วิธีขับรถหน้าฝน ให้ปลอดภัยหายห่วง

นิตยสารรถ WEEKLY

หมดร้อนแล้วอย่าเพิ่งสบายใจ เพราะหน้าฝนมีหลายอย่างที่ต้องกังวล ร้อนจัดอยู่ดี ๆ ในก็ตกไม่ลืมหูลืมตา การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศแบบกะทันหันตลอดเวลา ลักษณะนี้มีผลต่อรถยนต์อย่างที่คุณคาดไม่ถึง แม้ว่าจอดรถไว้เฉย ๆ ไม่ได้สตาร์ทหรือขับไปไหนก็ตามที มันก็ส่งผลให้ของเหลวและหลาย ๆ ส่วนในรถยนต์เกิดเสื่อมสภาพได้เช่นกัน ดังนั้นก่อนที่หน้าฝนจะมาเยือนอย่างเป็นทางการ เห็นควรว่าเราต้องเตรียมความพร้อมให้กับรถยนต์คันโปรดเสียก่อน จะได้ไม่ต้องมานั่งช้ำใจกันภายหลัง


ช่วงก่อนหน้าร้อน เจ้าของรถหลาย ๆ ท่านได้เตรียมความพร้อมรับลมร้อนกันมาบ้างแล้ว การเตรียมพร้อมในหน้าร้อนนั้นคนส่วนใหญ่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าในฤดู ไหน ๆ คิดว่าความร้อนของอากาศจะทำให้น้ำมันเครื่องน้ำมันเกียร์ น้ำมันเบรก ฯลฯ เกิดการเสื่อมสภาพอันเนื่องมาจากความร้อน ก็ถูกต้องเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น เพราะอีกครึ่งหนึ่งความชื้นภายในอากาศก็สามารถส่งผลให้ของเหลวต่าง ๆ เหล่านั้นเสื่อมสภาพได้ไม่แพ้ความร้อนเลยทีเดียว จึงอยากจะบอกว่า การเตรียมพร้อมในฤดูฝนก็เป็นสิ่งที่เจ้าของรถไม่ควรละเลยเช่นกัน ดังนั้น เรามาเตรียมรถรับมือฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงกันเลยดีกว่า


น้ำมันเครื่อง ส่วนใหญ่ก็จะเปลี่ยนกันตั้งแต่ก่อนหน้าร้อนจะมาเยือนกันไปรอบหนึ่งแล้ว นี่ก็ผ่านพันไป 4-5 เดือนแล้ว รวม ๆ ระยะทางของรถบางคันก็ถึงรอบที่จะต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่องกันอีกครั้ง บางคันอาจใกล้ถึงระยะที่จะต้องเปลี่ยนแล้ว ก็น่าจะถือโอกาสนี้เปลี่ยนน้ำมันเครื่องไปซะเลย เพราะหน้าร้อนที่ผ่านมาน้ำมันเครื่องต้องทำงานหนักมาก ทั้งความร้อนและความชื้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอากาศอยู่บ่อย ๆ หน้าฝนเครื่องยนต์ก็ต้องการน้ำมันเครื่องใหม่ ๆ มาช่วยปกป้องเครื่องยนต์เหมือนกัน เนื่องจากความชื้นในอากาศเป็นตัวสำคัญที่จะทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น กับน้ำมันเครื่องทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ไม่แพ้ความร้อน ในพื้นที่ที่มีฝนตกชุกจึงต้องให้ความสำคัญกับน้ำมันเครื่องมากขึ้น


ตรวจสภาพใต้ท้องรถ เป็นสิ่งสำคัญมากทีเดียว เพราะการปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบอาจจะทำให้ความเสียหายเกิดมากกว่าที่คุณคิด โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งน้ำท่วมเป็นประจำ การเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง อะไรบ้างที่ต้องทำการตรวจสอบและตรวจเช็ก อย่างแรกคือบรรดายางหุ้มแร็คและยางหุ้มเพลา เพราะการปริแตกหรือฉีกขาดเพียงเล็กน้อยจะส่งผลเสียหายตามมาเป็นอย่างมาก เพราะน้ำที่ท่วมนองนั้นมักจะมีโคลนทรายและสิ่งสกปรกมากมายปะปนอยู่ น้ำจะเข้าไปชะล้างจาระบีที่อยู่ภายในออกมา และทรายหรือดินที่อยู่ในน้ำก็จะเข้าไปแทนที่ปะปนอยู่กับจาระบีไม่นานก็จะ เกิดความหายนะขึ้นกับชิ้นส่วนเหล่านั้น เนื่องจากเป็นชิ้นส่วนที่ต้องเคลื่อนไหว และมีการเสียดสีกันอยู่ตลอดเวลา ทรายและดินเม็ดเล็ก ๆ ที่เข้าไปแทรกอยู่ระหว่างหน้าสัมผัสจะทำให้เกิดการสึกหรออย่างรุนแรงและรวด เร็ว เหมือนกับการที่คุณเอามือถูกไปมาบนพื้นถนนนั่นแหละ ทรายที่อยู่บนพื้นผิว จะทำให้มือถลอกเอาง่าย ๆ ไม่นานแร็คและเพลาขับก็จะเกิดเสียงดัง การซ่อมแซม จะเป็นเงินก้อนโตมากกว่าการเปลี่ยนยางหุ้มเพลาหรือยางหุ้มแร็คหลายเท่าตัว


การตรวจสอบร่องรอย การรั่วซึมต่าง ๆ เช่น อ่างน้ำมันเกียร์ อ่างน้ำมันเครื่องซีลท้ายหรือหน้าเครื่อง ทำไมต้องตรวจสอบนั่นก็เพราะว่า การรั่วซึมที่เกิดขึ้นจะทำให้ของเหลวที่อยู่ภายในซึมออกมา เช่น น้ำมันเกียร์ น้ำมันเครื่อง เป็นต้น ทางออกของน้ำมันเหล่านั้นมันก็กลายเป็นทางเข้าของน้ำและความชื้นได้เป็น อย่างดี และน้ำนี่แหละจะเป็นตัวการทำให้เกียร์ โดยเฉพาะเกียร์อัตโนมัติ เกิดความเสียหาย โดยเริ่มจากการทำงานของเกียร์ที่ผิดปกติ ในส่วนเครื่องยนต์ น้ำจะทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพไม่สามารถปกป้องเครื่องยนต์ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ เมื่อพบร่องรอยการรั่วซึมเกิดขึ้นต้องทำการซ่อมแซมก่อนที่หน้าฝนจะมาถึงโดย ไม่ต้องรอ การซ่อมเกียร์หรือยกเครื่องออกมาโอเวอร์ฮอลนั้นค่าใช้จ่ายจะแพงมากกว่า อะไหล่และค่าแรงในการเปลี่ยนซีลหลายเท่าตัวเลยทีเดียว


น้ำมันเบรก ถ้าก่อนหน้าร้อนคุณเคยเปลี่ยนไปแล้วก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าห่วง น้ำมันเบรกนั้นส่วนใหญ่คู่มือประจำรถมักระบุว่าควรเปลี่ยนทุก ๆ 40,000 กิโลเมตรหรือทุก ๆ 2 ปี แต่สภาพอากาศร้อนขึ้นอย่างบ้านเราควรจะเปลี่ยนเร็วขึ้น ลองสำรวจดูว่าถ้ายังไม่เคยเปลี่ยนน้ำมันเบรกในช่วงเกือบ ๆ 2 ปีที่ผ่านมา ถือโอกาสเปลี่ยนซะเลย ตอนนี้จะเป็นการดี เพราะความขึ้นในอากาศจะยิ่งทำให้น้ำมันเบรกที่ใกล้เสื่อม เสื่อมเร็วยิ่งขึ้น และอาจจะทำให้น้ำมันเบรกเดือดจากกรณีใช้เบรกหนัก ๆ เนื่องจากความชื้นที่ปะปนอยู่ในระบบเบรกนั่นเอง


ยาง ความเปียกลื่นบนท้องถนนนั้นจะทำให้ประสิทธิภาพการทรงตัวและการยืดเกาะถนนลด ลง ประการแรกที่ต้องทำคือตรวจสอบการสึกหรอของหน้ายางว่าอยู่ในระดับใดแล้ว โดยที่หน้ายางจะมีระดับบอกการสึกหรอต่ำสุดของยางอยู่ กรณีดอกยางสึกมากจนใกล้ถึงระดับดังกล่าว คุณจะต้องขับขี่ด้วยความระมัดระวังใช้ความเร็วต่ำลง และหลีกเลี่ยงการขับขี่ลุยแอ่งน้ำ เนื่องจากประสิทธิภาพในการรีดน้ำของหน้ายางลดลง ทำให้เกิดอาการเหินน้ำได้ง่าย แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าดอกยางใกล้หมด ถ้าคุณไม่รู้ว่าขีดบอกระดับต่ำสุดของดอกยางอยู่ตรงไหน สามารถทดสอบได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ไม้บรรทัดเสียบลงไปในร่องของดอกยาง ถ้าร่องดอกยางมีความลึกน้อยกว่า 2 มิลลิเมตรถือว่าอยู่ในระดับอันตราย ในฤดูฝนนั้นร่องลึกของดอกยางมีความสำคัญมากในการรีดน้ำ ถ้ายางมีสภาพไม่ค่อยดีก็ควรเปลี่ยนใหม่ทันที ยางที่หมดดอกจะทำให้การควบคุมพวงมาลัย การทรงตัว และประสิทธิภาพในการเบรกลดลงอยู่ในขั้นวิกฤติเลยทีเดียว แม้ว่าสภาพคล่องทางการเงินของคุณจะไม่สู้ดีนัก อย่าคิดว่าการทนใช้ไปก่อนจะเป็นทางออกที่ดี การมีชีวิตอยู่เพื่อใช้หนี้ค่ายางใหม่สักชุดย่อมดีกว่า


ใบปัดน้ำฝน ควร เปลี่ยนทุกปีเมื่อฝนแรกเริ่มตกลงมา หรือถ้าคิดว่ามันยังได้อยู่ก็ควรตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงาน โดยทำความสะอาดกระจกและยางปัดน้ำฝนให้สะอาดก่อน จากนั้นฉีดน้ำแล้วลองปัดดูว่า ใบปัดน้ำฝนสามารถกวาดน้ำบนกระจกหน้าได้เกลี้ยงเกลาหรือไม่ ถ้ามีเส้นของคราบน้ำให้เห็นควรเปลี่ยนใหม่โดยไม่ต้องลังเล และถ้าขณะที่ปัดน้ำฝนทำงานแล้วมีเสียงดังเอี๊ยดอ๊าดหรือครืดคราดก็ต้อง เปลี่ยนเช่นกัน เพื่อป้องกันกระจกเป็นรอยในภายหลัง ไม่ควรซื้อแบบที่ เปลี่ยนเฉพาะยางปัดอย่างเดียว เพราะจุดยืดระหว่างโครงใบปัดกับก้านปัดน้ำฝนนั้นส่วนมากเป็นพลาสติก เมื่อโดนแดดนาน ๆ จะกรอบแตกได้ง่าย ของถูกเนื้อยางจะแข็งทำให้กระจกเป็นรอยง่าย เวลาเลือกซื้อต้องดูสภาพของยางปัดด้วยว่า มีรอยแตกลายงาหรือไม่ อย่าไว้ใจว่าเป็นของใหม่แล้วจะสบายใจ เพราะของเก่าเก็บถูกเอามาขายปนกับของดี ๆ ก็มี ตรวจเช็กหัวฉีดน้ำและถังพักน้ำด้วยเช่นกัน ปัญหานี้มักจะเป็นกับรถอายุเยอะหรือรถที่ไม่ค่อยได้รับการดูแลเอาใจใส่ ลองสังเกตดูการฉีดของน้ำล้างกระจกว่าแรงดีหรือไม่ และฉีดอยู่ในแนวที่สมควรไหม ถ้าหัวฉีดอุดตันให้ใช้เข็มเล็ก ๆ แยงเข้าไปทำความสะอาดและปรับทิศทางให้ไปแนวกึ่งกลางกระจก ถ้า ทำความสะอาดแล้วพบว่าแรงดันน้ำเบาให้ตรวจเช็กว่ามีท่อทางรั่วหรือไม่ รวมทั้งเช็กสภาพถังพักและปั๊มน้ำฉีดกระจกด้วย หากพบว่ามีอุปกรณ์ชำรุดให้เปลี่ยนใหม่ เพราะของพวกนี้ราคาไม่แพง ซึ่งระบบน้ำฉีดกระจกจะช่วยได้มาก กรณีที่กระจกสกปรกมาก ๆ นอกจากนี้ต้องตรวจเช็กการทำงานของระบบไล่ฝ้าว่ายังทำงานตามปกติหรือไม่ ถ้าไม่ให้แก้ไขโดยเร็ว


วิธีการทำความสะอาดผิวหน้าของกระจก กระจกหน้ารถเป็นส่วนที่ทำให้ใบปัดน้ำฝนทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ เนื่องจากเมื่อใช้งานไปนาน ๆ คราบแมลง ยางไม้ ละอองน้ำมันจากบรรดารถเมล์หรือรถบรรทุก ฯลฯ จะติดเป็นคราบแข็งที่ผิวหน้ากระจก ทำให้ผิวหน้าของกระจกขรุขระคล้ายผิวส้ม ก่อให้เกิดเสียงดังเวลาทำงานและรอยคราบเป็นเส้น ๆ การทำความสะอาดโดยใช้น้ำยาเช็ดกระจกอย่างเดียวไม่สามารถทำความสะอาดได้หมดจด วิธีทำความสะอาดที่ได้ผลมากที่สุด คือใช้ใบมีดโกนขูดทำความสะอาดผิวหน้ากระจก โดยใช้ใบมีดโกนแบบแบน ๆ มีด้าม ค่อย ๆ ขูดไปบนผิวกระจกโดยตรง โดยทำมุมเอียงประมาณ 30 องศาเหมือนเวลาช่างตัดผมโกนหน้าให้คุณขูดเบา ๆ ใบในทิศทางเดียวกัน ใจเย็น ๆ ไม่ต้องกดแรง เดี๋ยวกระจกจะเป็นรอย เมื่อขูดจนเกลี้ยงแล้ว ใช้น้ำยาเช็ดกระจกเช็ดซ้ำ แบบนี้จะทำให้กระจกสะอาด ใบปัดน้ำฝนก็จะทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ


ไฟหน้า การเปลี่ยนไฟหน้าให้สว่างกว่ามาตรฐาน ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยเพิ่มทัศนวิสัยได้ดีเสมอไป โดยเฉพาะแสงสีขาวและสีฟ้า แม้ว่าจะดูสว่างมากขึ้น แต่เมื่อเกิดฝนตก แสงสีขาวและสีฟ้านั้นจะสะท้อนกับละอองฝน ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลงเช่นเดียวกับการขับรถฝ่าหมอก และแทบไม่มีประโยชน์เลยด้วยซ้ำ ยามต้องวิ่งกลางฝนเวลากลางคืน แสงไฟโทนออกเหลืองนั้นจะส่องสว่างได้มากกว่า เพราะมีการสะท้อนแสงน้อยกว่า จึงมีความปลอดภัยมากกว่าในการขับขี่ ทั้งนี้ควรจะเลือกให้เหมาะสม อย่าตามแฟชั่นและต้องศึกษาให้ถี่ถ้วน ส่วนท่านที่ต้องเดินทางในพื้นที่ที่ฝนตกชุกเป็นประจำ แนะนำให้ติดสปอตไลท์สีเหลือง เพราะจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางได้มาก แต่จะต้องปรับตั้งลำแสงให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้กวนสายตาผู้ใช้รถท่านอื่น ๆ มารยาทของการใช้สปอร์ตไลท์นั้นเมื่อเห็นแสงไฟของรถที่สวนมาต้องปิดทันที เพราะจะทำให้ผู้ขับขี่ที่สวนมานั้นตาพร่าเฉียบพลันซึ่งอาจทำให้เกิด อุบัติเหตุตามมาได้ รถรุ่นใหม่ ๆ มักจะมีไฟตัดหมอกหลังมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน แต่ยังมีเจ้าของรถจำนวนหนึ่งที่ใช้ไม่ถูกกาลเทศะ เช่นเดียวกับพวกที่ชอบเปิดสปอตไลท์หรือไฟตัดหมอกหน้าในเมืองทั้ง ๆ ที่มีไฟถนนและฝนก็ไม่ได้ตก กรณีฝนตกหนักควรเปิดไฟตัดหมอกหลัง เพื่อเป็นการแสดงตัว เพราะผู้ที่ขับตามหลังมา จะมองเห็นได้ชัดเจนและไกลกว่า ถ้าไม่มีสามารถซื้อมาติดตั้งเพิ่มเติมได้ และควรติดตั้งเพียงดวงเดียวในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น ใต้กันชนหลังด้านขวา (ด้านเดียวกับผู้ขับขี่) เพราะบ้านเราใช้รถพวงมาลัยขวาและขับชิดซ้าย การติดตั้งด้านขวาเป็นการบ่งบอกถึงความกว้างของตัวรถได้อีกทางหนึ่งด้วย สามารถใช้ได้ทั้งตอนฝนตกและหมอกลงจัด เมื่อทัศนวิสัยเปิดและมองเห็นได้ชัดเจนก็ควรปิดทันที แม้ทัศนวิสัยแย่มาก ๆ ก็ไม่ควรใช้สัญญาณไฟกะพริบหรือไฟฉุกเฉินอย่างเด็ดขาด


อุปกรณ์จำเป็นสำหรับฤดูฝน อุปกรณ์กันฝน เช่น ร่ม เสื้อกันฝน แม้กระทั่งหมวกต้องเตรียมเอาไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน และที่ขาดไม่ได้คือไฟฉายที่ควรแยกถ่านเอาไว้ต่างหาก และควรเก็บไว้ในช่องเก็บของหรือหลังเบาะ อุปกรณ์อื่น ๆ เช่น สเปรย์ไล่ความชื้น กระดาษทิชชู สายลากรถ ผ้าพลาสติกสำหรับปูกันเปื้อน สายพ่วงแบตเตอรี่ต้องมีเอาไว้ ที่ชาร์จแบตฯ มือถือแบบเสียบที่จุดบุหรี่ หรือเพาเวอร์แบงค์ อุปกรณ์เหล่านี้ถ้าเครื่องยนต์ไม่ดับกลางฝนคุณจะไม่นึกถึงความดีและความจำ เป็นของมันแน่นอน อีกอย่างที่พลาดไม่ได้คือเสื้อยืดและผ้าเช็ดตัว เก็บไว้ไม่เสียหาย เพราะหลังจากเปียกคุณคงไม่อยากเข้ามานั่งหนาวหรือเปียกในรถต่อแน่นอน เมื่อต้องการเดินทางควรตรวจเช็กสภาพอากาศไว้ก่อน ฟังข่าวจราจรหรือพยากรณ์อากาศบ่อย ๆ เมื่อเห็นว่าฝนทำท่าจะตกหนัก ควรหาที่จอดพัก เช่น ปั๊มน้ำมัน ร้านอาหาร หรือจุดบริการของตำรวจทางหลวง รอให้ทัศนวิสัยดีพอแล้วค่อยเดินทางต่อ


การรอให้ฝนตกสักพักจะช่วยให้น้ำฝนชะล้างดินโคลนบนผิวถนนออกไปได้มาก ถนนก็จะลื่นน้อยลง ช่วยเพิ่มความปลอดภัยได้อีกทางหนึ่ง เมื่อฝนตกต้องลดความเร็วลงและใช้การสังเกตให้มากกว่าปกติ เพราะมักจะมีน้ำท่วมขังบริเวณคอสะพาน ด้านเอียงในโค้ง ฯลฯ ต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก เพราะน้ำที่ท่วมขังสามารถทำให้รถเสียหลักได้ง่าย ที่สำคัญที่สุดคือ ต้องไม่ประมาท และถ้าเลี่ยงการขับขี่เวลาฝนตกหนักได้จะเป็นการดีที่สุด