ในปัจจุบันนวัตกรรมโลกยานยนต์นั้น ต้องถือว่ามีความก้าวล้ำหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับในยุคก่อนๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีต่างๆมากมายที่ทางผู้ผลิตต่างนำมาใส่ไว้ในรถที่ออกมาจากโรงงานของตน ทว่าเทคโนโลยีบางอย่างที่ถูกติดตั้งเสร็จสรรพมาจากโรงงานนั้น บางครั้งก็สร้างนิสัยที่ไม่ควรปฏิบัติให้แก่บรรดาผู้ใช้รถด้วย
แม้เป็นการยากที่จะปฏิเสธว่าเทคโนโลยีใหม่ มันหมายถึงประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้นเช่นเดียวกับการตอบสนองต่อโจทยืของบรรดาผู้บริโภคที่ยังคงเรียกร้องหากความต้องใหม่ๆ ในประเด็นเดิมๆอยู่เสมอ อย่างเช่นความสะดวกสบาย ความปลอดภัย หรือไม่เว้นกระทั่งเรื่องเก่าในตอนใหม่อย่างการประหยัดพลังงาน ที่ทุกวันนี้บรรดาค่ายรถยนต์ทั้งหลายต่างมึ่งหน้าให้ความสำคัญมากยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ
ถึงเทคโนโลยีใหม่ๆนานาชนิด จะถูกบรรดาวิศวกรและนักวิทยาศาสตร์ต่อยอดจนทุกวันนี้ เราแทบจะนึกไม่ออกแล้วว่า รถยนต์ในวันข้างหน้าจะเป็นเช่นใด แต่อย่างหนึ่งที่แน่ๆ ก่อนที่ยนตรกรรมจะก้าวหน้าจนล้ำยุคมากไปกว่านี้ เราคงต้องมองถึงข้อดี-ข้อเสียของเทคโนโลยีที่วันนี้ สิ่งหนึ่งที่เริ่มจะเป็นมาตรฐานของบรรดารถนั่งชั้นหรูจากหลายๆค่าย กำลังทำให้ผู้ใช้รถยนต์หลายๆคนเริ่มเสียนิสัยจนอาจจะเป้นอันตรายทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมทาง
สิ่งที่เรากำลังพูดถึงนั้นมันไม่ใช่อะไรไกลตัวมากนัก หากแต่มันคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคนขับตลอดเวลาอย่าง "หน้าปัด" หรือ "เรือนไมล์" นั่นเอง ซึ่งปัจจุบันนี้แม้หน้าปัดจะยังคงทำหน้าที่เหมือนเคย ในฐานะตัวบ่งบอกสภาพการทำงานของเครื่องยนต์หรือรถยนต์ที่กำลังเป็นอยู่ขณะนั้น เพื่อแจ้งให้คนขับทราบถึงสภาพการทำงาน ทว่าในวันนี้หน้าปัดที่ดูเหมือนเคยกลับถูกบรรดาค่ายรถยนต์ทำให้มันดูทันสมัยยิ่งขึ้นด้วยการทำเรือนไมล์ที่ดูอมทุกข์ น่าเบื่อกลับมีสีสันแลดูง่ายยิ่งขึ้น โดยเราอาจจะรู้จักพวกมันในนามว่า "ไมล์ออพติตรอน" หรือถ้าจะเรียกให้ถูกควรจะเรียกว่า "ไมล์เรืองแสง" มากกว่า
ไมล์เรืองแสงนั้นเป็นเรือนใหม่แห่งยานยนต์ยุคใหม่ที่ต่างถูกใจบรรดาผู้ใช้รถอย่าง ด้วยหน้าตาของมันที่ดูมีสีสันมากขึ้น และแสงสีที่ถูกแต่งเข้ามาในตัวเรือนไมล์ก็ยังส่งผลดีในการช่วยให้ผู้ใช้รถสามารถสังเกตค่าในการใช้งานต่างๆได้ง่ายยิ่งขึ้น ทำให้เรือนไมล์เรืองแสงนี้ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคอย่างล้นหลามดังจะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ในรถนั่งส่วนใหญ่ที่ออกมาทำตลาดในรุ่นใหม่ๆก็มักจะมีไมล์ชนิดนี้ติดมาด้วย
อย่างไรก็ดีถึงไมล์เรืองแสงจะมีข้อดีมากกว่าเพียงแค่รูปลักษณ์ที่สวยงาม ทว่าในทางกลับกันนั้นไมล์เรืองแสงกลับส่งผลร้ายต่อสังคมผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นประจำ และปัญหาที่เรากำลังพูดถึงนั้นมักจะพบได้ในยามค่ำในถนนที่มักมีแสงสว่างเพียงพอ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่สืบเนื่องจากการทำงานของไมล์ออพติตรอนที่จะทำงานทันทีตั้งแต่ที่ไฟในรถถูกจ่ายเข้ามาที่หน้าปัดจวบจนสตาร์ทเครื่อง และจะปิดการทำงานเมื่อดับเครื่องยนต์ ซึ่งผลที่ตามมาคือมีคนจำนวนไม่น้อยขับรถออกจากที่หมายในยามค่ำคืน โดยที่พวกเขาไม่ได้เปิดไฟส่องสว่างทั้งไฟหน้าและไฟท้าย และนั่นหมายความว่าพวกเขากำลังเสี่ยงอันตรายโดยไม่รู้ตัวและพร้อมกันยังอาจทำให้เพื่อนร่วมทางตกอยู่ในอันตรายไปด้วย
ทั้งนี้ปัญหาเรื่องไมล์เรืองแสงนี้สามารถแก้ไขได้ง่าย โดยเริ่มที่ตัวคุณเองหากใครใช้รถที่มีไมล์เรืองแสงอยู่ ถ้ารถของท่านมีฟังชั่นเปิดไฟหน้าไฟท้ายอัตโนมัติได้ก็ควรจะบิดสวิทช์ไฟไว้ที่ตำแหน่งดังกล่าว แต่ไม่พบปุ่มสวิทช์อัตโนมัติ ก็แค่เพียงสร้างนิสัยเมื่อจะออกเดินทางในยามค่ำคืนก็ขอให้ลองตรวจสอบความสว่างทางด้านหน้า หรือสังเกตง่ายๆว่า เมื่อท่านเปิดไฟหน้าแล้วเรือนไมล์จะลดความเข้มของแสงลงเล็กน้อย เพียงเท่านี้ก็เดินทางยามค่ำคืนได้ปลอดภัยกันแล้ว
แม้เรื่องไมล์เรืองแสงนี้ จะเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อยที่เราอาจจะพูดว่าปัญหามันเกิดจากผู้ใช้ที่อ้างอิงเทคโนโลยีมากเกินไป ทว่าเราเองก็ควรต้องสร้างนิสัยที่ดีในการขับรถ โดยเฉพาะยามค่ำคืนที่ทัศนวิสัยไม่สามารถมองได้ชัดเจนนักยิ่งต้องนึกถึงความปลอดภัยให้มาก แม้เราขับรถจะไม่มีคอนเซปต์ "เปิดไฟ..ใส่หมวก" แต่เราควรต้องเห็นใจเพื่อนร่วมทางคนอื่นบ้าง..เสียเวลาอีกนิดแต่ชีวิตจะปลอดภัยมากขึ้นครับ