ภาษีคาร์บอน ราคาที่ต้องจ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อมยั่งยืน

www.rodweekly.com

จากผลการรายงาน “Greenhouse Gas Bulletin 2024” ซึ่งจัดทำโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้เปิดเผยข้อมูลความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศในปี 2023 ที่พบว่าพุ่งสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องถึง 12 ปีซ้อน ทำให้ปัญหาโลกร้อนส่งผลกระทบชัดเจนมากขึ้น การออกนโยบายระดับประเทศเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงกลายเป็นเรื่องที่หลายประเทศให้ความสำคัญ โดย “ภาษีคาร์บอน” เป็นหนึ่งในนโยบายที่สร้างขึ้น ด้วยมุ่งหวังจะปรับพฤติกรรมทั้งภาคธุรกิจและผู้บริโภค ดังนี้


เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จากการใช้พลังงานฟอสซิล เป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน การเก็บภาษีคาร์บอน จึงเป็นวิธีการกำหนด “ต้นทุน” ให้กับการปล่อยก๊าซเหล่านี้ เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจและผู้บริโภคลดการใช้พลังงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สร้างแรงจูงใจในการพัฒนาพลังงานสะอาดเมื่อการใช้พลังงานฟอสซิลมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการต้องจ่ายภาษี ทั้งธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมจะมองหาทางเลือกที่คุ้มค่ากว่า เช่น การพลังงานหมุนเวียน หรือยอมลงทุนให้กับเทคโนโลยีที่ลดการปล่อยคาร์บอน เพื่อหลีกเลี่ยงการต้องจ่ายค่าปรับและอัตราภาษีที่สูง
ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมด้านสิ่งแวดล้อมผู้ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณมาก ก็ควรต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดจากความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ภาษีคาร์บอนจะช่วยให้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” ทำได้จริง
สนับสนุนเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมระดับโลกภาษีคาร์บอน จะช่วยให้ประเทศต่าง ๆ บรรลุเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามข้อตกลงปารีส ซึ่งมุ่งเน้นให้โลกรักษาระดับอุณหภูมิไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5-2 องศาเซลเซียส เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาษีคาร์บอน จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง


ภาษีคาร์บอน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม ดังนี้


ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยภาษีคาร์บอนจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจและผู้บริโภคลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เลือกใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดต้นทุนด้านภาษี ส่งผลให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาพรวมลดลงคืนสมดุลให้ทรัพยากรธรรมชาติภาษีคาร์บอนเป็นการเพิ่มต้นทุนในการใช้พลังงานที่ปล่อยมลพิษ ธุรกิจจึงจะเน้นการใช้ทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพและได้ประโยชน์สูงสุดมากขึ้น เพื่อลดของเสียและการทำลายสิ่งแวดล้อมฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในระยะยาวภาษีคาร์บอนเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง จึงช่วยบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ลดภาวะโลกร้อน และฟื้นฟูระบบนิเวศที่เคยได้รับผลกระทบ

ภาษีคาร์บอน อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ ดังนี้


เป็นการเพิ่มต้นทุนในธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิล จะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการจ่ายภาษีคาร์บอน ทำให้ราคาสินค้าและบริการอาจปรับตัวสูงขึ้น ส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อหลีกเลี่ยงต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ อาจเริ่มเห็นประโยชน์จากการลงทุนในเทคโนโลยีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวด้วย เพิ่มตลาดในการจ้างแรงงานเพราะความต้องการในเทคโนโลยีสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนจะมีเพิ่มมากขึ้น จึงสามารถสร้างงานใหม่ ๆ หรือการลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ในกลุ่มเศรษฐกิจสีเขียว เช่น งานในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์, พลังงานลม รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของธุรกิจคาร์บอนต่ำ ส่งเสริมความยั่งยืนแม้ในระยะสั้น ภาษีคาร์บอนจะต้นทุนและเพิ่มภาระ แต่ในระยะยาวจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยการสนับสนุนให้ประเทศพึ่งพาพลังงานที่สะอาด ลดความเสี่ยงจากผลกระทบของโลกร้อน ควบคู่ไปกับการมีสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น


ภาษีคาร์บอนในประเทศไทย


ปัจจุบัน ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่กำหนดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนโดยตรง และก่อนหน้านี้ รัฐบาลไทยเคยให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีจากการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกอยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศที่สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิต องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) และกรมสรรพากร จึงผลักดันมาตรการสิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ธุรกรรมการจำหน่ายคาร์บอนเครดิต โดยกรมสรรพากรได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 514) พ.ศ. 2554 ในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เพื่อกำหนดให้ยกเว้นภาษีเงินได้ แก่บริษัท ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคล สำหรับกำไรสุทธิในส่วนที่เกิดจากการจำหน่ายคาร์บอนเครดิตที่ได้จากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกการพัฒนาที่สะอาดภายใต้พิธีสารเกียวโต และโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจอื่น ๆ


อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็มีการนำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในรูปแบบภาษีสรรพสามิตสำหรับสินค้าบางประเภท อย่างรถยนต์ โดยได้เริ่มนำแนวคิดการจัดเก็บภาษีคาร์บอนมาใช้ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตรถยนต์ ตามกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 23) พ.ศ. 2565 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีคาร์บอนทางอ้อมจากเชื้อเพลิงฟอสซิล อ้างอิงตามปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการเผาไหม้ เช่น รถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 3,000 ซีซี หากปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 150 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 25 ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 150-200 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 30 และถ้าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกิน 200 กรัม/กิโลเมตร มีอัตราภาษีร้อยละ 35 ส่วนรถยนต์นั่งความจุของกระบอกสูบเกิน 3,000 ซีซี มีอัตราภาษีร้อยละ 40


ในส่วนของการจัดเก็บภาษีคาร์บอนในอนาคตอันใกล้ จำเป็นต้องดำเนินการตามบริบทของมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประชาคมโลก ที่มีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุด และเพื่อให้ผู้ส่งออกนำไปใช้ลดหย่อนค่าธรรมเนียมจากมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ที่ทางสหภาพยุโรป (EU) จะเรียกเก็บจากผู้ส่งออกในปี 2569 ไทยจึงจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์บอนให้ได้ภายในปีงบประมาณ 2568 ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในภูมิภาคอาเซียน (ต่อจากสิงคโปร์) ที่มีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน


ในระยะแรก จะเริ่มต้นเก็บจากภาษีน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่มีการเรียกเก็บอยู่แล้วให้กลายเป็นภาษีคาร์บอน โดยในปัจจุบัน กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 6.44 บาท/ลิตร และภาษีน้ำมันเบนซิน อยู่ที่ 6.50 บาท/ลิตร และสำหรับอัตราภาษีคาร์บอนที่จะเรียกเก็บ อยู่ที่ 200 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า อย่างไรก็ดี ตัวเลขดังกล่าว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) มองว่าเป็นการจัดเก็บที่ถูกเกินไป จนไม่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญ สำหรับการใช้เป็นมาตรการการคลังเพื่อกดดันอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูง


อีกทั้งประเทศไทยยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและคาร์บอนเครดิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกการใช้คาร์บอนเครดิต และการพัฒนาตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ซึ่งจะกำหนดกรอบการดำเนินงานและมาตรการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อีกร่างกฎหมายที่มีเป้าหมายในการบรรลุการลดก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2065 (พ.ศ. 2608) กำหนดให้ภาคเอกชนต้องรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประจำทุกปี ปีละ 1 ครั้ง และครอบคลุมถึงระบบการซื้อขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการซื้อขายคาร์บอนเครดิต และระบบภาษีคาร์บอน


“ราคาที่ต้องจ่าย” เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีจากสิ่งแวดล้อมที่สะอาดขึ้น


สิ่งที่ผู้บริโภคควรรู้ก็คือ ภาษีคาร์บอน ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ระดับประเทศหรือองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น ผู้บริโภคอย่างเราก็อาจได้รับผลกระทบโดยตรงในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ราคาสินค้าที่สูงขึ้น ไปจนถึงการต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดคาร์บอนฟุตพรินต์ เพราะเมื่อรัฐบาลจัดเก็บภาษีคาร์บอน ธุรกิจที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณมากจะมีต้นทุนสูงขึ้น และต้นทุนเหล่านี้ก็มักถูกส่งต่อมายังผู้บริโภคผ่านราคาสินค้าและบริการ จึงอาจทำให้ชีวิตประจำวันของเรามีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ถึงอย่างนั้น เป้าหมายของภาษีคาร์บอน คือการกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอยู่แล้ว เช่น ใช้พลังงานสะอาด ลดการเดินทางที่ใช้พลังงานสูง หรือเลือกซื้อสินค้าที่มีฉลากรับรองการปล่อยคาร์บอนต่ำ


ในอนาคตข้างหน้า ภาษีคาร์บอน จะกลายเป็น “ราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่าย” ให้แก่รัฐ ซึ่งอาจไม่ใช่เพียงตัวเงินที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการปรับตัวในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางที่ต้องคำนึงถึงการปล่อยคาร์บอน แม้กระทั่งการเลือกซื้อสินค้าจากแหล่งที่ยั่งยืน มีฉลากคาร์บอนรับรอง อย่างไรก็ดี ประเทศสวีเดน เป็นตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการใช้ภาษีคาร์บอนจัดการกับสภาพอากาศ นับตั้งแต่เริ่มบังคับใช้นโยบายนี้ในปี 1991 (พ.ศ. 2534) สวีเดนสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงร้อยละ 25 แม้จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในหลายภาคส่วนก็ตาม


ดังนั้น หากประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายบังคับใช้การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ผู้บริโภคก็จำเป็นต้องพร้อมรับมือ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้วิธีลดคาร์บอนฟุตพรินต์ในชีวิตประจำวัน หรือสนับสนุนสินค้าสีเขียวที่ผลิตโดยธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าภาษีคาร์บอนอาจทำให้เราต้องจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาว “ราคาที่เราจ่าย” จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของโลกในรุ่นลูกรุ่นหลานให้น่าอยู่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงย่อมมีผู้ได้รับผลกระทบ ทว่าก็เป็นก้าวสำคัญในการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะโลกร้อนไม่ใช่แค่อากาศที่ร้อนขึ้น หรือภัยพิบัติที่รุนแรงยากจะรับมือ แต่คืออนาคตของโลกที่จะไม่มีทางให้หันหลังกลับ!


เพราะเป้าหมายสำคัญที่ทุกประเทศต่างช่วยกันดำเนินการในเวลานี้ คือการจำกัดอุณภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายใต้ความตกลงปารีส ภาษีคาร์บอน จึงเป็นอีกกลไกหนึ่งที่ถูกนำมาบังคับใช้เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ว่าในมุมหนึ่ง ภาษีคาร์บอนจะถูกมองว่าเป็น “ภาระ” ของผู้บริโภค แต่ในภาพรวม มันคือ “แรงผลักดัน” ที่ทำให้สังคมหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง โดยที่ผู้บริโภคเองก็จะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย


บทความประชาสัมพันธ์จาก : บริษัท น้ำมันอพอลโล (ไทย) จำกัด www.apollothai.com


ติดต่อเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ LINE ID : @apollothailand