เชื่อว่าหลายๆคนยังมีข้อกังขาและสงสัยเกี่ยวกับน้ำมัน E85 กันอยู่บ้างไม่มากก็น้อย บางคนอยากจะเติมใช้แต่ก็กลัวว่าจะมีปัญหาตามมาเพราะคิดว่ารถที่ใช้อยู่ไม่ได้ทำมารองรับ โตโยต้านนทบุรีจะขอสรุปข้อมูลมาให้เลย
E85 มีคุณสมบัติกัดกร่อนสูงจริงหรือ
ข้อนี้จริง แต่ไม่ได้เยอะอย่างที่คิดครับ แม้แต่น้ำมันเบนซินเองก็กัดด้วยเหมือนกัน
(ลองเทใส่มือดูก็คงจะพอทราบว่าการกัดกร่อนนี้เป็นยังไงและผู้ผลิตรถยนต์ก็ทราบถึงปัญหานี้มาตั้งแต่เริ่มมีการเปลี่ยนมาใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วในท้องตลาด จึงมีการเปลี่ยนไปใช้วัสดุที่ทนต่อการกัดกร่อนของเบนซินไร้สารตะกั่วนี้ได้มาตั้งแต่ต้นปี 90 แล้ว (ยุคเดียวกับที่เริ่มเปลี่ยนมาเป็นเครื่องยนต์ระบบหัวฉีด)ดังนั้นปัญหาจริงๆของ E85 ไม่ใช่เรื่องของคุณสมบัติการกัดกร่อน แต่กลับเป็นคุณสมบัติดูดความชื้นของแอลกอฮอล์ต่างหาก ซึ่งถ้าเราปล่อยเอธานอลทิ้งไว้นานๆ ตัวมันก็จะเริ่มดูดความชื้นสะสมเอาไว้เรื่อยๆ และถ้าหากภาชนะที่บรรจุนั้นเป็นเหล็ก ผลที่ได้ก็คือสนิมนั่นเอง
แน่นอนครับว่าผู้ผลิตก็ทราบถึงเรื่องนี้ และก็ได้เปลี่ยนจากท่อน้ำมันที่เคยเป็นเหล็กล้วนตอนสมัยเครื่องคาร์บูฯเป็นท่ออลูมิเนียม ถังเหล็กก็มีการชุบสารกันสนิมเคลือบไว้ด้านใน หรืออย่างช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็ใช้เป็นถังและท่อน้ำมันพลาสติกแทนแล้ว นอกจากนี้ก็ยังเป็นถังระบบปิด กันอากาศและความชื้นเข้าออกเอาไว้อีกด้วย โดยรวมแล้วก็พอจะพูดได้ว่า รถที่เป็นเครื่องหัวฉีดมาจากโรงงานนั้นมีความพร้อมที่จะใช้ E85 ได้เกิน 90% อยู่แล้ว
ในส่วนของยางกับเอธานอลนั้น ความเสียหายจะเป็นคนละสาเหตุกับเหล็ก กล่าวคือไม่ใช่ความเสียหายจากการกัดกร่อนหรือสนิม แต่เกิดจากคุณสมบัติความ "แห้ง" ของแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้เนื้อยางกรอบและแตกร้าวได้ แต่โชคดีที่ความเสียหายที่ว่านี้จะเกิดเฉพาะกับยางธรรมชาติเท่านั้นครับ ส่วนยางที่นำมาใช้ในการผลิตรถยนต์ในช่วงเวลาเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เปลี่ยนเป็นยางผสมหรือยางสังเคราะห์ซึ่งจะไม่มีการแตกตัวในลักษณะอย่างที่ว่าแทนไปแล้ว ดังนั้นหากสำรวจแล้วว่าท่อยางที่ใช้งานยังอยู่ในสภาพที่ดี ก็สามารถเติม E85 ได้เลย (ต่อให้ไม่ได้คิดจะเติมใช้ ถ้าเห็นท่อน้ำมันเบนซินเริ่มมีรอยแตกแล้วก็เปลี่ยนเถอะครับ)
มีบทความจากเวปนอกเขียนไว้ว่่า หนึ่งในเหตุผลที่ยังต้องมีการผสมน้ำมันเบนซินเอาไว้ 15% ก็เพราะต้องการอาศัยความ "มัน" มาเป็นตัวช่วยกันไม่ให้ท่อยางแห้งเกินไป แต่ส่วนตัวคิดว่าน่าจะเป็นเหตุผลในการทำ Denatured Alcohol* มากกว่า
เติมแล้วทำให้ปั๊มติ๊กพังหรือกรองตันหรือเปล่า?
- อย่างที่เขียนไปในคำตอบแรก ถ้าหากเป็นปั๊มติ๊กที่มีชิ้นส่วนเป็นเหล็ก และมีการปล่อยทิ้งไว้นานก็จะทำให้ปั๊มเป็นสนิมได้จริง ถ้าเป็นรถที่มีอายุมากๆ ผ่านการใช้งานมานาน พอเติม E85 ใส่ลงไป จะทำให้คราบจำพวกสารหล่อลื่นหรือสารเติมแต่งอื่นๆที่ผสมมากับน้ำมันเบนซินที่เกาะอยู่ในถังละลายออกมา ซึ่งอาจจะทำให้กรองเบนซินหรือปั๊มติ๊กอุดตันได้ถ้าหากมีประมาณเยอะพอ ซึ่งตรงนี้ส่วนตัวยังไม่เคยเจอ บางคันอายุเกิน 15 ปีแล้วก็ยังเติมใช้ได้ปกติดี ตรงนี้อาจจะใช้วิธีเปลี่ยนกรองเบนซินหลังจากใช้งานไปสักพักแล้วก็น่าจะหมดปัญหา
เติม E85 ทำให้เครื่องพังได้ใหม?
- ถ้าเป็นรถที่ไม่ได้ทำมารองรับ E85 แล้วเผลอเติมไปสักถังก็ไม่ต้องตกใจครับ แค่ถ่ายออก แล้วเติมน้ำมันปกติลงไปก็จบครับ แต่ถ้าฝืนใช้ไปนานๆโดยไม่มีการใส่อุปกรณ์ปรับส่วนผสมใดๆเลย ก็อาจจะทำให้เครื่องพังจากส่วนผสมบางได้ครับ ซึ่งยังไงก็ไม่ใช่พังในทันทีแน่นอน
เติม E85 แล้ววิ่งได้ระยะทางน้อยลงรึเปล่า?
- จริงครับ แต่น้อยลงประมาณ 10-15% เท่านั้น เทียบกับราคาน้ำมันที่ถูกกว่าเกือบครึ่งก็ยังถือว่าประหยัดได้มากกว่าพอสมควร ถ้าหากราคาน้ำมันต่างกันไม่เกิน 20% ก็คงไม่คุ้มที่จะเติมครับ
E85 มีพลังงานน้อยกว่าเบนซิน ทำให้รถแรงน้อยกว่าเดิมหรือเปล่า?
- จริงอยู่ที่พลังงานจาก E85 น้อยกว่าน้ำมันเบนซิน "เมื่อเทียบจากการเผาไหม้ในปริมาณที่เท่ากัน" แต่ด้วยคุณสมบัติที่ทำให้ต้องเพิ่มปริมาณการจ่าย E85 สำหรับการเผาไหม้ให้มากขึ้นกลับกลายเป็นข้อดีที่ทำให้อุณหภูมิในการเผาไหม้ของ E85 มีความเย็นมากกว่าและเผาไหม้ได้นานกว่า แทนที่จะเป็นการระเบิดแบบรุนแรงในระยะเวลาสั้นๆ ก็กลายเป็นการระเบิดที่ยาวตลอดการเคลื่อนที่ลงของลูกสูบ ส่งผลให้มีแรงบิดที่ต่อเนื่องกว่า เครื่องยนต์เดินเรียบกว่าอย่างชัดเจน
ข้อสรุปในการตัดสินใจสำหรับคนที่คิดจะใช้ E85 นะครับ
- รถที่ต้องการจะเติม มีชิ้นส่วนของระบบน้ำมันที่ยังอยู่ในสภาพที่ดี ไม่แตกร้าว ถังน้ำมันยังคงความเป็นระบบปิดอยู่
- ต้องการใช้น้ำมันที่มีค่าออกเทนสูงสำหรับเครื่องยนต์ที่ต้องการสมรรถนะ หรือต้องการใช้น้ำมันราคาถูกเพื่อความประหยัด
- อาศัยอยู่ใกล้หรือเส้นทางที่ใข้ประจำมีปั๊มน้ำมันที่มี E85 จำหน่าย ถ้าต้องขับไปเติมไกลๆ อาจจะไม่คุ้มเท่าไหร่
- ใช้รถเป็นประจำ ไม่ได้จอดทิ้งไว้นานเป็นเดือน
- ต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ในการปรับส่วนผสมเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นชุดคิทสำเร็จ กล่องพ่วง หรือกล่อง standalone