ก๊าซเอ็นจีวีคืออะไร
ก๊าซเอ็นจีวี (Natural Gas for Vehicle: NGV) มีภาษาเชิงวิชาการว่า ก๊าซซีเอ็นจี (Compressed Natural Gas: CNG) คือ ก๊าซธรรมชาติที่มี "มีเทน" เป็นส่วนประกอบหลักและถูกอัดจนมีความดันสูง ซึ่งในบางประเทศเรียกว่า "ก๊าซธรรมชาติอัด" (ซีเอ็นจี) ซึ่งถูกอัดที่แรงดัน 200 bar หรือ 3,000 psi และถูกกักเก็บไว้ในถังบรรจุก๊าซธรรมชาติอัดที่ถูกผลิตขึ้นมาเป็นพิเศษให้สามารถรองรับแรงดันได้ โดยมีสภาพเป็นก๊าซหรือไอที่อุณหภูมิและความดันบรรยากาศ โดยมีค่าความถ่วงจำเพาะต่ำกว่าอากาศ จึงเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหลจะฟุ้งกระจายไปตามบรรยากาศอย่างรวดเร็ว จึงไม่มีการสะสมลุกไหม้บนพื้นราบ
คุณสมบัติของก๊าซเอ็นจีวี
1. อุณหภูมิติดไฟของก๊าซเอ็นจีวีนั้นสูงกว่าเชื้อเพลิงอื่นๆ ติดไปยาก ทำให้ลดความเสี่ยงของการเกิดไฟไหม้เมื่อก๊าซรั่วหรืออุบัติเหตุ
2. ก๊าซเอ็นจีวี ถูกจัดเก็บอยู่ในรูปไอ ซึ่งมีแรงดันสูง จึงทำให้ไม่มีอากาศเข้าไปผสม จึงไม่ก่อให้เกิดการผสมกันระหว่างก๊าซ จึงลดโอกาสในการติดไฟและระเบิดได้
3. ก๊าซเอ็นจีวี ก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สะอาดหมดจด และไม่ก่อให้เกิดการสกปรกของน้ำมันเครื่อง จึงสามารถยืดอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่องได้
4. ก๊าซเอ็นจีวี ไม่ก่อให้เกิดสารตกค้างใด ทำให้การจุดระเบิดสะอาดหมดจด และยืดอายุการใช้งานได้
5. ก๊าซเอ็นจีวี ไม่ส่งผลเสียต่อลูกสูบและกระบอกสูบ ทำให้เกิดการหล่อลื่นที่มีประสิทธิภาพ จึงส่งผลให้อายุการใช้งานยาวนานขึ้น
6. ก๊าซเอ็นจีวี มีออกเทนสูงกว่าน้ำมันเบนซิน จึงส่งผลให้การสตาร์ทและการทำงานของเครื่องยนต์มีความสมบูรณ์มากขึ้น
7. ก๊าซเอ็นจีวี ก่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สะอาดหมดจด ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น จึงช่วยลดมวลไอเสีย และส่งผลต่อการลดมลพิษในอากาศโดยตรง
8. มีสัดส่วนของคาร์บอนน้อยกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่นและมีคุณสมบัติเป็นก๊าซ ทำให้การเผาไหม้สมบูรณ์มากกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น และปริมาณไอเสียที่ปล่อยออกจากเครื่องยนต์ใช้ก๊าซธรรมชาติ มีปริมาณต่ำกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น
9. เป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดไม่ก่อให้เกิดควันดำหรือสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน จึงสามารถลดปัญหามลพิษทางอากาศ ซึ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
10. เป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ในประเทศ จึงมีราคาถูกกว่าน้ำมัน และสามารถประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการลดการนำเข้าน้ำมันดิบ
11. เป็นเชื้อเพลิงรถยนต์ที่มีความปลอดภัยมากที่สุด เพราะมีคุณสมบัติเบากว่าอากาศ ดังนั้นเมื่อเกิดรั่วไหล ก๊าซเอ็นจีวีจะไม่สะสมอยู่บนพื้นดินจนเกิดการลุกไหม้เหมือนเชื้อเพลิงอื่นๆ และอุณหภูมิที่จะทำให้ก๊าซเอ็นจีวีสามารถลุกติดไฟในอากาศเองได้ก็ต้องสูงถึง 650 องศาเซลเซียส
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของข้อด้อยนั้นรถยนต์ที่จะใช้ก๊าซเอ็นจีวีได้ต้องเป็นรถที่มีเครื่องยนต์ ซึ่งสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้งานก๊าซเอ็นจีวีโดยเฉพาะ หรือไม่ก็ต้องเป็น "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงสองระบบ" หรือ "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงร่วม" ที่ผ่านการดัดแปลงและติดตั้งอุปกรณ์พิเศษที่ทำให้เครื่องยนต์ใช้ได้ทั้งน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล และก๊าซเอ็นจีวี
ปัจจุบันอุปกรณ์สำหรับการดัดแปลงเครื่องยนต์ดังกล่าวต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาค่อนข้างสูง ซึ่งอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีระบบ "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงร่วม" (ดีเซล-เอ็นจีวี) มีราคาสูงถึง 400,000-500,000 บาท และอุปกรณ์ใช้ก๊าซเอ็นจีวีระบบ "เครื่องยนต์ระบบเชื้อเพลิงสองระบบ" (เบนซิน-เอ็นจีวี) มีราคา 30,000-50,000 บาท นอกจากนี้ รถเอ็นจีวีจะมีกำลัง "ต่ำ" กว่ารถทั่วไปตามท้องตลาด แต่ถ้าวิ่งในเมืองปัญหาข้อนี้จะไม่มีผลกระทบมากนัก
รู้จักก๊าซธรรมชาติทั้งสองชนิดกันแล้ว ทีนี้เราจะมาเปรียบเทียบจุดเด่นจุดด้อยของก๊าซทั้งสองชนิดให้เห็นกันแบบชัดๆ เพื่อง่ายต่อการตัดสินใจครับ...
จุดเด่นของแอลพีจี
1. ค่าติดตั้งถูกกว่า ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ ถ้าเป็นระบบดูดก๊าซ(Mixer) มีค่าใช้จ่าย 15,000-28,000 บาท ส่วนระบบฉีดก๊าซ (Injection) มีค่าใช้จ่ายราวๆ 35,000-43,000 บาท
2. มีความจุก๊าซมากกว่า กล่าวคือ ถังก๊าซที่มีขนาดเท่ากัน แต่แอลพีจีสามารถบรรจุปริมาณก๊าซได้มากกว่า
3. มีสถานีบริการ จำนวนแพร่หลายมากกว่า
ข้อด้อยแอลพีจี
1. เป็นก๊าซที่ติดไฟง่ายกว่าเอ็นจีวี มีราคาสูงกว่า
2. ภาครัฐมีแผนที่จะปล่อยราคาก๊าซให้ลอยตัวเป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งจะส่งผลให้ก๊าซแอลพีจี มีราคาสูงขึ้นอีกในอนาคต
จุดเด่นของก๊าซเอ็นจีวี
1. ภาครัฐให้การสนับสนุน มีนโยบายในเรื่องของการกำหนดราคา ทำให้ราคาอยู่ในการควบคุม
2. มีรถยนต์ที่ใช้เอ็นจีวี ประกอบจากโรงงานโดยตรง
3. ปลอดภัยกว่า ทั้งในแง่คุณสมบัติของมันเองที่เบากว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหล ก็จะฟุ้งกระจายไปบนอากาศอย่างรวดเร็ว และอู่ที่รับติดตั้งเอ็นจีวี ผ่านการรับรองจาก ปตท.
ข้อด้อยก๊าซเอ็นจีวี
1. เรื่องสถานีบริการมีจำนวนน้อย โดยขณะนี้มีสถานีบริการเอ็นจีวีที่เปิดให้บริการแล้วจำนวน 176 แห่ง และกำลังจะเปิดอีก 59 แห่งในปีนี้
2. ค่าติดตั้งค่อนข้างสูง โดยระบบดูดก๊าซจะมีค่าใช้จ่าย 38,000-43,000 บาท ส่วนระบบฉีดก๊าซ เป็นระบบที่มีอีซียู ควบคุมกรจ่ายก๊าซตามลำดับการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ จะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 58,000-63,000 บาท
ได้รับข้อมูลเบื้องต้นกันไปแล้ว ต่อไปก็เป็นหน้าที่ของคุณๆ ที่จะต้องตัดสินใจกันเองแล้วหละครับว่า จะเลือกพลังงานทางเลือกชนิดใด