“โช้คอัพ” เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยรองรับแรงกระแทก ลดแรงสั่นสะเทือนของรถ คอยหน่วงการเคลื่อนที่ขึ้นลงของช่วงล่าง-ตัวถัง ช่วยการทรงตัวของรถยนต์ และดูดซับการสั่นของสปริงทำให้การรถเด้ง ขึ้น-ลง ของรถยนต์เป็นไปอย่างนุ่มนวล ลองมาดูกันว่าโช้คอัพที่คุณใช้เป็นแบบไหน และอาการรถเช่นไรถึงต้องเปลี่ยนโช้คอัพ
*** โช้คอัพมีอยู่ 2 ระบบ ***
1.โช้คอัพระบบ “น้ำมัน” เป็นการทำงานด้วยระบบไฮดรอลิค ในขณะที่ทำงานน้ำมันไฮดรอลิคจะไหลผ่านวาล์วภายในลูกสูบ มีการควบคุมวาล์วอยู่ 3 ระดับ โดยการทำงานของวาล์วจังหวะแรก BLEED จะมีผลต่อการขับขี่โดยเฉพาะในอัตราความเร็วต่ำ ส่วนวาล์วควบคุมน้ำมันระดับที่สอง BLOW OFF จะควบคุมสมรรถนะในการขับขี่ในอัตราความเร็วปกติ และวาล์วควบคุมน้ำมันระดับที่สาม ORIFICE วาล์วจะทำงานในขณะแกนโช้คเคลื่อนตัวในขณะที่รถใช้ความเร็วสูง
2.โช้คอัพระบบ “แก๊ส” โช้คอัพแก๊สแรงดันต่ำ (LOW-PRESSURE GAS SHOCK ABSORBER) โช้คอัพแก๊สแบบนี้ จะมีลักษณะเหมือนโช้คอัพไฮดรอลิคทั่วๆไป แต่มีแก๊สไนโตรเจน (NITROGEN GAS) บรรจุเข้าไปส่วนบนของห้องน้ำมันสำรองแรงดันประมาณ 142 - 213 ปอนด์/ ตารางนิ้ว โช้คอัพแก๊สแรงดันสูง (HI-PRESSURE GAS SHOCK ABSORBER) มีลักษณะต่างจากโช้คอัพแรงดันต่ำคือ โครงสร้างภายในตัวของโช้คอัพจะมีน้ำมันเพียงห้องเดียวไม่มีห้องน้ำมันสำรอง ภายในกระบอกสูบจะบรรจุน้ำมันไฮดรอลิคไว้ด้านบน และจะอัดแก๊สไนโตรเจนไว้ด้านล่าง ประมาณ 284-427 ปอนด์/ ตารางนิ้ว
*** อาการรถแบบไหนต้องเปลี่ยนโช้คอัพ ***
1. ซีลน้ำมันโช้คอัพรั่ว (จะมีน้ำมันไหลออกมา)
2. โช้คอัพ คด งอ ผิดรูปทรง
3. รถเด้งกระด้างกว่าปกติ
4. โช้คมีอาการโยนตัวมาก หลังจากตกหลุม
5. โช้คอัพเสื่อมสภาพ (ใช้งานเกิน 100,000 กิโลเมตร หรือ 5 ปี)
เรื่องโช้คอัพอาจดูซีเรียสแต่ไม่ยากเกินที่จะเข้าใจ โช้คทั้ง 2 แบบมี ข้อดี/ข้อเสีย แตกต่างกันไปรวมถึงงบประมาณค่าใช้จ่าย ปกติโช้คอัพรถยนต์ที่ติดมากับรถวิศวกรได้คำนวณออกแบบมาให้เหมาะกับลักษณะรถแต่ละรุ่นแล้ว หากไม่ได้เสียหายหรือหมดอายุการใช้งานก็ใช้โช้คเดิมนั่นแหละไม่ต้องเปลี่ยนใหม่