วิธีคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับแม่ตั้งครรภ์
* หากแม่ตั้งครรภ์ ขับรถเองควรปรับเก้าอี้ให้ห่างจากพวงมาลัยรถประมาณ 10 นิ้ว เพื่อลดการบาดเจ็บจากแรงดันของถุงลมนิรภัย และการกระตุกของเข็มขัดนิรภัย
* การคาดเข็มขัดนิรภัยสำหรับแม่ท้อง ทั้งที่ขับรถเองหรือเป็นผู้โดยสาร เมื่อดึงสายคาดเข็มขัดนิรภัยและเสียบตัวล็อกเข้ากับหัวล็อกเรียบร้อยแล้วให้จัดตำแหน่งของสายเข็มขัดนิรภัยดังนี้
1.สายเข็มขัดนิรภัยที่พาดจากหัวไหล่ จะต้องพาดทะแยงตรงกึ่งกลางระหว่างร่องอกแล้วลงมาทางด้านข้างของช่องท้อง
2.สายเข็มขัดนิรภัยที่พาดในแนวนอนจะต้องพาดบริเวณใต้ท้อง และจะต้องพาดให้ต่ำที่สุด โดยส่วนใหญ่จะอยู่เหนือบริเวณต้นขาเพื่อลดแรงกดทับของสายคาด อาจสังเกตง่ายๆ ว่าสายเส้นนี้จะพาดจากสะโพกข้างหนึ่งไปยังสะโพกอีกข้างหนึ่งเป็นเส้นตรงตามแนวนอน
หากแม่ท้องรู้สึกอึดอัดกับการคาดเข็มขัดนิรภัยเส้นแนวนอน อาจใช้ผ้าขนหนูหรือหมอนเล็กนุ่มๆ วางบนท้องหรือหน้าตักก่อน แล้วจึงคาดสายเข็มขัดนิรภัยทับ เื่พื่อลดแรงกดและการเสียดสีระหว่างขับรถ
* ห้ามคาดสายเข็มขัดนิรภัยผ่านบริเวณท้องโดยเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดการเสียดสีผิวท้องที่บอบบาง หรือการกดทับได้
* ในกรณีที่ท้องใหญ่ขึ้น หรือสายคาดเข็มขัดนิรภัยไม่ยาวพอ ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางด้วยรถยนต์ ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของคนขับ หรือผู้โดยสาร เพราะมีความเสี่ยงเกินไป และหากท้องแก่มากแล้วก็ควรหยุดทำงานและไม่ควรขับรถเองโดยเด็ดขาด
แม่ตั้งครรภ์ แม่ท้องควรหยุดขับรถเองเมื่อไหร่
* แม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 1 (อายุครรภ์ 1-3 เดือน) แม่ตั้งครรภ์ยังสามารถขับรถได้เองและควรคาดเข็มขัดนิรภัยอย่างถูกต้อง แต่ควรเลี่ยงการขับรถในระยะทางไกล เพราะจะเกิดอาการเกร็งช่วงท้อง หลัง ขา ซึ่งส่งผลให้เกิดการแท้งได้
* แม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 2 (อายุครรภ์ 4-6 เดือน) แม่ตั้งครรภ์ยังสามารถขับรถได้ตามปกติ เพราะเริ่มปรับตัวกับขนาดท้องที่ใหญ่ขึ้นได้แล้ว และควรคาดเข็มขัดนิรภัยตามวิธีข้างต้นเพื่อลดการเสียดสีและแรงกดทับ แต่ยังต้องงดการขับรถระยะทางไกล
* แม่ตั้งครรภ์ไตรมาส 3 (อายุครรภ์ 7-9 เดือน) แม่ตั้งครรภ์ไม่ควรขับรถเองหรือการขับรถระยะทางไกล เพราะจะเริ่มมีอาหารหดเกร็งของท้อง และอาการปวดหลังที่จะส่งผลต่อการคลอด การคาดเข็มขัดนิรภัยจะต้องคาดตามวิธีข้างต้นให้ถูกต้อง หรือแม้แต่จะนั่งที่นั่งด้านหลังคนขับ แม่ตั้งครรภ์ก็ยังต้องคาดเข็มขัดนิรภัยไว้ตลอดเวลาเช่นกัน