นอกจากเสียงรกๆ หูดังที่เคยพูดถึงแล้ว ยังมีเสียงรบกวนจากระบบมาให้คุณได้ปวดหัวอีก ถ้าไม่รู้วิธีกำจัดเราก็จะต้องทนกับชุดที่เสียงอัปลักษณ์ไปอีกนานแสนนาน
เสียงรบกวนที่มีในระบบเครื่องเสียงรถยนต์นั้น มีมากกว่าที่คิด อยากจะยกตัวอย่างประสบการณ์มาเล่าสู่กันฟัง เช่น เวลาเจอเสียงฮัมในระบบเครื่องเสียงรถยนต์ ต้องมาไล่เรียงว่าเกิดอะไรขึ้น เสียงฮัมที่ว่านั้นเกิดขึ้นหลังจากติดตั้งชุดเครื่องเสียงมาแล้วร่วมปี การติดตั้งร้านก็ทำมาดี ประณีตและไม่มีอะไรที่ถือว่าเป็นจุดอ่อนจนกระทั่งหลังสุดรถไปตกหลุมรุนแรง ก็เลยต้องมีการซ่อมแซมปรับเปลี่ยนช่วงล่างกันใหม่ สิ่งที่ได้หลังจากซ่อมรถ คือเสียงรบกวนในระบบเสียงตามมาด้วย มันน่ารำคาญมากทีเดียว ซึ่งเสียงฮัมนั้นมาเป็นจังหวะบ้าง มาไม่เป็นจังหวะบ้าง บางครั้งทำท่าเหมือนหายไป แล้วจู่ๆ ก็มาทักทายอีก
การรื้อภาคหน้า หรือเฮดยูนิตออกมาดู น่าจะเป็นลำดับสุดท้ายที่เราควรทำ เพราะมันเต็มไปด้วยเส้นสายไฟ สายสัญญาณ ที่ยุ่งเหยิง เสียเวลามาก มาลองดูกันในจุดง่ายๆ ก่อน นั่นก็คือการต่อเชื่อมสัญญาณจากฟร้อนท์เอ็นด์มายังเพาเวอร์แอมป์ โชคดีมากที่เราพบว่า สายเชื่อมต่อที่เป็นอาร์ซีเอ สองเส้นซ้ายขวา เส้นข้างขวานั้น มีอาการขาดใน คือช่างเขาเชื่อมหรือบัดกรีเอาไว้ระหว่างสาย กับหัวแจ็ค แต่เมื่อนานไปเข้า เกิดการผุกร่อน และเจอแรงกระแทกแรงๆ มันก็หลุดขาด แต่ยังมีส่วนที่ต่ออยู่กับแกนนั้น ตัวนำสายชนหัวแจ็คอยู่แบบปริ่มๆ อาการเสียงฮัมบ้าง ดังบ้างแบบไม่ปะติดปะต่อจึงบังเกิดขึ้น เอาออกมาบัดกรีเชื่อมเข้าไปใหม่ อาการหายเป็นปลิดทิ้ง หากเป็นปัญหาที่อื่นแล้วล่ะก็ เห็นทีจะยุ่งยากกว่านี้อีกหลายเท่าล่ะครับ
เพราะบางคนโชคไม่ดี สายที่ต่อภายในเครื่องหลุด หลวม หรือเป็นที่แผ่นปริ๊นท์ที่บกพร่อง ทำให้เกิดเสียงฮัมขึ้นมาอย่างรุนแรง แล้วก็หาสาเหตุได้ยากต้องตรวจสอบกันอย่างจริงจังด้วยเครื่องมือเท่านั้น
เสียงกระตุกเป็นจังหวะจากไฟรั่ว ตรงนี้น่ากลัวกว่า การต่อระบบเครื่องเสียงรถยนต์ที่ไม่รอบคอบ ประกอบกับรถเก่าที่ระบบไฟเริ่มรวนแล้ว การพ่วงต่อจุดกำเนิดไฟไม่ถูกต้อง การเสริมอุปกรณ์ที่ไม่แมทช์ หรือระบบวงจรเครื่องบางอย่างที่มีปัญหาถูกเสริมลงไปในซิสเต็ม ทำให้ระบบไฟทะลักเข้าไปในเครื่อง ดังพลั่กๆ ดังนั้นช่างติดตั้งต้องแก้ปัญหาได้ มิฉะนั้นเราลำบากแน่เพราะไม่สามารถทำเองได้
ผมเคยเจอกับการต่อปรีแอมป์เสริมเข้าไปในระบบเดิมๆ เจ้าของชุดกะว่าจะแต่งเสียงให้มันเลิศขึ้นไปอีกสักหน่อย กลับต้องผิดหวังเพราะวงจรของเครื่องปรีแอมป์ทำพิษเสียเอง คือไม่สามารถคุมไฟ ปรับระดับไฟให้เรียบได้ อันเนื่องมาแต่ความเสื่อมของตัวอุปกรณ์ หรือวงจรที่ไม่สมบูรณ์ เสียงพลึ่กพลั่กดังออกลำโพงอย่างน่ากลัว มันรบกวนตลอด ไม่ว่าจะเปิดเสียงดัง หรือเบาสักแค่ไหน แสดงว่าย่อมไม่เกี่ยวกับโวลุ่มอยู่ดี เมื่อปลดเอาปรีแอมป์ออกไป เสียงก็เรียบสนิทเหมือนเดิม
ดังนั้น อะไรก็ตามที่เสริมเข้าไปจากชุดที่มีอยู่ต้องระมัดระวัง เลือกสินค้าที่ดีจริงๆ ไม่ใช่ของโนเนม การออกแบบต้องมีความสัมพันธ์กันทั้งอินพุต เอาท์พุต เสียงแตกๆ จากลำโพงข้างขวา เสียงลำโพงขวามันดังแกร็กๆ ตามจังหวะกระแทกกระทั้นของเสียงดนตรี ทีนี้ก็ต้องมาวิเคราะห์กันให้วุ่น ลำโพงตัวข้างขวา วอยซ์เบียด นี่คือจำเลยแรกที่เรามักจะคาดคิดกัน แต่พอทดลองย้ายลำโพงซ้ายมาไว้ด้านขวาก็เกิดอาการยังอยู่ที่ข้างขวาอีก เอาล่ะทีนี้เราก็ต้องโทษวิทยุติดรถยนต์ หรือฟร้อนเอ็นด์ มันเป็นอะไรขึ้นมาของมัน???
แต่ความคิดที่ช่างผู้ชำนาญคิดไปอีกทางตามประสบการณ์ เขาสงสัยแผงหลังที่ทำขึ้นมาสำหรับยึดลำโพง จึงทำการถอดแผงออกมาใหม่ปรับลดขนาดไม่ให้มันชิดตัวถังรถจนเกินไป น่าประทับใจครับ หลังจากวางแผงไม้ลงไปใหม่ ก็จัดการขันสกรูทีละน้อยให้บาลานซ์กันทุกจุด คือจะไม่ขันสกรูให้ฟิตแน่นที่จุดใดจุดหนึ่ง แล้วไล่เรียงกันไปยังจุดอื่นๆ ให้แผ่นไม้ได้รับการยึดติดไปพร้อมๆ กันทุกมุม เสียงรบกวนหายไปได้อย่างหมดจด เทคนิคตรงนี้ดูธรรมดา แต่มักจะถูกละเลยจากช่างติดตั้ง “กามนิตหนุ่มรุ่นใหม่ๆ” ที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา