรมควบคุมมลพิษแล้ว ในการที่จะปรับแต่งเครื่องยนต์ให้อยู่ในสภาพดี ยืดอายุการใช้งาน และประหยัดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง รวมถึงประหยัดน้ำมัน
สถานบริการคลินิกไอเสียทุกแห่ง ได้ผ่านการตรวจประเมินคุณภาพความพร้อม 6 ด้าน จากกรมควบคุมมลพิษ ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากรหรือช่างเทคนิค การจัดสถานที่ การจัดการสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการงานซ่อม การประกันควบคุมคุณภาพของงานและอุปกรณ์เครื่องมือ
ปัจจุบันมีสถานบริการลดมลพิษคลินิกไอเสียทั้งหมดกว่า 140 แห่งทั่วประเทศ โดยประชาชนสามารถสังเกตได้จากป้าย “คลินิคไอเสียมาตรฐาน” หรือสถานบริการที่ติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมควบคุมมลพิษ โทร. 0-2298-2348 หรือ 0-2298-2620
สาเหตุของการเกิดควันดำและวิธีการแก้ไข
นิตยสาร รถ Weekly