โช้กอัพ (Shock Absorber) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยรองรับแรงกระแทก ลดแรงสั่นสะเทือนของรถ และยังทำหน้าที่หน่วงการเคลื่อนที่ขึ้นลงของตัวถังรถยนต์ เพื่อให้ล้อรถสัมผัสกับผิวถนนตลอดเวลาขณะรถวิ่ง ทั้งยังดูดซับการสั่นของสปริง ทำให้การเด้ง ขึ้น-ลง หรือการเต้นของตัวรถยนต์ ลดน้อยลงทำให้การสั่น หรือการเต้นของน้ำหนัก ที่สปริงไม่ได้รองรับ เช่น ล้อ, เพลาล้อ, ตัวห้ามล้อ ฯลฯ ลดน้อยลง
โช้กอัพ แบ่งตามสื่อการทำงานได้ 2 ระบบ คือ โช้กอัพน้ำมัน โช้กอัพชนิดนี้ใช้น้ำมันไฮดรอลิกเป็นตัวทำงานให้เกิดความหนืดเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ทำงานน้ำมันไฮดรอลิกจะไหลผ่านวาล์วภายในลูกสูบจึงทำให้เกิดฟองอากาศทำให้โช้กอัพทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร โดยเฉพาะกับรถที่ต้องใช้ความเร็วสูง
โช้กอัพแก๊ส คือ โช้กอัพที่อาศัยการทำงานร่วมกัน ระหว่างแก๊สไนโตรเจน และ น้ำมันไฮดรอลิก มีหลักการทำงานคือ เมื่อโช้กอัพได้รับแรงสะเทือนจากพื้นถนน ลูกสูบของโช้กอัพจะเลื่อนตัวลงมาด้านล่างของกระบอกลูกสูบ ทำให้น้ำมันไฮดรอลิกที่บรรจุในกระบอกสูบไหลผ่านวาล์วขึ้นไปห้องน้ำมันด้านบน และน้ำมันอีกส่วนไหลผ่านวาลว์ ด้านล่างเข้าไปในห้องน้ำมันสำรอง ขณะเดียวกัน น้ำมันในห้องน้ำมันสำรอง จะทำการอัดแก๊สไนโตรเจนให้เกิดแรงดัน เมื่อแก๊สมีแรงดันก็จะดันน้ำมันไฮโดรลิกที่อยู่ในห้องน้ำมันสำรอง กลับเข้าสู่กระบอกสูบดังเดิม โดยในขณะเดียวกันแรงดันที่เกิดขึ้นก็จะทำให้ฟองอากาศแตกตัว
เมื่อไหร่ต้องเปลี่ยน “โช้กอัพ”
แต่สิ่งหนึ่งที่คุณควรทราบก็คือ จะรู้ได้อย่างไรว่ารถของคุณควรเปลี่ยนโช้กอัพ?. สังเกตง่ายๆเมื่อรถมีอาการเต้นหรือกระโดดขึ้นลงเมื่อขับรถผ่านทางขรุขระโดยทดสอบอย่างง่ายๆ ให้ท่านเหยียบบนกันชนและขย่มหลายๆ ครั้ง หลังจากปล่อยเท้าออกแล้ว ถ้ารถยังเต้นขึ้นลงต่อไปแสดงว่าโช้กอัพเสียหรือเป็นโช้กอัพไม่ได้มาตรฐาน
การติดตั้ง “โช้กอัพใหม่” ไม่ได้หมายถึงประสิทธิภาพการทำงานของโช้คอัพจะเต็ม 100% เสมอไป หากผู้ติดตั้งไม่ได้ทำการเช็กโช้กอัพให้พร้อมก่อนการติดตั้ง มักจะเกิดปัญหาตามมา รวมถึงอายุการใช้งานของโช้กอัพก็จะสั้นกว่าที่ควรจะเป็นอีกด้วย สาเหตุอาจเกิดจากโช้กอัพดังกล่าวเป็นโช้กอัพประเภทโช้คแก๊ส 2 กระบอก (Twin Tube) ซึ่งหากเป็นโช้กที่สมบูรณ์จากโรงงาน “แก๊ส” จะต้องอยู่ในโช้กอัพกระบอกที่ 2 (Reserve Tube) แต่ความผิดปกติเกิดจากการที่แก๊สหลุดเข้าไปอยู่ในกระบอกแรก ทำให้โช้กอัพเสียแรงเสียดทาน ดังนั้นเมื่อลูกสูบโช้กสัมผัสแก๊สส่งผลให้การเคลื่อนที่ของแกนโช้กผิดปกติ
เมื่อไหร่ต้องเปลี่ยน “โช้กอัพ”
ที่สำคัญก็คือการ “เช็กความสมบูรณ์ของโช้กอัพ” ก่อนการติดตั้ง เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพการทำงานของโช้กอัพเต็ม 100% ด้วยวิธีง่ายๆ และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที ซึ่งช่างผู้ติดตั้งสามารถทำได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์อื่นๆ ช่วย การเช็คความสมบูรณ์ของโช้คอัพก่อนการติดตั้ง ดังภาพประกอบที่ 1 จะเริ่มจาก
• วางโช้กอัพในลักษณะตั้งขึ้น เหมือนการติดตั้งในรถ
• กดโช้กอัพลงให้สุด และปล่อยให้แกนโช้คเคลื่อนตัวขึ้น
• หากมีช่วงในการกดและคืนตัวที่ไม่สม่ำเสมอ เช่น มีอาการวืดในบางช่วง ให้สันนิษฐานว่ามีอากาศอยู่ภายในกระบอกโช้ก
เมื่อพบความผิดปกติของโช้กอัพก่อนการติดตั้งก็สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้
•คว่ำโช้กลง และกดให้แกนโช้กเข้าไปในกระบอกโช้กจนสุด
• หงายโช้กขึ้นในลักษณะเหมือนการติดตั้งปกติ
• ปล่อยแกนโช้กให้ขึ้นมาด้วยแรงดันภายในกระบอกโช้กตามปกติ
ทำซ้ำขั้นตอนประมาณ 3 ครั้ง หรือสามารถสังเกตการเคลื่อนตัวของแกนโช้กให้เคลื่อนตัวขึ้นอย่างราบเรียบ เท่านี้ก็สามารถนำโช้กอัพไปติดตั้งได้แล้ว สำหรับผู้ที่ไม่ได้เป็นช่างก็สามารถจดจำวิธีการนี้ ไปแนะนำกับช่างเพื่อทดสอบความละเอียดรอบคอบของช่าง ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของตัวคุณเอง