ทุกวันนี้ที่ยอดรถยนต์ใหม่ต่างจำหน่ายได้ดีเป็นเทน้ำเทท่า นั่นชี้ให้เห็นว่าคนจำนวนมากต่างหันที่จะให้ความสะดวกสบายแก่ชีวิตตัวเองมากขึ้น เช่นเดียวกันกับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะเส้นทางเพื่อทำธุระส่วนตัวของตัวเอง
รถที่มากขึ้นและคนที่มากขึ้น แม้จะทำให้บรรดาค่ายรถยนต์แฮปปี้ และทำให้คนไทยอีกหลายๆคนมีงานทำจากอัตราจ้างงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทว่าปัจจุบันสังคมบนท้องถนนเมืองไทยกลับก้าวสู่วิกฤติ เมื่อมีคนจำนวนมากต่างใช้รถใช้ถนนอย่างไม่เข้ากฏและการปฏิบัติที่ถูกต้อง ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้จากความมักง่ายและไม่ใฝ่รู้ของคน
1.ไฟฉุกเฉิน เราเรียกไฟฉุกเฉิน เพราะ หลายคนที่ไม่เข้าใจจะได้รู้ถึงชื่อที่ใช้จริงๆของมัน ไฟฉุกเฉิน หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “ไฟผ่าหมาก” นั้น เป็นไฟที่จะทำให้ไฟเลี้ยวกระพริบ 2 ด้าน ซึ่งมีความหมายให้รถหลังแซงเราขึ้นไป ผิดกับไฟเลี้ยว ที่จะเป็นการขอทาง
ความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของไฟฉุกเฉิน เกิดขึ้นจากนิสัยมักง่ายของคนบ้านเรา บวกกับศัพท์ชาวบ้านที่เรียกว่า “ไฟผ่าหมาก” ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อย เข้าใจผิด คิดว่า การที่เราต้องผ่าน 4 แยก ในยามที่ข้างหน้าเราไม่มีรถนั่น โดยเฉพาะตอนกลางคืน จะต้องเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อ ให้รถที่รออยู่รู้ว่าเราจะตรงไป
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผิดมหันต์ เนื่องจากไฟฉุกเฉิน ความจริงแล้วคุณจะได้ใช้ใน 2 กรณี คือ 1. เมื่อรถเสีย- ขัด ข้องหรือ มีปัญหา ไม่ว่าจะจอดตายกลางถนน หรือข้างทาง ไฟฉุกเฉิน จะช่วยแสดงตำแหน่งรถที่ตามมารู้ได้ ส่วนอีกกรณีนั้นจะใช้ก็ต่อเมื่อเราจะเข้าที่จอดรถ การเปิดไฟฉุกเฉินในกรณีนี้ จริงๆไม่ถูกและไม่ผิด แต่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมากกว่า เพื่อให้รถที่ตามมารู้ว่าเรากำลังรอรถที่กำลังจะออกจากช่องจอดรถ
2.ไฟเลี้ยว กรณีนี้เป็นกรณีใหม่ ที่เริ่มมีหลายคนพูดถึงและเราไม่แน่ใจว่าใครเป็นคนสอนคนพวกนี้ในการขับรถ พบมากในกลุ่มรถแท็กซี่ และรถรับจ้างอื่นๆ ตามปกติของการใช้ไฟเลี้ยว คือคุณเปิดในทางที่คุณจะไป ยกตัวอย่างเลี้ยวซ้าย ซึ่งจะทำให้รถที่ตามมาด้านข้าง และด้านหลัง รู้ทิศทางที่คุณจะไป
ตามกฏจราจร คุณต้องเปิดไฟเลี้ยวในระยะ 100 เมตร ก็ถึงจุดเปลี่ยนเส้นทาง แต่ในสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นกับสังคมใช้ถนนบ้านเรา คือ เปิดไฟเลี้ยวตรงข้ามกับทิศทางที่จะไป ซึ่งล่าสุดเราเจอเลี้ยวซ้ายเปิดไฟเลี้ยวขวา จนจ๊ะเอ๋เกือบเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งคนขับรถที่ทำพฤติกรรมเช่นนี้ให้เหตุผลว่า รถที่มาทางด้านข้าง (ในกรณี 3 แยก) จะได้เห็นว่าเขาจะออกและทำให้ง่าย ซึ่งความมักง่ายนี่เอง เกือบทำให้เราลงไปกลิ้งอยู่กับพื้นแล้ว
การใช้ไฟเลี้ยวที่ถูกต้องคุณควรให้สัญญาณทางที่คุณไป เพื่อไม่ให้รถที่ตามมาทางด้านหลังสับสน ในกรณี 3 แยกก็ทำแบบเดียวกัน แต่คุณต้องคอยมองกะระยะรถที่ใช้ทาง และออกรถเมื่อเห็นว่าปลอดภัย ไม่ใช่หวังว่าทุกคันจะยอมให้คุณไปได้เสมอ
อีกกรณีที่เราอยากจะฝากไว้เพิ่มเติมคือ ไม่เปิดไฟเลี้ยว ไม่ว่าจะเลี้ยวเข้าซอย หรือไปยังเส้นทางอื่น การเปิดไฟเลี้ยว ล่วงหน้าช่วยให้ผู้ขับคนอื่น รับทราบเส้นทางของเราและทำให้การจราจรคล่องตัวมากขึ้น การที่คุณไม่เปิดไฟเลี้ยวกรณีเกิดการชนขึ้น อาจโดนข้อฐานขับขี่โดยประมาท ซึ่งทำให้ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบได้ หากเกิดอุบัติเหตุ
3. ช้าชิดขวา เรื่องนี้เป็นเรื่องที่แก้ไม่หายสักทีสำหรับคนไทยที่ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะ เขตต่างจังหวัด หรือเส้นทางระหว่างเมือง ทางด่วน หรือ ถนนที่มีหลายช่องทาง ซึ่งเราจะพบว่า เมื่อรัฐบาลประกาศขับ 90 ช่วยชาติประหยัดน้ำมันนั้น คนไทยก็พร้อมกันช่วยชาติ แช่เลนขวานับเลขต่อม่อสะพานกันเพลินๆ
กรณีขับช้าชิดขวานั้นถือว่า มีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก ในข้อหากีดขวางการจราจร ถ้าเจ้าหน้าที่พบเห็นสามารถจับคุณได้ในข้อหาดังกล่าว ซึ่งมีคนจำนวนมากไม่ทราบและทำกันเป็นประจำ ซึ่งเป็นต้นเหตุของอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ที่ไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้
การขับช้าชิดขวานั้นเป็นเรื่องที่ผิด เพราะตามหลักแล้วหากคุณไม่ประสงค์จะใช้ความเร็วมากนักในการเดินทาง ตามกฏว่าให้ใช้ช่องทางซ้ายมือ ซึ่งแน่นอนว่าจะไปเจอกับรถบรรทุก ทำให้หลายคนเลี่ยงที่จะมาใช้เลนขวา แล้วขับไม่รู้ร้อนรู้หนาวตามใจฉัน พฤติกรรมเยี่ยงนี้ควรปรับเปลี่ยน เพราะถ้าคุณไม่รีบใช้เลนซ้ายเมื่อจำเป็นต้องแซงก็ค่อยออกเลนกลางหรือเลขขวา ด้วยไฟขอทางมาจะดีกว่า การแช่ขวาทำให้การจราจรเกิดความไม่คล่องตัว และท้ายที่สุดอาจลงเอยด้วยอุบัติเหตุ หรือตำรวจจับได้
4. ไฟตัดหมอก เรื่องนี้เราเคยพูดถึงไปแล้ว แต่ก็จะมาย้ำเตือนกันอีกรอบ ว่าไฟตัดหมอกควรจะเปิดใช้เวลาที่ทัศนวิสัยไม่ดี เท่านั้น นอกนั้นไม่ควรจะนำมาใช้งาน เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากลำแสงไฟนั้นมีลักษณะเป็นสปอร์ตไลท์ เมื่อมันส่อง แม้จะมีระยะสูงจากพื้นไม่มาก แต่การกระจายแสงที่ดีเลิศ ทำให้มันอาจจะแยงตาสำหรับใครหลายๆ ซึ่งเราแนะนำว่าไม่ควรเปิดใช้ โดยเฉพาะในเขตเมือง
การใช้ไฟตัดหมอกนั้นจำไว้ว่าใช้เฉพาะในยามที่ทัศนวิสัยไม่ดี ไม่เฉพาะเพียงหมอกเท่านั้น แต่หมายถึงการขับในถนนเปลี่ยว ยามฝนตกและอื่นๆอีกมา ที่คุณจะได้ใช้ไฟพวกนี้แน่ ไม่ต้องกังวลว่าซื้อมาแล้วเดี๋ยวจะไม่ได้ใช้
นี่เป็นเพียง 4 นิสัยที่ทำให้ถนนเมืองไทยวุ่นวาย ที่หากเราเริ่มต้นที่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม 4 ข้อที่เรากล่าวมานี้ แค่นี้ ถนนเมืองไทยก็จะน่าใช้ขึ้นแยะแล้ว
4 ข้อที่กล่าวมานี้ ล้วนแต่เป็นเรื่องสำคัญทั้งนั้น ไม่ว่าจะช้าชิดขวา ไม่เปิดไฟเลี้ยว เปิดผิด ไฟผ่าหมาก เหล่านี้ ล้วนสร้างความยุ่งยากให้การจราจรบนถนนทั้งนั้น การที่เราเข้าใจและปฏิบัติให้ถูกต้องนั้น ช่วยให้การจราจรคล่องตัวลดอุบัติเหตุจากความเข้าผิด และยังทำให้ถนนมีความน่าใช้เพิ่มขึ้นจากสำนึกที่ดีของคนขับด้วยครับ