แกร็บมาร์ท ตอกย้ำผู้นำ Quick Commerce ชูกลยุทธ์ “คุ้ม ครบ คูล” หนุนร้านเล็ก-โชว์ห่วยเข้าถึงลูกค้าดิจิทัล

แกร็บ ผู้นำซูเปอร์แอปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยตลาดควิกคอมเมิร์ซ (Quick Commerce) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ดันธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีที่ผ่านมา  พร้อมเปิดเกมรุกตอกย้ำตำแหน่งผู้นำด้วยกลยุทธ์ “คุ้ม ครบ คูล” เสริมแกร่งจุดขายด้านความคุ้มค่าผ่านแคมเปญการตลาด เพิ่มความหลากหลายของสินค้าและร้านค้าพันธมิตร และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้บริการทั้งในด้านความสะดวกในการเข้าถึงสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันและการจัดส่งที่รวดเร็ว เล็งขยายพันธมิตรโดยเจาะกลุ่มโชว์ห่วย-ร้านค้าขนาดเล็ก หวังสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มยอดขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล


นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจแกร็บมาร์ท แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “แกร็บมาร์ท บริการสั่งซื้อสินค้าแบบออนดีมานด์จากซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อและร้านค้าทั่วไป ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตอย่างโดดเด่นต่อเนื่องนับตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยในช่วงไตรมาสสองของปี 2563 เนื่องจากเป็นบริการที่ช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหาความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอยและความรวดเร็วในการจัดส่งแบบทันที ประกอบกับอิทธิพลจากสถานการณ์โควิดในช่วงสองปีที่ผ่านมาที่ส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค ทำให้ในปีที่ผ่านมา ธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยปัจจุบัน แกร็บมาร์ทครอบคลุมพื้นที่การให้บริการใน 68 จังหวัด และมีร้านค้าพันธมิตรรวมกว่า 15,000 สาขา”


ในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์การสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างมากและมีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งนี้ รายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (e-Conomy SEA Report 2021) ระบุว่า ในปีที่ผ่านมา (2564) ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปและส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจดิจิทัล ซึ่งรวมถึงตลาด Quick Commerce ที่แม้ความนิยมและมูลค่าตลาดอาจจะยังไม่สามารถเทียบเท่ากับธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ แต่ถือเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและโอกาสในการเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มของสดและของชำ (Online grocery) ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเข้าถึง (penetration rate) หรืออัตราการซื้อสินค้าประเภทนี้ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพียง 2% เท่านั้น ทั้งนี้  ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญกับ 3 ปัจจัยหลักเมื่อต้องเลือกซื้อสินค้าในชีวิตประจำวันแบบออนดีมานด์ นั่นคือ การมีสินค้าที่หลากหลายให้เลือกสรร การจัดส่งที่รวดเร็ว และราคาที่เข้าถึงได้ 


เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำในตลาดควิกคอมเมิร์ซ แกร็บมาร์ทเดินหน้าสร้างการเติบโตทางธุรกิจและขยายฐานผู้ใช้บริการผ่านกลยุทธ์ “คุ้ม ครบ คูล” ซึ่งครอบคลุมการเสริมความแข็งแกร่งใน 3 ด้าน คือ 



  1. คุ้ม (Affordability): นำเสนอความคุ้มค่าให้กับผู้ใช้บริการผ่านการทำแคมเปญการตลาดและส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตรร้านค้าและสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ พร้อมมอบดีลส่วนลดต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลหรือโมเมนต์พิเศษ รวมถึงส่วนลดขั้นกว่าจากแพ็กเกจสมาชิกรายเดือนหรือ GrabUnlimited 

  2. ครบ (Wide Selection): เพิ่มหมวดหมู่ของสินค้าให้ครอบคลุมและหลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ของสดของชำ สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป สินค้าด้านสุขภาพและความงาม สินค้าสำหรับแม่และเด็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้สำนักงาน ไปจนถึงสินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยง 

  3. 3.       คูล (User Experience): พัฒนาเทคโนโลยี แอปพลิเคชัน ตลอดจนระบบการให้บริการและมาตรฐานการจัดส่งสินค้าอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้ผู้ใช้บริการสามารถค้นหา เลือกซื้อ และสั่งสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น อาทิ การใช้ระบบ AI ในการนำเสนอดีลส่วนลดจากร้านค้าในรัศมีของผู้ใช้บริการ การจัดอันดับร้านค้าในแอปพลิเคชันตามคะแนนความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ และ การจัดให้มีไอคอนในแกร็บมาร์ทสำหรับประเภทสินค้าตามเทศกาล 


“นอกเหนือจากกลยุทธ์หลักใน 3 ด้าน ในปีนี้ แกร็บยังเตรียมเดินหน้าขยายพันธมิตรและการเข้าถึงสินค้าไปยังกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ร้านโชว์ห่วย ร้านขายของชำในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถใช้แพลตฟอร์มของแกร็บในการเข้าถึงฐานลูกค้าในวงกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายโอกาสในเชิงธุรกิจให้กับกลุ่ม MSMEs ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งเป็นไปตามพันธกิจ GrabForGood ที่มุ่งใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อสร้างโอกาสและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนในสังคม” นางสาวจันต์สุดา กล่าวทิ้งท้าย