|
จอดรถในห้างแบบไหนดี : หัวเข้า ท้ายเข้า จอดลอย ?
การจอดรถดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายกว่า ขับรถให้เคลื่อนที่ไปอย่างปลอดภัย ไม่น่าจะมีเทคนิคที่ยุ่งยาก แค่จอดให้สนิท ไม่ให้รถไหล หรือถ้าต้องให้คนอื่นเข็นหลบได้ ก็ใส่เกียร์ว่างและไม่ดึงเบรกมือเท่านั้นจริงๆ แล้วมีหลายเทคนิคเล็กๆ ที่ต้องเรียนรู้ กับการจอดรถในที่สาธารณะ
เมืองไทย...พื้นราบ
เกือบทุกจังหวัดของไทยมีพื้นที่ริมถนนหรือสถานที่สาธารณะส่วนใหญ่เป็นพื้นราบ การจอดรถมักไม่มีพื้นเอียงให้ต้องระวังรถไหล การจอดรถของคนไทยส่วนใหญ่จึงคุ้นเคยกับเกียร์ว่างและไม่ต้องดึงเบรกมือ เพื่อให้ผู้อื่นเข็นไป-มาได้หากจำเป็น เพราะถ้าเผลอไปจอดรถขวางใครแล้วเข็นไม่ได้ ถ้าเขาขับรถออกไปได้ ก็มีโอกาสที่รถคันจอดขวางจะถูกขูดสีเสียหาย หรือถ้าต้องรอให้เจ้าของมาเลื่อนรถให้ ก็อาจมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันอีก
เรื่องพื้นฐานที่ต้องปฏิบัติ คือ ถ้าไม่ได้จอดในซอง แม้แต่จอดเป็นแถวยาวริมถนน หากรถไม่ไหล ก็ต้องจอดให้รถเข็นไป-มาได้ อีกเรื่องง่ายๆที่บางคนลืมแต่ควรปฏิบัติ คือ ต้องจอดตรงแนวที่เหมาะสมแล้วตั้งล้อให้ตรง ควรเล็งดูทิศทางของรถว่า หากถูกเข็นเดินหน้า-ถอยหลัง แล้วรถจะเลื่อนไปในทิศทางที่ดีหรือไม่ บางคนสนใจแค่ใส่เกียร์ว่างไม่ดึงเบรกมือ ขอให้เข็นได้ แต่ลืมเล็งทิศทางการจอดว่าเอียงหรือไม่
จอดในห้าง จอดในซอง หัวหรือท้ายเข้าดี ?
เป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีใครสนใจหรือรณรงค์กันในไทย ว่าการจอดรถในห้างสรรพสินค้ารวมถึงอาคารจอดรถ ที่มีซองหรือช่องจอดเรียงเป็นหน้ากระดาน ควรจะจอดรถเอาหัวหรือท้ายรถเข้าด้านใน? ปล่อยกันอิสระตามใจผู้ขับ ไม่ค่อยมีคำแนะนำของเจ้าของสถานที่ ประกาศไว้บนพื้นหรือกำแพง
ดูเหมือนเป็นวัฒนธรรมของคนไทยส่วนใหญ่ไปแล้ว ที่ชอบจอดรถแบบท้ายเข้า หันหัวรถออกมาจากซองหรือช่องจอด ไม่ว่าจะลำบากในการถอยเพียงไร หรือมีรถตามมาหรือไม่ ผู้ขับก็ต้องพยายามถอยจอดเข้าซองให้ได้ แม้แต่ในกรณีที่การขับรถหันหัวเข้าจะสะดวกกว่าก็ตาม
เหตุผลสำคัญน่าจะมาจากการทำตามกันมานานนับสิบๆ ปี และความต้องการความสะดวก เมื่อจะขับรถออกจากซอง ทั้งที่ในความเป็นจริง...ไม่ว่าจะจอดแบบเอาหัวหรือท้ายเข้า ก็ต้องมีการขับลำบาก 1 ครั้ง สบาย 1 ครั้ง คือ ถ้าเอาหัวเข้า ขาเข้าสบาย แต่ขาออกลำบาก และถ้าเอาท้ายเข้า ขาเข้าลำบาก แต่ขาออกสบาย
เลือกจอดแบบใดดี ?
การจอดทั้ง 2 แบบ หัวเข้าหรือท้ายเข้า ล้วนมีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน ไม่ใช่ดีไปทั้งหมดหรือเสียไปทั้งหมด การจอดรถแบบท้ายเข้า มีข้อเสียที่หลายคนมองข้าม จนชอบจอดแบบเอาท้ายเข้า คือ
ขณะถอยจอด จะต้องกีดขวางการจราจรชั่วคราว ทั้งกรณีที่มีรถตามมาทั้งคันเดียวหรือหลายคัน ต้องมีการบอกล่วงหน้าให้ผู้ที่ขับรถคันตามมาทราบ เช่น เปิดกระจกโบกมือ หรือเปิดไฟฉุกเฉิน ซึ่งไม่แน่ว่าเขาจะชะลอทิ้งระยะห่างได้ทันหรืออาจไม่เข้าใจในสัญญาณนั้น ถ้ามีช่วงห่างกับรถคันตาม ก็ถอยได้อย่างสะดวก แต่ที่แน่ๆ คือ ต้องเสียเวลาหลายสิบวินาทีที่รถคันตามจะต้องจอดรอ ถ้าทำกันหลายคันหลายครั้ง ก็ย่อมทำให้การจราจรชะลอตัวลงมาก ดังที่เห็นว่า หากมีรถขับตามกันมา แล้วต้องหยุดเป็นระยะๆ เพื่อให้รถคันหน้าถอยจอด การจราจรก็จะเคลื่อนตัวไปได้ช้ากว่า ที่คันนำขับรถตีวงเลี้ยวหัวรถเข้าด้านในซอง การจอดแบบหัวรถเข้า จะไม่มีผลต่อการจราจรขณะจอด แม้จะยากหากเป็นช่องแคบ แต่ถ้าตีวงเลี้ยวให้ชิดโค้งนอก ก็สามารถเลี้ยวเข้าได้สะดวก ไม่ต้องยุ่งยากบอกให้รถคันตามทิ้งห่างหรือเสียเวลาจอดรถรอ แค่เปิดไฟเลี้ยวแล้วขับเดินหน้าตีวงเข้าซอง ก็จะไม่กระทบต่อการจราจรด้านหลัง ส่วนการถอยออกเมื่อเสร็จธุระแล้ว ก็ไม่มีผลต่อการจราจร เพราะยังไงรถก็จอดอยู่ในซอง ไม่เกี่ยวกับใคร รอให้รถด้านหลังว่างก็ค่อยๆ ถอยออก หากยังไม่ว่างก็จอดรถในซองสักครู่ ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่นานก็ว่างพอจะถอยออกได้อย่างสะดวก
หากจอดในห้างสรรพสินค้า และต้องมีย้ายของหลังซื้อจากในรถเข็นมาใส่ท้ายรถ การจอดแบบท้ายรถเข้าในซอง จะยุ่งยากในการย้ายของเข้าสู่ห้องเก็บของท้ายรถ ถ้าจอดแบบหัวรถเข้าซอง หันท้ายรถออกมา ก็แน่นอนว่าการย้ายของจากรถเข็นมาใส่ท้ายรถ จะเป็นไปอย่างสะดวก
บทความนี้ ไม่มีสิทธิ์บังคับใครให้เปลี่ยนแปลงความนิยมจากการจอดรถแบบท้ายเข้าซอง แค่สะกิดเตือนว่า ความคุ้นเคยกับการจอดรถแบบท้ายเข้าซอง อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดเสมอไป ให้ฉุกคิดบ้างว่า บางกรณีการจอดแบบหัวรถเข้าซองอาจดีกว่าก็เป็นได้
ในหลายประเทศ เจ้าของสถานที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหาการจราจรชะลอตัว หากมีการถอยรถเพื่อจอดเข้าซอง จึงมีการระบุไว้เลยว่า ต้องจอดรถเอาหัวเข้า แต่ในไทยแทบไม่เคยเห็นคำแนะนำเช่นนั้นเลย
จอดรถลอย ขวางหน้าซองหรือช่องจอด
เนื่องจากสถานที่จอดไม่เพียงพอ และเจ้าของสถานที่อนุญาตให้จอดรถลอยหน้าซองหรือช่องจอดได้ จึงเป็นเรื่องปกติที่จะมีการจอดรถขวาง วิธีปฎิบัติง่ายๆ ที่ทุกคนน่าจะทราบ คือ จอดรถใส่เกียร์ว่างและไม่ดึงเบรกมือ เพื่อให้เข็นไป-มาได้ และจอดให้ตรงแนวสามารถเข็นไป-มาแล้วรถไม่เลื่อนเอียงไปกีดขวางใคร แต่ก็ยังพบว่ามีบางคนหลงลืมเข้าเกียร์หรือดึงเบรกมือค้างไว้เข็นไม่ได้ จนหลายห้างฯ ต้องเตรียมแม่แรงตะเข้ตัวใหญ่ คอยยกรถหลบเพื่อแก้ไขปัญหา หรือพบบ่อยๆ ว่ารถจอดเอียง เข็นได้ก็จริง แต่เข็นได้ไม่ไกลแล้วไปเกะกะ
ดังนั้นจึงอยากเน้นว่า การจอดรถลอยขวางอยู่ ต้องให้รถสามารถเข็นได้ตรงแนวที่เหมาะสมเสมอ เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดกับผู้อื่น หรือรถของเราที่อาจโดนขูดสีจนเสียโฉม ในกรณีของรถเกียร์อัตโนมัติบางรุ่น ที่ไม่สามารถถอดกุญแจรถออกได้ ถ้าไม่เข้าเกียร์ P-PARK ซึ่งเกียร์นั้นจะล็อกตัวไม่ให้รถสามารถเข็นได้เลย หากเข็นได้ก็คือ สลักล็อกภายในเกียร์เสียหายไปแล้ว ไม่เหมือนเบรกมือ ที่ถ้าดึงไว้ไม่แน่นจริงๆ ก็ยังพอเข็นได้ หากเข็นหรือถูกกระแทกแรงๆ ถ้าต้องการจอดขวางใครแล้วต้องเข็นได้ ก็ต้องไม่จอดอย่างนั้น ซึ่งจะทำให้การเลือกสถานที่จอดยุ่งยากกว่ารถทั่วไป
ส่วนใหญ่รถที่มีระบบนี้ สามารถให้ช่างที่มีความเข้าใจปลดออกได้ ด้วยเวลาเพียงไม่ถึงครึ่งชั่วโมงกับค่าใช้จ่ายไม่กี่ร้อยบาท โดยไม่กระทบกับการทำงานของระบบเกียร์เลย ทุกอย่างยังทำงานเหมือนปกติ แต่สามารถดับเครื่องยนต์ดึงกุญแจออกได้ในทุกเกียร์ ผู้ขับแค่ระวังให้จอดในเกียร์ว่างแล้วค่อยดับเครื่องยนต์ หากหลงลืมคาเกียร์ไว้ที่เกียร์ขับเคลื่อน ก็ไม่ต้องกังวล เพราะการเข็นไม่ทำให้เกียร์เสียหาย และการสตาร์ทเครื่องยนต์ ยังไงระบบควบคุมก็จะไม่ปล่อยให้เครื่องยนต์หมุน จะต้องเลื่อนให้อยู่ในเกียร์ว่าง N หรือ P ในขณะสตาร์ทเสมอ รถเกียร์อัตโนมัติบางรุ่นที่ต้องเข้าเกียร์ P ถึงจะดึงกุญแจออกได้ หากไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อปลดระบบนี้ออกไป ก็อาจมีวิธีเลี่ยง (ดูตามคู่มือฯ) เช่น เข้าเกียร์ P แต่ยังไม่คลายปุ่มบนหัวเกียร์ ดับเครื่องยนต์แล้วดึงกุญแจออก เลื่อนคันเกียร์มาที่ N แล้วค่อยคลายปุ่มบนหัวเกียร์ก็เรียบร้อย สามารถจอดให้เข็นได้แล้ว
การจอดรถลอยหน้าซองหรือช่องจอด มีข้อเสียสำหรับคนรักรถมากๆ เพราะหนีไม่พ้นการถูกเข็น ซึ่งผู้เข็นอาจมีแหวนหรือนาฬิกาขูดสีรถขณะเข็นโดยไม่ตั้งใจ นอกจากนั้นหากรถติดตั้งสปอยเลอร์หลัง ก็อาจจะถูกเข็นโดยดันที่สปอยเลอร์หลังจนหลวมหรือหลุดด้วย ดังนั้นต้องทำใจไว้ล่วงหน้า หรือเลี่ยงไม่จอดขวาง การจอดรถในสถานที่สาธารณะ เกี่ยวข้องกับผู้อื่นเสมอ จึงไม่ควรมองข้ามเทคนิคเล็กๆ เหล่านี้
ผู้แต่ง / แหล่งที่มา :
www.manager.co.th
ผู้บันทึก :
www.rodweekly.com
date : [ 11 มิ.ย. 2556 ]
|
|
|