สคบ.จัดกิจกรรมเพื่อผู้บริโภคเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

กองบรรณาธิการ

การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 การรวมตัวทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ไม่อาจละเลยปัญหาด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่อาจจะตามขึ้นมาภายหลังได้ จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องให้การคุ้มครองผู้บริโภค ที่ทำการตลาดร่วมเศรษฐกิจ สามารถดำเนินไปได้ด้วยความยุติธรรม  ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จึงได้เร่งดำเนินการเสริมสร้างความรู้ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ให้แก่ประชาชนในฐานะผู้บริโภค ให้รับทราบถึงสิทธิที่พึงได้และสิทธิควรรู้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยผ่านกิจกรรมครั้งสำคัญ ในงาน สคบ.แฟร์ มั่นใจ ไทยแลนด์ ระหว่างวันที่ 27-29 กันยายน 2556 นี้ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ อาคารซี ชั้น 1-2 และเอเทรี่ยม


 


จากนโยบาย เข้าสู่ประชาคมอาเซียน ที่มีเป้าหมายเป็นตลาดเดียว (Single Market) นั่นคือเป็นภูมิภาคที่ไม่มีเส้นแบ่งเขตแดนทางการค้า ยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลางในการบริโภคสินค้าในราคาที่แข่งขันได้ภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEN Free Trade : AFTA)  จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ในการทำให้ตลาดร่วมเศรษฐกิจเดียวกันนี้ สามารถดำเนินด้วยความยุติธรรม การไร้ซึ่งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้มแข็ง อาจทำให้ผู้บริโภค ขาดกลไก ในการเยียวยาชดใช้ความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการบริโภคสินค้าและบริการ


 


สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการดำเนินการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคแก่ประชาชน ตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ ร่วมทั้งให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ยังเป็นองค์กรของรัฐ ที่เป็นสมาชิกในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคของอาเซียนด้วย (ASEAN Committee on Consumer Protection: ACCP) ดังนั้น สคบ.จึงเห็นความจำเป็นว่า ต้องเร่งให้การส่งเสริมให้ความรู้ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหา ที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน โดยผ่านกิจกรรม งาน สคบ.แฟร์ มั่นใจไทยแลนด์ ในครั้งนี้


 


นาย จิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวถึงจุดประสงค์ การจัดงานครั้งนี้ว่า  “กิจกรรมครั้งนี้ มุ่งให้ประชาชนได้รับข่าวสารด้านการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแพร่หลาย และเพียงพอ  มีความเข้าใจในการเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยในเบื้องต้น รวมทั้งรู้ช่องทางการร้องทุกข์ เพื่อให้ได้รับการเยียวยา ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการบริโภคสินค้าและบริการที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ”


“การแนะนำให้ประชาชนเลือกซื้อสินค้าและบริการ ที่ติดตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้ริโภค ซึ่งแสดงว่า สินค้านั้นมีระบบการเยียวยา ชดใช้ความเสียหายที่รวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการชั้นศาล”


“นอกจากนี้แล้วผู้ประกอบธุรกิจ และประชาชน จะได้รับทราบนโยบายด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการดำเนินงานการคุ้มครองผู้บริโภค ของ สคบ. อีกด้วย”

ด้านกิจกรรมไฮไลท์ภายในงานที่น่าสนใจของงาน ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ


 ส่วนที่ 1  ส่วนนิทรรศการให้ความรู้ เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ให้ความรู้เกี่ยวกับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค การดำเนินงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ สคบ. และความรู้ด้านการรักษาสิทธิ์ผู้บริโภคจากการซื้อสินค้าและบริการ


 ส่วนที่ 2 การแสดงนวัตกรรมสินค้าและการจำหน่ายสินค้าราคาเป็นธรรม โดยผู้ประกอบการธุรกิจ อาทิ กว่า 300 บูธ จากกลุ่มผู้ประกอบการด้านรถยนต์ ธุรกิขายตรง ร้านทอง โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้า บ้านจัดสรรและอาคารชุด ธุรกิจอู่ซ่อมรถยนต์ ตั๋วเครื่องบิน โรงเรียนกวดวิชาต่างๆ รวมถึงการบริการประชาชนของกรมการปกครอง จัดให้มีการทำบัตรประชาชนภายในงาน และกรมขนส่งทางบก จัดบริการทำใบขับขี่ให้แก่ประชาชน รวมถึงสินค้าราคาเป็นธรรม จากกลุ่ม OTOP และกลุ่มสินค้าธงฟ้า


 ส่วนที่ 3 กิจกรรมบันเทิงประกอบสาระความรู้ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น



  • คุณฉัตรปวีณ์ ตรีชัชวาลวงศ์ : IT กับผู้บริโภค

  • คุณอโณทัย เอี่ยมสำเนา : ซื้อรถยนต์อย่างไร ไม่ช้ำใจภายหลัง

  • คุณเศรษฐา ทวีสิน : วิธีเลือกซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างชาญฉลาด

  • คุณจันทร์นภา สายสมร : ติดฟิล์มอย่างไรให้ถูกใจ ถูกเงิน ถูกกฎหมาย

  • คุณพาที สารสิน : สิทธิของผู้บริโภคกับสายการบิน

  • เสวนาจาก สอท. หัวข้อ: บาร์โค้ดกับการจัดการสินค้าในปัจจุบัน และอนาคต โดย นักวิชาการ สถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

  • Special Guest ผู้ประกอบการที่ได้รับตราสัญลักษณ์ บริษัทขายตรง / โรงเรียนกวดวิชา และธุรกิจร้านทอง

  • มินิคอนเสิร์ต จากศิลปินดัง

    • วันศุกร์ที่ 27 กันยายน 2556 เวลา 18.00 น. พบกับ พลพล พลกองเส็ง

    • วันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2556 เวลา 18.00 น. พบกับ พั้นซ์ วรกาญจน์

    • วันอาทิตย์ 29 กันยายน 2556 เวลา 18.00 น. พบกับ ไบรท์ วิชเวช AF9

    •              

    • ด้าน นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมสนับสนุนการจัดงานกล่าวถึง ความร่วมมือระหว่าง สอท.และ สคบ. ในครั้งนี้ว่า“ทาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสคบ. ได้การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง สคบ. กับสถาบันรหัสสากล(GS1 Thailand) ในการนำมาตรฐานบาร์โค้ด (GS1 Barcode) มาใช้ดำเนินงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค และส่งเสริมให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มาตรฐานสากล (GS1 Standard) อีกทั้งยังนำมาใช้ร่วมกับตราสัญลักษณ์คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจ ในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ใน พ.ศ. 2558 ที่จะมาถึงนี้ ซึ่งในปัจจุบัน เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตอย่างมาก ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการคุ้มครองสิทธิของเราจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และ มาตรฐาน GS1 ที่นำระบบ GS1 Barcode มาบูรณาการร่วมกับการคุ้มครองผู้บริโภค จะเป็นการช่วยเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลของผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจที่มีมาตรฐาน ให้มีช่องทางในการแสดงข้อมูลสินค้าหรือบริการของตนให้ผู้บริโภคได้รับทราบ ซึ่งประชาชนผู้บริโภคจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์ส่วนนี้โดยตรง”




                และ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เชิญผู้ประกอบการหลากหลายกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น สินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณี สมุนไพร รวมไปถึง เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เข้าร่วมออกคูหาแสดงสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ในด้านการซื้อ-ขายสินค้าที่มีคุณภาพได้อย่างเต็มศักยภาพ”


สำหรับผลของการจัดงานครั้งนี้ ทาง สคบ. มองไปที่กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกิจกรรม ประกอบด้วย ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจ เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เจ้าหน้าที่องค์กรภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง นักเรียน นักศึกษาชมรมคุ้มครองผู้บริโภคจำนวน 20,000 คน โดยผลที่จะได้รับจากการจัดงาน ดังนี้



  1. ประชาชนในฐานะผู้บริโภคมีความรู้ ความเข้าใจด้านการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันในการบริโภคสินค้าหรือบริการให้ได้รับความเป็นธรรมและปลอดภัย

  2. ประชาชนรู้และสามารถดำเนินการร้องทุกข์ต่อหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากการซื้อการบริโภคสินค้าหรือบริการ

  3. ประชาชนเกิดความตระหนักเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคของตนเมื่อต้องเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

  4. ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าโดยให้ความสำคัญในสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งพัฒนาระบบการเยียวยาชดใช้ความเสียหายแก่ผู้บริโภคที่บริโภคสินค้าหรือบริการของตน เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในระดับประเทศ ระดับประชาคมอาเซียนและระดับสากล


 


 

งาน สคบ.แฟร์ มั่นใจไทยแลนด์ จะจัดขึ้นวันที่ 27-29 กันยายน 2556 นี้ ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โซนซี ชั้น 1-2 และโซนเอเทรี่ยม ระหว่างเวลา 10.00-19.00 น. งานเดียวที่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคจะได้รับความรู้ด้านสิทธิการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเป็นผู้ฉลาดบริโภค ไม่ควรพลาด!!