
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังการบาดเจ็บรุนแรงจากการถูกฟ้าผ่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในรอบ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2555 มีผู้ถูกฟ้าผ่า 180 ราย เสียชีวิต 46 ราย คิดเป็นอัตราตายร้อยละ 26 ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่เป็นชายอายุ 20-49 ปี และเกษตรกรถูกฟ้าผ่ามากอันดับ 1 เหตุมักเกิดในช่วงเวลา 14.00-17.00 น. สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นนา ไร่ สวน วิธีการสังเกตสัญญาณความเสี่ยงฟ้าผ่า หากมีเมฆฝนฟ้าคะนองอยู่บนเหนือศีรษะแล้วเส้นขนบนผิวหนังลุกชันขึ้น หรือเส้นผมบนศีรษะลุกตั้งขึ้น แสดงว่ากำลังเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หรือหากเกิดฝนฟ้าคะนองในระยะประมาณ 16 ก.ม.มีฟ้าแลบหรือฟ้าผ่า ได้ยินเสียงฟ้าร้องหลังฟ้าแลบน้อยกว่า 30 วินาที แสดงว่าอยู่ใกล้เขตเสี่ยงฟ้าผ่า

วิธีป้องกันตัว คือ
1.ถ้าอยู่ในที่โล่ง หาที่หลบที่ปลอดภัย เช่น อาคารขนาดใหญ่ แต่อย่าอยู่ใกล้ผนังอาคาร ประตูและหน้าต่าง หรือหลบในรถยนต์ที่ปิดกระจกมิดชิด แต่อย่าสัมผัสกับตัวถังรถ
2.หมอบนั่งยองๆ ให้ตัวอยู่ต่ำที่สุด โดยแนบมือทั้งสองข้างติดกับเข่าซุกศีรษะระหว่างเข่า เท้าชิดกันหรือเขย่งปลายเท้า เพื่อลดพื้นที่สัมผัสกับพื้น แต่อย่านอนหมอบกับพื้น
3.อย่ายืนหลบอยู่ใต้ต้นไม้สูงหรือบริเวณใกล้เคียง หรืออยู่ในที่สูง ห้ามกางร่ม
4.ห้ามใช้โทรศัพท์มือถือกลางแจ้ง เพราะแม้โทรศัพท์จะไม่ใช่สื่อล่อฟ้า แต่ฟ้าผ่าจะเหนี่ยวนำกระแสไฟฟ้าเข้ามาในมือถือ อีกทั้งยังมีส่วนประกอบที่เป็นแผ่นโลหะ สายอากาศและแบตเตอรี่ที่เป็นตัวล่อฟ้า จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า หรืออาจลัดวงจร
5.ห้ามใช้โทรศัพท์บ้านหรือเล่นอินเตอร์เน็ตในขณะที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง เพราะฟ้าอาจผ่าลงมาที่เสาสัญญาณหรือเสาอากาศที่อยู่นอกบ้าน และกระแสไฟจากฟ้าผ่าจะวิ่งมาตามสายโทรศัพท์ที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ทำให้โทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ รวมทั้งผู้ใช้งานได้รับอันตราย
6.ควรถอดอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด เพราะฟ้าอาจผ่าลงที่เสาไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้า ทำให้กระแสไฟฟ้ากระชากเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจทำให้เสียได้ และควรดึงเสาอากาศของโทรทัศน์ออก เพราะหากฟ้าผ่าที่เสาอากาศบนหลังคาบ้านอาจวิ่งเข้าสู่โทรทัศน์ได้
7.หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับโลหะทุกชนิด เนื่องจากโลหะเป็นตัวนำไฟฟ้าและอย่าอยู่ใกล้สายไฟ
8.หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำ เพราะเป็นตัวนำไฟฟ้า
9.ควรเตรียมไฟฉายไว้ส่องดูทาง เพราะอาจเกิดไฟดับหรือไฟไหม้ได้

ที่จ.ยโสธร วันเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจความเสียหายบ้านเรือนประชาชนเกิดพายุลูกเห็บพัดถล่มพื้นที่อ.เมืองยโสธร เมื่อเวลาประมาณ 23.00 น. วันที่ 12 พ.ค. โดยพายุพัดบ้านเรือนยุ้งฉางประชาชนเสียหายถึง 41 หลัง บางหลังถูกลมหอบบ้านไปทั้งหลัง