ไฟฉุกเฉิน ชื่อก็บอกชัดเจนอยู่แล้วว่า “ไฟฉุกเฉิน” เพราะฉะนั้น ไฟฉุกเฉินจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินและรถจอดหยุดนิ่งเท่านั้น ปัจจุบันอนุโลมให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉินอื่นๆ เช่น รถเกิดอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัย เป็นต้น
จุดประสงค์ที่แท้จริงของไฟฉุกเฉิน คือบอกตำแหน่งที่รถคุณอยู่และบอกเพื่อนร่วมทางว่าข้างหน้ามีสิ่งกีดขวางอยู่ ให้เบี่ยงทางซ้ายหรือขวา ในปัจจุบันหลายคนตีความหมายของไฟฉุกเฉินผิด และแปรสภาพของไฟฉุกเฉินไปต่างๆ นานา เช่น เปลี่ยนไฟฉุกเฉินเป็น “ไฟผ่าหมาก” ที่ใช้เมื่อเวลาผ่านแยกและไม่มีสัญญาณไฟจราจร หรือแม้แต่ใช้ไฟฉุกเฉินในช่วงฝนตก หนักหมอกลงจัด ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างมหันต์
ข้อดีของการเปิดไฟฉุกเฉินคือ ทำให้ผู้ร่วมทางรู้ว่ารถคันนี้ประสบอุบัติเหตุ จอดเสียอยู่ หรือแม้กระทั่งมีเหตุจำเป็นให้รถขับต่อไปไม่ได้ให้รถที่ตามมาด้านหลังหลบซ้ายหรือขวา จะได้ไม่ส่งผลต่อการจราจรมากนัก แต่จากการศึกษาพบว่ามีอยู่หลายสาเหตุ ที่มีการใช้ไฟฉุกเฉินผิดจุดประสงค์ จนทำให้ไฟฉุกเฉินกลายเป็นอุปกรณ์ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ร่วมทาง ไปดูกันเลยครับ ว่ามีกี่กรณี
- “ใช้ไฟฉุกเฉินเข้าแยก” เป็นความหวังดีประสงค์ร้ายอย่างมาก เพราะการเปิดไฟฉุกเฉินรถระหว่างข้ามแยก ไม่ว่ารถที่มาจากฝั่งซ้ายหรือขวาของรถท่าน จะเห็นสัญญาณไฟอยู่ฝั่งเดียว เขาไม่มีตาทิพย์ที่จะเห็นไฟอีกฝั่งของรถท่านแน่นอน ทำให้เข้าใจว่ารถของท่านจะเลี้ยวและนำไปสู่อุบัติเหตุกลางสี่แยกก็เป็นได้
- “หมอกลงจัด ฝนตกหนัก” อีกสาเหตุที่หลายคนเลือกที่จะเปิดไฟฉุกเฉินเพื่อต้องการตำแหน่งของรถคุณให้คนอื่นทราบ แต่หารู้ไม่ว่าเมื่อคุณเปิดไฟกระพริบทั้ง 4 ดวง อาจทำให้ผู้ร่วมทางเข้าใจผิดว่าคุณกำลังจะขับรถเปลี่ยนเลน ฉะนั้นคุณควรเปิดแค่ไฟหน้า (ไม่ควรเปิดไฟสูง เพราะจะเป็นอุปสรรคต่อรถที่สวนทางมา) เปิดไฟตัดหมอก ใช้ความเร็วต่ำและขับขี่ด้วยความระมัดระวัง
- “เมื่อต้องหยุดรถกะทันหัน” เมื่อมีเหตุสุดวิสัยที่ต้องหยุดรถกะทันหันผู้ใช้รถส่วนใหญ่มักจะเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้รถคันหลังทราบว่า รถเราเบรกกะทันหัน ซึ่งปกติรถทุกคันเมื่อเบรกจะมีไฟเบรกที่ค่อนข้างสว่างพอสมควร ทำให้รถคันหลังสังเกตเห็นได้ชัดเจน และส่วนมากรถที่ขับตามกันมาจะมีการเว้นระยะห่างเพื่อเบรกอยู่แล้ว ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรเมื่อคุณเบรกกะทันหันแล้วต้องเปิดไฟฉุกเฉินเลย
- “เมื่อต้องขนของชิ้นใหญ่หรือรถลากจูงจากอุบัติเหตุ” กรณีนี้ถ้าเลือกได้ควรปิดป้ายไว้ด้านท้ายของรถท่าน เช่น “รถลากจูง” หรือผูกผ้าสีแดงเพื่อเป็นสัญญาณว่ารถคันนี้ขนของ ให้ผู้ร่วมทางใช้ความระมัดระวังจะทำให้ปลอดภัยมากกว่าการเปิดไฟฉุกเฉินรวมทั้งใช้ความเร็วต่ำ ขับชิดซ้าย