ความคุ้มค่าของการเลือกวิธี “เปลี่ยนเครื่อง” อยู่ที่ “เทคนิคการเลือกซื้อเครื่องยนต์” ที่จะต้องเหลืออายุการใช้งานมากที่สุด เพราะเครื่องยนต์เก่าจากญี่ปุ่น จะปะปนกันระหว่างรถทิ้งและรถชน ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถประเมินอายุการใช้งานที่แน่นอนได้เลย
เทคนิคการเลือกซื้อเครื่องยนต์เก่า เป็นสิ่งที่เรียนรู้ได้ไม่ยาก แต่จะต้องมีความละเอียดรอบคอบ เพราะเจ้าของรถยนต์เป็นผู้ใช้เครื่องยนต์ตัวนี้เอง เรื่องอะไรจะไปเลือกแบบ “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” เมื่อขึ้นชื่อว่าเครื่องยนต์เก่าใช้แล้ว การเลือกซื้อต้องมีความใจเย็น ในเมื่อราคาจำหน่ายไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุการใช้งานที่เหลือ จึงต้องเลือกเครื่องยนต์ที่ใหม่ที่สุด จึงจะคุ้มค่าเงินที่สุด
1. เปิดดูฝาเติมน้ำมันเครื่อง
เพื่อดูคราบน้ำมนเครื่องใต้ฝาวาล์ว ถ้าทางร้านยอมให้เปิดฝาวาล์วยิ่งดี (แต่ทางร้านมักไม่ยอมเสียเวลา) ควรหาไฟฉายกระบอกเล็ก ๆ ไปส่องดู ถ้าเครื่องยนต์ผ่านการใช้งานมาน้อย คราบน้ำมันที่เกาะอยู่จะน้อยและมีสีอ่อน เครื่องยนต์ที่มีคราบเหลืองหรือน้ำตาลอ่อน จะผ่านการใช้งานมากปานกลางประมาณ 20,000 –50,000 กม. ถ้าเครื่องยนต์มีเขม่าสีน้ำตาลเข้มหรือตะกรันสีดำก็มองข้ามไปได้เลย ถ้าพบเครื่องยนต์ที่มีชิ้นส่วน ภายในมีคราบน้อยมาก แสดงว่าเครื่องยนต์ตัวนั้น ผ่านการใช้งานมาน้อยหรือถอดจากรถที่เกิดอุบัติเหตุ เครื่องยนต์ที่พบส่วนใหญ่จะมีคราบสีเหลืองอ่อน ๆ ซึ่งยังน่าสนใจอยู่ เพราะยังเหลืออายุการใช้งานอยู่เกินครึ่ง การสอดส่องดูคราบน้ำมันเครื่องใต้ฝาวาล์ว จะได้ผลก็ต่อเมื่อสายตาคุณ สามารถสอดส่องเข้าไปให้ลึกที่สุด โดยมีข้อควรระวังก็คือ เครื่องยนต์ที่ทางร้านล้างบริเวณช่องเติมน้ำมันเครื่องหลอกตาไว้ จึงควรสอดส่องเข้าไปลึกที่สุด ถ้าเป็นไปได้ ให้เปิดฝาวาล์วดูจะแน่นอนที่สุด ถ้าไม่ชำนาญพอ ว่าง ๆ ลองเปิดฝาเติมน้ำมันเครื่องของเครื่องยนต์รถตัวเอง ประเมินกับอายุการใช้งานที่ผ่านมาไว้สำหรับเปรียบเทียบตอนเลือกซื้อเครื่องยนต์ตัวใหม่
2. ท่อทางเดินน้ำระบบระบายความร้อน ไม่ควรมีคราบสนิมหรือรอยผุกร่อน
3. น๊อต น๊อตทุกจุดทุกตัว ไม่ควรมีร่องรอยการถอด เพราะอาจแสดงว่าเครื่องยนต์ตัวนั้นถูกย้อมแมวกันในเมืองไทย
4. ร่องพูเลย์สายพาน สายพานจะหมุนบนร่องพูเลย์ตลอดการทำงาน ถ้าร่องสายพานบนพูเลย์สึกหรอมาก แสดงว่าเครื่องยนต์ตัวนั้น ผ่านการใช้งานมามากแล้ว
5. ท่อไอเสีย
ดูให้ชัดเจนและใช้นิ้วแตะดูเขม่าลึก ๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร ถ้าเป็นเขม่าเปียกปนกับน้ำมันเครื่อง แสดงว่าเครื่องยนต์ตัวนั้นมีน้ำมันเครื่องเล็ดลอดเข้าห้องเผาไหม้ได้ หรือ “เครื่องหลวม” แล้วนั่นเอง เครื่องยนต์ที่สมบูรณ์ ควรมีเขม่าสีเทาเข้มและแห้งสนิทจริง ๆ ถ้าเป็นเขม่าสีดำแห้ง แสดงว่าเครื่องยนต์นั้นปรับอัตราส่วนผสมไอดีไว้ไม่ถูกต้อง ต้องเหนื่อยในการซ่อมหรือปรับกันอีก จุดนี้อย่ามองข้ามเป็นอันขาด เพราะเขม่าในไอเสียจะเป็นตัวบอกสภาพของเครื่องยนต์ได้เป็นอย่างดี ควรติดเครื่องยนต์ดูเขม่าซ้ำอีกครั้งหนึ่งเพื่อความแน่ใจ
6. เฟืองฟลายวีล ไม่ควรมีร่องรอยสึกหรอบิ่นหรือบิ่นมาก รอยบิ่นนั้น หมายถึงจำนวนครั้งที่เครื่องยนต์ถูกสตาร์ท
7. หวีคลัตช์ กรณีที่เครื่องยนต์ไม่ได้ประกบกับเกียร์ ให้ดูสภาพภายนอกของหวีคลัตช์และจุดที่ลูกปืนคลัตช์กด (ปลายในสุดโดยรอบ) ไม่ควรมีการสึกหรอมากจนเป็นร่องลึก
8. ผ้าคลัตช์ ถ้ามีโอกาสถอดดูผ้าคลัตช์ หน้าสัมผัสที่ฟลายวีลและหวีคลัตช์ ควรเรียบสม่ำเสมอ
9. ลิ้นปีกผีเสื้อ ในชุดคาร์บูเรเตอร์ หรือชุดหัวฉีด ไม่ควรมีเขม่าเกาะมาก ข้อควรระวังก็คือ จุดนี้ทางร้านอาจมีการล้างเอาไว้แล้ว
10. สายหัวเทียน ไม่ควรแข็งกระด้าง หรือแห้งกรอบ เช่นเดียวกับสายไฟต่าง ๆ
11. ฝาจานจ่าย ไม่ควรมีตะกรันด้านในมากนัก
12. ท่อส่งน้ำมันเชื้อเพลิง ถ้าผ่านการใช้งานมาก จะแข็งกรอบ
13. ซีลข้อเหวี่ยงกันน้ำมันเครื่องด้านหน้า และด้านหลัง ต้องไม่รั่วซึม ข้อควรระวังในการตรวจสอบจุดนี้ ก็คือ ทางร้านอาจล้างไว้แล้ว
14. สายพานรับแคมชาฟท์ ถ้าเป็นเครื่องยนต์OHC หรือDOHC ที่ใช้สายพานไทม์มิง สภาพของสายพานไทม์มิงนี้ มักจะเป็นสภาพของสายพานเส้นแรกเป็นส่วนใหญ่
15. ติดเครื่องฟังเสียงการทำงาน การติดเครื่อง ควรให้ทางร้านใช้น้ำประปา ต่อเข้าไปหล่อเย็น ตามระบบหล่อเย็น ซึ่งการใช้น้ำหล่อเย็นในการติดเครื่อง จะทำให้ติดเครื่องได้นานโดยไม่เสียหาย การจับหาเสียงผิดปกตินั้นค่อนข้างยาก เพราะเครื่องยนต์ไม่ได้ต่อท่อไอเสียและระบบเก็บเสียง (ท่อพัก) เสียงต่อไอเสียจะดังจนกลบเสียงต่างๆ หมด
16. เครื่องยนต์หัวฉีด ควรเลือกซื้อในร้านที่สามารถติดต่อร้านดินสายไฟชุดหัวฉีดให้ได้ อาจจะเหมารวมในราคาไปเลยก็ได้ โดยการสตาร์ทเครื่องยนต์หัวฉีดได้ที่ร้าน มีข้อดี คือ สามารถดูอาการของเครื่องยนต์ได้ อีกทั้งยังหมายถึงความครบครันของอุปกรณ์ต่าง ๆ อีกด้วย
17. การรับประกันคุณภาพ ไม่ควรแข็งกระด้าง หรือแห้งกรอบ เช่นเดียวกับสายไฟต่าง ๆ ร้านค้าส่วนใหญ่จะรับประกันในระยะ 7 วัน ถ้าเครื่องมีปัญหา สามารถนำมาเปลี่ยนได้ฟรี ประเด็นนี้สำคัญที่สุด
ที่มา : sawangsangtam.ueuo.com/LINK/car/