มะเร็งปอดอันดับสองคุกคามชายไทย

นิตยสารรถ WEEKLY

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ทุกวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายและโทษของบุหรี่ เพราะควันบุหรี่ประกอบด้วยสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งปอดที่พบมากเป็นอันดับ 2 ในเพศชายรองจากมะเร็งตับ จากการสำรวจพบว่าผู้ที่เป็นมะเร็งปอด ร้อยละ 90 เป็นผลเนื่องมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่เกินวันละ 1 ซองจะมีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 16 เท่า โดยโรคมะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติอย่างรวดเร็วและไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติ ซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีขนาดใหญ่ มีจำนวนมากและแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจน แต่มีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด เช่น บุหรี่ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดมะเร็งปอดมากที่สุด เนื่องจากสารในบุหรี่สามารถทำลายเซลล์ปอด ทำให้เกิดความผิดปกติของเซลล์ โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนมวนและจำนวนปีที่สูบบุหรี่ การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น ควัน แอสเบสตอส สารหนู รังสี และสารเคมีอื่นๆ อายุ ความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยทั่วไปความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นหลังอายุ 40 ปี


ผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นโรคมะเร็งปอด มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแม้จะไม่ได้สูบบุหรี่ โดยผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการลดปัจจัยเสี่ยงและวางแผนการตรวจสุขภาพ อาการ โดยทั่วไปแล้วมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อก้อนมะเร็งโตขึ้นจนไปกดหลอดลมหรือลุกลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ อาจพบอาการไอเรื้อรัง (ไอแห้งหรือไอมีเสมหะ) มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจสั้น เจ็บบริเวณหน้าอก ไอมีเลือด หอบเหนื่อย หน้าและแขนบวม น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร ซึ่งหากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยโรค ซึ่งแพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย X-ray ปอด ตรวจเสมหะและชิ้นเนื้อจากปอด หากพบว่าป่วยเป็นมะเร็งปอดแพทย์จะทำการผ่าตัดในกรณีที่ก้อนขนาดไม่ใหญ่ การฉายแสงร่วมกับการให้เคมีบำบัดเพื่อช่วยยับยั้งชะลอการลุกลามและการรักษาประคับประคองไปตามอาการ


อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ควรเลิกสูบบุหรี่โดยเด็ดขาด หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด นอกจากนี้การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง การดื่มสุรา อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดได้ สำหรับผู้ป่วยเมื่อมีอาการดีขึ้นหลังการรักษาควรออกกำลังกายด้วยการเดินอย่างน้อยวันละ 15-30 นาที เพื่อส่งเสริมการทำงานของปอดและหัวใจให้ดีขึ้น พบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำและป้องกันการเกิดมะเร็งที่อวัยวะอื่น.