ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ผู้ใช้รถยนต์มีการพูดถึงการ รีคอล (RECALL) รถกันมากขึ้น โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน จนทำให้การรีคอลรถยนต์เป็นเรื่องที่น่ากลัว และมีผลด้านจิตวิทยาไปถึงรถยนต์ที่ตนเองใช้งานอยู่ที่ถูกรีคอลว่า เป็นรถที่ไม่มีคุณภาพ ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพจากโรงงาน จนพาลมีอคติกับรถคันนั้นไปเลย และรวมไปถึงคนขายรถด้วย
การรีคอล เป็นการ "เรียกกลับ" รถยนต์ที่จำหน่ายออกไปแล้วให้กลับมารับบริการที่ศูนย์บริการของตัวแทนจำหน่าย เพื่อดำเนินการปรับเปลี่ยนหรือเพิ่มเติมชิ้นส่วนเล็กๆน้อยๆ แก้ไขข้อบกพร่องเล็กๆน้อยๆ ที่บริษัทผู้ผลิตพบภายในการผลิตและผ่านการใช้งานไปแล้วระยะหนึ่ง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ที่ได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ดีขึ้นด้วยในต่างประเทศ มักจะเห็นการข่าวการรีคอลรถยนต์รุ่นต่างๆ ทีละแสนๆ คัน บางครั้งรีคอลเป็นล้านคัน จนเป็นเรื่องปกติกันไปแล้ว ซึ่งผู้บริโภคโดยเฉพาะทางยุโรป อเมริกา ให้การยอมรับและเข้าใจ รวมทั้งยินดีที่จะนำรถเข้าไปรับบริการเพิ่มขึ้นเมื่อมีการรีคอล เพราะจะได้รับการแก้ไขจุดที่อาจเกิดความบกพร่องล่วงหน้า ทั้งๆ ที่อุปกรณ์นั้นๆ ยังไม่เกิดปัญหาอะไร โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายอะไรสักกะบาทแต่สำหรับคนไทย หากใครได้รับการติดต่อจากโชว์รูมรถยนต์ว่า จะรีคอลรถกลับมาที่ศูนย์เพื่อแก้ไขอุปกรณ์บางชิ้นส่วน จะมีความรู้สึกว่า มันเป็นเรื่องใหญ่มากๆ และหวาดผวาไปว่า รถที่ใช้ขับอยุ่ทุกวี่ทุกวัน เป็นเหมือนระเบิดเวลา ที่จะตูมตามขึ้นเมื่อไรก็ไม่รู้ รวมทั้งไปพาลถึงผู้ผลิตรถยนต์ว่า "อ๋อ เป็นเพราะมันขายดี ละซิ เลยไม่มีเวลาเอารถผ่านระบบคิวซี แล้วมาขายส่งๆ ให้ลูกค้า"ก็น่าเห็นใจคนซื้อละครับ ในไทยรถคันนึงไม่ใช่ถูกๆ ราคาแพงพอๆ กับบ้าน อ้อ ไม่ใช่ บางคันแพงกว่าบ้านด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ขับๆ ไปแล้ว มีคนที่ทักว่า รถที่คุณขับอยู่ มีปัญหาจุกจิก ก็แทบประสาทกันไปยกใหญ่
ผมจะยกตัวอย่างให้ดูกันสักหนึ่งเรื่อง เมื่อหลายปีก่อนข่าวลือใหญ่โตมโหฬารว่า รถกระบะที่ผลิตในไทยส่งไปขายที่ยุโรป ถูกตีกลับประเทศไทยทั้งลำเรือ ทำเอาชื่อเสียงดีทรอยต์ ออฟ เอเชีย ป่นปี้ก็คราวนี้ แต่พอเช็คถึงต้นตอแล้ว ก็เบาใจ เพราะทางยุโรปเขาให้รีคอลกลับเข้าศูนย์บริการเพื่อเปลี่ยนสายยางในถังน้ำมันเชื้อเพลิงให้ยาวขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ของที่ทำในไทยก็ไม่ได้สั้นอะไร เป็นไซส์มาตรฐานไทยๆ เพียงแต่พฤติกรรมการใช้รถคนไทยและคนยุโรปไม่เหมือนกัน ก็เลยมีความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา คนไทยส่วนใหญ่ใช้รถมักจะเติมน้ำมันเผื่อไว้ กันเหนียว ไม่ใช้น้ำมันให้ขอดก้นถัง อนุมานว่า เพื่อที่เครื่องยนต์ไม่ดูดตะกอนฝุ่นก้นถังไปเผาไหม้ ทำให้เครื่องยนต์สกปรกเปล่าๆ แต่คนยุโรปกลับตรงกันข้าม แทบจะใช้จนหยดสุดท้าย สายยางดูดน้ำมันไม่ยาวพอ เครื่องยนต์เลยมีอาการสะดุดกึกกึก ทางคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่นั่น เลยตรวจอาการแล้ว จึงสั่งให้เปลี่ยนที่ศูนย์บริการในประเทศนั้นๆเลย ซึ่งบริษัทผู้จัดจำหน่ายเสียค่าใช้จ่ายไม่เท่าไร ก็ปล่อยรถให้ลูกค้าไปวิ่งกันปร๋อแล้วครับ ดังนั้น จึงขอย้ำอีกครั้งว่า การรีคอลรถไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราเคยเชื่อกันมาครับ เมื่อเขาโทรมาตามให้เข้าศูนย์รับการแก้ไข รีบๆ ไปเลยครับ เขาซ่อมให้ฟรีๆ ไม่เสียค่าใช้จ่าย ถ้าต้องจ่ายเงินด้วย ให้แจ้งตำรวจจับไปเลยครับ