การขับรถยนต์ให้ปลอดภัย นอกจากผู้ขับต้องมีความชำนาญแล้ว ท่าทางในการขับ ก็มีความสำคัญ เช่นกัน เพราะมีส่วนเพิ่ม หรือลดประสิทธิภาพในการควบคุมรถยนต์
การปรับตำแหน่งเบาะ เบาะนั่งที่ดี ควรปรับได้อย่างน้อย 3 จุด คือ ระยะของเบาะนั่ง มุมเอียงของพนักพิง และระดับสูง-ต่ำของหมอนรองศีรษะ
ส่วนการปรับระดับสูง-ต่ำของเบาะนั่ง มุมเอียงของหมอนรองศีรษะและพนักพิง ช่วยให้ผู้ขับมีความสะดวกสบายมากขึ้น
การปรับเบาะนั่ง ให้ได้ระยะที่เหมาะสม สำหรับรถยนต์เกียร์ธรรมดา ทำได้โดย ใช้ฝ่าเท้าซ้ายเหยียบแป้นคลัตช์ให้สุด (อย่าใช้ปลายเท้าเหยียบคลัตช์) จากนั้นเลื่อนเบาะให้หัวเข่าซ้ายงอเล็กน้อยสำหรับรถยนต์เกียร์อัตโนมัติ ซึ่งไม่มีแป้นคลัตช์ ให้ใช้เท้าซ้าย เหยียบลงบนแป้นพักเท้าหรือพื้นรถยนต์ และใช้ฝ่าเท้าขวาเหยียบแป้นเบรก จากนั้นเลื่อนเบาะให้หัวเข่าขวางอเล็กน้อย
การปรับมุมเอียงของพนักพิง ให้ใช้มือซ้าย-ขวาจับพวงมาลัย ที่ตำแหน่ง 9 และ 3 นาฬิกา หรือ 10 และ 2 นาฬิกา และปรับตำแหน่งพนักพิงเอนไปด้านหลัง กระทั่งข้อศอกทั้ง 2 ข้าง หย่อนเล็กน้อย ลองเลื่อนมือไปจับพวงมาลัยในตำแหน่ง 12 นาฬิกา แขนต้องเกือบเหยียดตึงโดยไม่ต้องโยกตัวขึ้นมา หรือแบบมือพาดลงไป วงพวงมาลัยต้องอยู่บริเวณข้อมือจึงจะเป็นตำแหน่งที่เหมาะสมต่อการขับมากที่สุด
หมอนรองศีรษะไม่ได้มีไว้ให้หนุนขณะขับ แต่ช่วยลดอาการบาดเจ็บบริเวณต้นคอ หากเกิดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะการถูกชนท้ายที่ศีรษะจะสะบัดไปด้านหลัง การปรับระดับของหมอนรองศีรษะที่เหมาะสม ควรปรับให้ขอบบนของหมอนรองศีรษะอยู่ระดับใบหูด้านบน ถ้าหมอนรองศีรษะสามารถปรับระดับมุมเอียงได้ ควรปรับให้ใกล้ศีรษะมากที่สุด เพื่อลดการสะบัดของศีรษะเมื่อถูกชนท้าย
การปรับตำแหน่งพวงมาลัย รถยนต์ส่วนใหญ่ที่พวงมาลัยสามารถปรับได้ มักเป็นการปรับระดับสูง-ต่ำ ไม่ควรปรับไว้ต่ำเกินไปจนส่วนล่างของวงพวงมาลัยติดกับต้นขา รถยนต์ราคาแพงบางรุ่น พวงมาลัยสามารถปรับระยะใกล้-ไกลได้ด้วย ไม่ควรปรับไว้ไกลเกินไปจนต้องเหยียดแขนตึง เพราะอาจเกิดความเมื่อยล้าและลดความฉับไวในการบังคับทิศทาง หรือใกล้เกินไป เพราะอาจได้รับอันตราย เมื่อถุงลมนิรภัยทำงาน
การปรับมุมกระจกมองข้าง และกระจกมองหลัง กระจกมองข้างซ้าย-ขวา ส่วนใหญ่สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง คือ บน-ล่าง และซ้าย-ขวา การปรับ ไม่ควรให้เห็นตัวถังด้านข้างมากเกินไปเพราะจะเป็นการลดมุมมองด้านข้าง และควรปรับให้เป็นแนวขนาน ไม่ก้มหรือเงยมากเกินไปส่วนกระจกมองหลัง ควรปรับให้เห็นด้านหลังให้มากที่สุด และเอียงไปเห็นพื้นที่ด้านซ้ายของรถยนต์ด้วย โดยเมื่อนั่งในท่าปกติแล้วมองกระจกมองหลัง ไม่ควรเห็นศีรษะของผู้ขับ
ท่านั่ง การปรับตำแหน่งเบาะนั่งที่เหมาะสมจะหมดความสำคัญ ถ้าผู้ขับนั่งในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง ผู้ขับหลายคน ปรับเบาะได้ถูกต้องแล้ว แต่พยายามโยกตัวมาด้านหน้า เพื่อให้มองเห็นปลายของฝากระโปรงหน้า หรือวัยรุ่นที่ชอบปรับเบาะให้เอนมากๆ แล้วชะโงกตัวขึ้นมาโหนพวงมาลัยแผ่นหลัง จึงไม่สัมผัสพนักพิงอย่างเต็มที่ ทำให้สูญเสียความฉับไว และแม่นยำในการควบคุมรถยนต์ เมื่อจะมองกระจกมองข้างและกระจกส่องหลัง ก็ต้องเบนแนวสายตามากขึ้น รวมทั้งเกิดความเมื่อยล้า เมื่อนั่งเป็นเวลานาน