สุดเจ๋ง!! ต้ม “มะระ” อย่างไรไม่ให้ “ขม” แถมอร่อยอีกด้วย!


เคล็ดลับวิธีลดความขมของมะระ


1. การเลือกมะระ


ควรเลือกที่ลูกอวบๆ รูปร่างตรงๆ ไม่งอ (เพื่อจะได้หั่นง่าย) ผิวออกสีเขียวอ่อนๆ ไม่ขาวไม่เหลือง ริ้วใหญ่และห่าง สิ่งสำคัญคือ จับดูแล้วเนื้อต้องแข็ง ถ้าริ้วเล็ก ผิวเขียวจัด ยังอ่อน ไม่อร่อยค่ะ แต่ถ้าเริ่มออกสีเหลืองส้ม เนื้อเริ่มนิ่ม คือ มะระเริ่มแก่แล้ว รสชาติจะขมมาก 

2. ลดความขมด้วยเกลือ


หลังจากหั่นมะระเป็นชิ้นตามความต้องการแล้ว ให้ใช้ช้อนขูดไส้และเมล็ดออก จึงนำมาคลุกกับเกลือ มะระ 1 ลูก ก็ใช้เกลือประมาณ 2 ช้อน โรยให้ทั่ว คลุกเคล้าให้เข้ากัน ทิ้งไว้สัก 10 นาที จึงล้างออก ลวกในน้ำเดือด แล้วจึงนำไปปรุงตามขั้นตอน

3. ลวกด้วยน้ำเกลือ


เหมาะสำหรับเมนูผัด เริ่มจากต้มน้ำให้เดือด ใส่เกลือลงไป นำมะระที่ซอยแล้วลงไปลวก พอเริ่มออกสีเขียวเข้ม รีบตักขึ้นล้างในน้ำเย็น ยิ่งเย็นจัดยิ่งดี เพราะมะระจะกรอบอร่อยและมีสีสวย แล้วจึงตักขึ้นพักให้สะเด็ดน้ำ จึงนำไปผัดตามปกติหรือเป็นจะใช้เป็นเครื่องเคียงกับขนมจีนก็ได้ค่ะ

4. ขยำเกลือ


เหมาะสำหรับมะระที่มีรสขมมากๆ ใช้วิธีซอยบางๆ แล้วขยำกับเกลือจนเนื้อนุ่ม หรือนำไปแช่ในน้ำเกลือสักพัก ล้างออกด้วยน้ำสะอาดสัก 2-3 น้ำ ให้หายเค็ม แล้วจึงนำไปปรุงอาหาร

5. ต้มน้ำหลายครั้ง


นำมะระต้มในน้ำเดือด เปลี่ยนน้ำหลายๆ ครั้ง จนเหลือความขมมากน้อยตามต้องการ ยิ่งเปลี่ยนน้ำหลายครั้ง ความขมจะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ เนื้อมะระจะนุ่มเหมาะสำหรับต้มหรือตุ๋น และไม่ควรต้มหลายครั้งเกินไปนะคะ เพราะจะทำให้จืดจนไม่อร่อยค่ะ 

6. ต้มโดยไม่ปิดฝาหม้อ


เหมาะสำหรับคนที่ชอบรสขมของมะระติดปลายลิ้นเล็กน้อย เช่น เมนูมะระยัดไส้ หลังจากยัดไส้ในมะระสดๆ แล้ว ปรุงรสน้ำซุปด้วย กระเทียม รากผักชีและพริกไทย ต้มไปเรื่อยๆ ด้วยไฟอ่อนๆ และไม่ต้องปิดฝาหม้อนะคะ ยิ่งเนื้อมะระจะนุ่มมาก มีรสชาตินุ่มนวล เหลือรสขมเพียงเล็กน้อย
     
ข้อควรระวัง : มะระที่กินได้คือมะระที่ดิบๆ ห้ามรับประทานมะระที่มีผลสุก เพราะอาจทำให้คลื่นไส้ อาเจียนได้ เนื่องจากมีสารซาโปนินอยู่มาก ซึ่งสารนี้จะทำให้เป็นพิษต่อร่างกายได้ และระวังอย่าทานมะระมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ท้องเสีย เนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาระบาย
     
ข้อมูลจาก kaijeaw

 



Advertisements