ในการดูแลรถยนต์ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอนั้น นอกจากการที่จะต้องนำรถเข้าศูนย์บริการ เพื่อรับการซ่อมบำรุงตามระยะทางที่กำหนดไว้ในคู่มือแล้ว เจ้าของรถเองก็ควรต้องดูแลรถด้วย อาทิ การตรวจเช็กระดับของน้ำในหม้อน้ำให้พอดีอยู่เสมอ เพราะน้ำจะเป็นตัวที่ช่วยระบายความร้อนให้กับเครื่องยนต์ เพื่อป้องกันไม่ให้รถเกิดอาการโอเวอร์ฮีทหรือความร้อนขึ้นสูง
สำหรับหม้อน้ำที่ใช้ในรถยนต์นั้นจะอยู่ 3 แบบตามยุคสมัย โดยถ้าเป็นรถรุ่นเก่ามาก ๆหม้อน้ำเป็นแบบมีฝาปิดเปิดเพื่อเติมน้ำแต่ไม่มีถังพักน้ำสำรอง หม้อน้ำแบบนี้ควรตรวจเช็กระดับน้ำทุก ๆ เช้า และเวลาจะตรวจเช็กต้องทำตอนที่เครื่องเย็นอย่างตอนเช้า ๆ หรือก่อนสตาร์ตเครื่องยนต์เท่านั้น เพราะเมื่อเครื่องยนต์ทำงานแล้วน้ำหล่อเย็นจะมีความร้อนมาก เวลาเปิดฝาหม้อน้ำออกมาก็จะทำให้น้ำที่มีแรงดันและความร้อนมากกระเด็นออกลวกมือหรือหน้าได้ ส่วนระดับน้ำถ้าเห็นว่าลดลงไปเยอะก็ให้เติมให้พอดีกับปากท่อแล้วปิดฝาให้สนิท
แบบที่สองจะเป็นของรถรุ่นใหม่กว่าแบบแรก โดยจะมีถังพักน้ำสำรองเพิ่มเข้ามาแต่ยังมีฝาปิดหม้อน้ำอยู่ และระหว่างหม้อน้ำและถังพักน้ำสำรองจะมีท่อยางต่อเชื่อมกันอยู่ ข้อดีของหม้อน้ำแบบนี้คือ น้ำที่เติมลงไปจะมีการสูญเสียน้อย เพราะเมื่อน้ำในหม้อน้ำได้รับความร้อนจนกลายเป็นไอ ไอน้ำบางส่วนจะถูกดันให้มารวมตัวเป็นหยดน้ำที่ถังพักน้ำสำรอง และเมื่อหม้อน้ำเย็นลงแรงดันในหม้อน้ำก็จะลดลงด้วย ทำให้เกิดแรงดูดน้ำจากถังพักน้ำสำรองเข้ามาเติมในหม้อน้ำ
ส่วนการตรวจเช็กระดับน้ำในระบบต้องทำตอนเครื่องเย็นเช่นกัน โดยที่ถังพักน้ำสำรองให้ดูว่าระดับน้ำยังอยู่ระหว่างขีดสูงสุดและต่ำสุดหรือไม่ และที่ตัวหม้อน้ำนั้นให้ดูว่าน้ำมีเต็มเสมอปากท่อหรือไม่ ถ้าเห็นว่าระดับน้ำลดลงก็ให้เติมน้ำลงในหม้อน้ำก่อน จากนั้นค่อยเติมน้ำลงในหม้อพักน้ำสำรองให้อยู่ระหว่างขีดสูงสุดและต่ำสุดแล้วปิดฝาให้แน่น ระยะเวลาในการตรวจเช็กก็ควรทำทุก ๆ 15 วัน
แบบสุดท้ายจะเป็นแบบมีถังพักน้ำสำรองแต่ไม่มีฝาหม้อน้ำแล้ว การตรวจเช็กสะดวกกว่าแบบที่สอง เพราะทำได้ทั้งตอนเครื่องร้อนและเย็น โดยให้ดูที่ระดับน้ำในถังพักน้ำสำรอง ถ้าเห็นว่าลดลงต่ำกว่าขีดต่ำสุดก็เติมให้อยู่ในระหว่างขีดสูงสุดและต่ำสุดเช่นกัน สำหรับระยะเวลาในการตรวจเช็กหม้อน้ำแบบนี้ ก็ยาวขึ้นกว่าแบบที่สองเป็นสักเดือนละครั้งก็ได้
อีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในการดูแลหม้อน้ำก็คือ น้ำที่ใช้เติมในระบบหล่อเย็น ถ้าไม่จำเป็นไม่อยากให้ใช้น้ำประปาเพราะจะทำให้เกิดตะกรันอุดตันในระบบหล่อเย็นได้ง่าย ลองสังเกตอย่างกาต้มน้ำที่บ้านดูก็ได้ ถ้าใช้น้ำประปาต้มประจำ ที่ก้นกาต้มน้ำจะมีตะกรันเกาะแข็งอยู่เต็ม แนะนำว่าให้ใช้น้ำดื่มที่มีขายอยู่ทั่วไปจะดีกว่า ส่วนใหญ่จะนำน้ำประปามาผ่านการกรองอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งทำให้น้ำมีความสะอาดมากขึ้นและลดการเกิดตะกรัน
นอกจากนี้ก็ควรหาน้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำมาใส่ด้วยก็จะดี เพราะน้ำยาหล่อเย็นพวกนี้จะมีสารที่ช่วยลดการเกิดสนิม ตะกรัน และที่สำคัญคือ จะมีสารที่ช่วยเพิ่มจุดเดือดของน้ำให้สูงขึ้นกว่า 100 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิจุดเดือดจะสูงขึ้นมากหรือน้อยนี้ ขึ้นอยู่กับสัดส่วนการผสมของน้ำและน้ำยาหล่อเย็นหม้อน้ำ อาทิ ถ้าผสมแบบ 50/50 จุดเดือดของน้ำจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 107 องศาเซลเซียส ผสม 60/40 จะเพิ่มขึ้นเป็น 111 องศาเซลเซียส เป็นต้น
สุดท้ายแม้คุณผู้อ่านจะหมั่นดูแลระดับน้ำในหม้อน้ำอยู่เสมอแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่เครื่องยนต์อาจจะเกิดความร้อนขึ้นสูงเนื่องจากสาเหตุอื่น ๆ อาทิ พัดลมระบายความร้อนไม่ทำงาน หรือน้ำหล่อเย็นรั่วแตก เป็นต้น ดังนั้นอีกสิ่งหนึ่งคุณควรจะคอยสังเกตเสมอขณะขับรถก็คือ เกจ์วัดอุณหภูมิของเครื่องยนต์ ซึ่งเครื่องปกติดีเข็มวัดชี้จะอยู่ตรงกลางระหว่างตัว C และ H แต่ถ้าเห็นว่าเข็มขยับเข้าใกล้ H ก็แสดงว่าเครื่องยนต์มีความร้อนสะสมสูงขึ้น ควรจะหาที่จอดพักรถและไม่ควรจะขับต่อ ถ้าไม่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์เลยก็เรียกช่างมาดูให้จะดีที่สุด.