ข้ามทางรถไฟ ขับอย่างไรให้ปลอดภัย

นิตยสารรถ WEEKLY

ข้ามทางรถไฟ อย่างไรให้ปลอดภัย วิธีขับรถผ่านทางรถไฟให้ปลอดภัย จุดตัดทางรถไฟ เป็นเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะรุนแรงบ่อยครั้ง สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณจุดตัดทางรถไฟของการรถไฟแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 - ตุลาคม 2557 เกิดอุบัติเหตุรวม 219 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 33 ราย ผู้บาดเจ็บ 116 คน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากความไม่คุ้นเคยและความไม่ชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่ รวมถึงการขาดทักษะในการขับรถผ่านเส้นทางเสี่ยงอุบัติเหตุอย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัย เหตุนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะนำข้อควรปฏิบัติในการขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ


**** 1. เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อขับรถผ่านเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ****
เพราะอาจมีจุดตัดทางรถไฟบนเส้นทาง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ โดยเฉพาะเส้นทางที่ไม่มีแผงกั้นทางรถไฟ จุดตัดทางรถไฟบริเวณทางโค้ง มีต้นไม้หรือพุ่มไม้บดบังเส้นทาง รวมถึงการขับรถในช่วงกลางคืนที่ทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางไม่ดี โดยหมั่นสังเกตป้ายเตือนสัญลักษณ์ทางรถไฟริมข้างทางหรือลูกคลื่นบนพื้นผิวถนน ซึ่งเป็นสัญญาณเตือน ว่าเส้นทางข้างหน้ามีจุดตัดทางรถไฟ


**** 2. ชะลอความเร็วรถและหยุดรถก่อนถึงจุดตัดทางรถไฟ ****
พร้อมมองเส้นทางด้านซ้ายและขวาจนแน่ใจว่าไม่มีรถไฟวิ่งผ่านมา ค่อยขับรถข้ามจุดตัดทางรถไฟ กรณีมีสัญญาณไฟจราจรบริเวณทางรถไฟ ไม่ควรหยุดหรือจอดรถคร่อมรางรถไฟเป็นอันขาด เพราะหากมีขบวนรถไฟวิ่งผ่านมา จะไม่สามารถเคลื่อนรถได้ทัน


**** 3. หากได้ยินเสียงสัญญาณเตือนรถไฟหรือแผงกั้นทางรถไฟปิดลงมา ควรหยุดรถให้ห่างจากทางรถไฟในระยะไม่ต่ำกว่า 5 เมตร ****
พร้อมจอดรถให้ขบวนรถไฟผ่านไปก่อน และรอจนเจ้าหน้าที่เปิดแผงกั้นทางรถไฟออก จึงค่อยขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ ห้ามยกแผงกั้นทางรถไฟหรือ เร่งความเร็วขับข้ามทางรถไฟอย่างเด็ดขาด เพราะบริเวณจุดตัดทางรถไฟมีลักษณะเป็นเนิน หากเครื่องยนต์ขัดข้องหรือล้อรถติดกับร่องทางรถไฟ จะไม่สามารถเร่งเครื่องขับผ่านทางรถไฟได้ทัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้


ทั้งนี้ การเรียนรู้หลักปฏิบัติในการขับรถผ่านจุดตัดทางรถไฟ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุและเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้เป็นอย่างดี