ไขปัญหา 'หลับในรถ' หยุดหายใจรู้จักระบบหมุนเวียนอากาศป้องกันได้

นิตยสารรถ Weekly

การสตาร์ตเครื่องยนต์เปิดแอร์นอนหลับในรถยนต์แล้วเสียชีวิต ยังคงเป็นปัญหาที่รอการไขคำตอบสำหรับใครหลายคนว่าเป็นเพราะสาเหตุใด เพราะที่ผ่านมาในต่างประเทศก็มีกระแสข่าวลักษณะนี้เช่นกัน ล่าสุดก็ที่ประเทศญี่ปุ่นที่มีคนติดอยู่ในรถยนต์ท่ามกลางหิมะที่ตกหนักไปไหนไม่ได้ต้องเปิดฮีตเตอร์นอนในรถแล้วเสียชีวิต!


จักรวาล บุญหวาน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศว กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อธิบายว่า ปกติแล้วสาเหตุการเสียชีวิตในรถยนต์มี 2 สาเหตุ คือการขาดอากาศหายใจแล้วเสียชีวิต ซึ่งจะสังเกตว่ารถยนต์รุ่นใหม่ ๆ ไม่มีกลิ่นและเสียงเข้ามาภายในรถ เพราะมียางขอบประตู 2 ชั้นเพื่อป้องกันกลิ่นและเสียงที่จะเข้ามาในรถ ดังนั้นผลของการออกแบบรถยนต์สมัยใหม่จึงทำให้ลักษณะของห้องโดยสารภายในถูกตัดขาดจากอากาศภาย นอกโดยสิ้นเชิง ทำให้พื้นที่ในรถยนต์มีปริมาณของออกซิเจนค่อนข้างจำกัด


เมื่อคนเราอาศัยออกซิเจนในการหายใจ หากอยู่ในรถยนต์แล้วไม่เกิดการหมุนเวียนอากาศภายในเลย ปริมาณออกซิเจนจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ถ้าคนที่ยังไม่หลับก็จะหาวิธีทำให้ตัวเองไม่อึดอัดและหายใจสะดวกขึ้น ได้แก่ การเปิดกระจกรถยนต์หรือปรับโหมดเครื่องปรับอากาศรับอากาศภายนอกเข้ามา แต่ถ้าหลับจะไม่รู้สึกว่าออกซิเจนลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ กระทั่งหมดจึงทำให้เสียชีวิต เคยมีเคสศึกษาหนึ่งที่มีการฆ่าตัวตายในประเทศญี่ปุ่น โดยนำเตาไปไว้ในรถยนต์ เนื่องจากกระบวนการสันดาปจะอาศัยออกซิเจนเป็นตัวเผาไหม้ เวลาดึงออกซิเจนไปใช้ในกระบวนการเผาไหม้แล้ว ออกซิเจนในรถยนต์ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันกระบวนการเผาไหม้ก๊าซคาร์บอนจะปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ออกมา ทำให้คนขาดอากาศหายใจแล้วเสียชีวิต


ส่วนอีกสาเหตุหนึ่ง คือ ภาวะของฮีตสโตรก (Heat stroke) หรือโรคลมแดด เพราะได้รับความร้อนเกิน ซึ่งในเวลาที่รถยนต์จอดอยู่กลางแดด แสงอาทิตย์ที่ส่องเข้ามาทางหน้ากระจกรถจะเป็นรังสีคลื่นสั้น เมื่อแสงส่องผ่านกระจกเข้ามาในรถยนต์จะกลายเป็นรังสีคลื่นยาวและถูกบล็อกเอาไว้ เนื่องจากกระจกไม่ยอมให้รังสีคลื่นยาวสะท้อนออกไป ทำให้เกิดความร้อนอยู่ข้างใน


ในขณะเดียวกันอากาศภายในก็ได้รับความร้อนอย่างเต็มที่ประมาณ 800 วัตต์ต่อตารางเมตรในเวลาที่ถูกแดด ทำให้อากาศภายในรถยนต์มีอุณหภูมิสูงมากกว่าภายนอกถึง 20 องศาเซลเซียส คนที่อยู่ในรถจึงไม่สามารถทนได้ เพราะว่าอุณหภูมิสูงกว่า 40 องศาเซลเซียสจะทำให้เกิดภาวะของการขาดน้ำ โดยเฉพาะเด็กจะได้รับความร้อนมากกว่าผู้ใหญ่ประมาณ 3-5 เท่า ฉะนั้นในภาวะของอุณหภูมิ 40-42 องศาเซลเซียส หากทิ้งเด็กไว้ในรถยนต์จะเสียชีวิตภายในเวลา 30 นาที ดังนั้นเราจึงได้ยินข่าวการเสียชีวิตของเด็กบ่อย ๆ เพราะผู้ปกครองลืมไว้ในรถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอเมริกามีสถิติเด็กเสียชีวิตลักษณะนี้เฉลี่ยวันละ 10 ศพทีเดียว

การเสียชีวิตเนื่องจากนอนหลับในรถยนต์ขณะสตาร์ตเครื่องยนต์เปิดแอร์นั้นเป็นลักษณะของการขาดออกซิเจนแล้วหลับเป็นอาการโคม่าของสมอง เนื่องจากไม่มีการระบายอากาศ ปัจจุบันรถยนต์ของทางยุโรปพยายามแก้ปัญหานี้โดยตั้งค่าว่าเวลาที่สตาร์ตเครื่องยนต์ใหม่ ๆ จะเข้าสู่โหมดใช้อากาศภายนอกโดยอัตโนมัติ แต่ถ้าเป็นรถญี่ปุ่นจะตั้งค่าไว้ว่าใช้อากาศหมุนเวียนภายในอย่างเดียวและอยู่ในโหมดเดียวตลอด


โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นเก่าหรือรถที่ขอบยางเสื่อมสภาพแล้ว ยิ่งมีโอกาสเสียชีวิตได้หากเราไปจอดรถนอนหลับในสถานที่ปิด เช่น ลานจอดรถ เนื่องจากมีคาร์บอนมอนอกไซด์เข้ามาภายในรถ ซึ่งจะไปทำลายฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดทำให้เสียชีวิต ซึ่งรถยนต์รุ่นเก่าย้อนหลังไป 10 ปี ถ้าเป็นรถเก๋งจะใช้หัวเทียนจุดระเบิด การเผาไหม้ไม่สมบูรณ์จึงเกิดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์และก๊าซไฮโดร คาร์บอนที่ไม่ถูกเผาไหม้หรือเชื้อเพลิงที่ไม่ถูกเผาไหม้ ทั้ง 2 ตัวนี้เป็นแก๊สพิษ ทำให้เสียชีวิตเร็วขึ้น


หากเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ กระบวนการเผาไหม้อาศัยออกซิเจนเซ็นเซอร์ในการอ่าน คือจะปรับสภาพโดยอัตโนมัติ มีเซ็นเซอร์วัดไอเสียและปรับลักษณะการเผาไหม้ให้ตอบสนอง ทำให้เครื่องยนต์รุ่นใหม่ ๆ มีการเผาไหม้ได้สมบูรณ์กว่า ยิ่งไปกว่านั้นจะมีระบบ Catalytic Converter เพื่อกำจัดมลพิษในไอเสีย ดังนั้นรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ จึงไม่เกี่ยวข้องกับการขาดอากาศหายใจเนื่อง จากอากาศข้างนอกที่เป็นพิษไหลเข้าไปในรถ เพราะหากติดเครื่องนอนในรถอากาศภายในจะเย็นมากจึงมีความหนาแน่นมาก ทำให้อากาศข้างนอกที่มีความร้อนกว่าไม่มีโอกาสเข้าไปภายในได้ ยกเว้นว่าการดีไซน์รถยนต์จากห้องเครื่องมาจนถึงห้องโดยสารจะมีลูกยางบางตัวที่ซีลไว้แล้วเกิดมีรูรั่วจึงมีโอกาสที่อากาศจากภายนอกจะเข้าไปได้ เพราะว่าด้านหน้ารถมีพัดลมซึ่งจะดูดอากาศจากหน้ารถไปหลังรถ จึงถูกพัดลมดันแก๊สไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร


อย่างไรก็ตามทั้งรถรุ่นเก่าและรุ่นใหม่มีโอกาสทำให้เสียชีวิตได้เหมือนกัน โดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ เนื่องจากมีการซีลไว้อย่างดี เมื่อสตาร์ตเครื่องนอนหลับออกซิเจนจะถูกจำกัดอยู่ภายใน และในขณะที่เราหายใจออกมาก็มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วย ปกติแล้วคนเราไม่นอนหลับแค่แป๊บเดียว เวลาหลับสนิทก็จะหลับยาวไปเลยจึงมีโอกาสเสียชีวิตสูงจากการขาดอากาศหายใจในลักษณะนี้เช่นกัน


การเปิดกระจกรถแง้มไว้เล็กน้อยจะปลอดภัยกว่าหากจำเป็นต้องนอนในรถ เพราะปกติแล้วก๊าซจากท่อไอเสียมีอุณหภูมิสูงจึงทำให้ลอยสูง ถ้าจอดรถในที่โล่ง ๆ โอกาสที่มันจะลอยย้อนกลับเข้ามาในรถน้อยมาก แต่ถ้าจอดอยู่ในพื้นที่ปิด เช่น ลานจอดรถ ก๊าซลอยออกไปไหนไม่ได้จึงอบอวลอยู่ในนั้นและวิ่งกลับเข้ามาที่ห้องโดยสาร ทำให้มีโอกาสตายได้ถึงแม้จะแง้มกระจกไว้ก็ตาม นอกจากนี้ถ้าเราสังเกตดี ๆ รถรุ่นใหม่บางรุ่นจะมีการดีไซน์ท่อไอเสียติดขอบรถยนต์และคว่ำท่อบังคับทิศทางให้ไอเสียถูกกดลงพื้น ทำให้ไม่ลอยออกไปด้านบนและมุดเข้ามาใต้รถ ทำให้เราต้องสูดดมกลิ่นท่อไอเสียถ้าจอดอยู่เฉย ๆ


สำหรับข้อแนะนำหากจำเป็นต้องนอนในรถยนต์ ควรหาที่จอดในที่โล่ง และแง้มกระจกเล็กน้อยพอให้มือลอดเข้ามาไม่ได้ ก็สตาร์ตเครื่องเปิดแอร์นอนได้ ควรเช็กขอบยางของประตูหน้าต่างรถว่าเสื่อมสภาพแล้วหรือยัง สังเกตง่าย ๆ เวลาจอดเฉย ๆ จะมีกลิ่นควันรถจากภายนอกเข้ามาภายใน และเวลารถวิ่งจะได้ยินเสียงจากข้างนอกดังขึ้น หรือว่าเวลาปิดประตูรถยนต์มักมีเสียงกระแทกแรง นอกจากนี้ต้องคอยเปลี่ยนโหมดเครื่องปรับอากาศบ่อย ๆ เนื่องจากใช้ไฟฟ้าทำงาน ถ้าไม่เคยเปลี่ยนเลยแกนจะตาย ทำให้เวลาที่จำเป็นต้องใช้ไม่สามารถทำได้


การนอนหลับในรถยนต์จะไม่อันตรายอีกต่อไปหากปฏิบัติตามคำแนะนำ และสุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับสภาวะร่างกายของเราด้วย หากเจ็บป่วย อ่อน เพลีย และเมามากควรระมัดระวังเป็นพิเศษควรหลีกเลี่ยงการนอนหลับในรถเพื่อความปลอดภัยในชีวิต..!.

อันตรายของควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์


พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ให้ความรู้ว่าจากการชันสูตรศพของผู้ที่เสียชีวิตจากการนอนหลับในรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของระบบการระบายอากาศภายในรถยนต์ ถ้ารถยนต์รุ่นเก่ากระบวนการเผาไหม้จะไม่สมบูรณ์ของสารประกอบคาร์บอน ส่งผลให้มี “ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์” (CO) ที่ออกมาจากท่อไอเสียไหลเข้าไปภายในรถได้ ซึ่งปกติแล้วร่างกายคนเรามีก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์อยู่ในร่างกายอยู่แล้ว แต่ถ้าได้รับมากเกินไปจะทำให้รู้สึกง่วงนอน


การที่ร่างกายได้รับปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากควันท่อไอเสียในจำนวนที่มากเกินไปจะทำให้มาแย่งการจับตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือด ทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอจึงทำให้เสียชีวิต จากการตรวจเลือดจะพบว่ามีปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ในเลือดสูงมาก และเลือดจะเป็นสีชมพู ซึ่งเรียกว่า เชอรี่พิงค์ และตัวของผู้ตายจะเป็นสีแดงชมพูทั้งตัว แต่ถ้าไปตรวจในรถยนต์ที่ผู้นอนหลับเสียชีวิตส่วนใหญ่มักจะไม่พบก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์แล้ว เนื่องจากเราต้องเปิดประตูเข้าไปเคลื่อนย้ายศพออกมา จึงทำให้มีการระบายอากาศออกไปแล้ว


สำหรับปริมาณการสะสมของก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์นั้นขึ้นอยู่กับการไหลเวียนของอากาศ ถ้ามีการเปิดกระจกหน้าต่างแง้มเอาไว้เล็กน้อย ก๊าซที่ไหลเข้ามาจะมีการระบายออกโดยการไหลขึ้นด้านบนจึงทำให้ไม่มีการสะสมอยู่ในรถ การหายใจของคนที่นอนหลับในรถจึงเป็นปกติไม่เสียชีวิต แต่หากเป็นระบบปิดไม่มีช่องระบายอากาศเนื่องจากปิดกระจกรถอย่างแน่นหนาจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง


กรณีที่รถจอดติดนาน ๆ ก๊าซก็อาจจะไหลเข้ามาในรถได้ ทำให้เรารู้สึกง่วงนอน แต่รถจะจอดติดไม่นานมีการเคลื่อนที่ตลอด มีผลทำให้เรารู้สึกแค่ง่วงซึมเท่านั้น หากใครที่ขับรถแล้วรถติดเป็นระยะเวลานานจนรู้สึกง่วงก็ควรเปิดกระจกระบายอากาศบ้าง ซึ่งจะคล้ายกับที่เรานั่งรถโดยสารประจำทาง หากการจราจรติดขัดนานก็รู้สึกง่วงนอนได้ แต่สำหรับรถโดยสารประจำทางปรับอากาศมีการเปิดปิดเครื่องอยู่แล้วจึงไม่เป็นปัญหา


อย่างไรก็ตามก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก๊สที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี และไม่มีรส เราจึงไม่รู้สึกว่าสูดดมเข้าไป และเมื่อมันค่อย ๆ สะสมเข้าไปในร่างกายจะกดให้เรารู้สึกง่วงซึมและนอนหลับสบาย จนกระทั่งออกซิเจนภายในรถน้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงไม่รู้สึกดิ้นรนหรืออยากตื่นขึ้นมาเพราะขาดอากาศหายใจ แต่กลับรู้สึกนอนหลับสบายและเสียชีวิตไปเลย ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยหากง่วงนอนจริง ๆ อยากพักผ่อนควรแง้มกระจกรถด้านบนเอาไว้เล็กน้อยให้มีช่องระบบอากาศไหลเวียนได้ในสถานที่โล่ง หรือถ้าอากาศไม่ร้อนมากสามารถนอนแบบไม่ติดเครื่องยนต์เลยก็จะปลอดภัยที่สุด.

ขอขอบคุณแหล่งที่มา : http://www.dailynews.co.th